ในฉบับนี้ ขอพาท่านผู้อ่านไปเยี่ยมชมกิจการสวนส้มโอเงินล้าน ของ คุณปรีชา-คุณพจมาน เศรษฐโภคิน สองสามีภรรยาเจ้าของกิจการ ส้มโอสวนสระแก้ว ตั้งอยู่เลขที่ 3 หมู่ที่ 4 ถนนสุวรรณศร ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมกิจการได้ทุกวัน การเดินทางไปสวนแห่งนี้ไม่ยาก เพราะแค่ใช้เส้นทางถนนสาย 33 หลัก กม. ที่ 223 เกือบจะ 224 ค่ะ สวนแห่งนี้ตั้งอยู่ด้านหลัง อบต. บ้านแก้ง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว หากไม่มั่นใจในเส้นทาง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทร. (089) 984-2621 หรือค้นหาข้อมูลจากเฟซบุ๊ก “ส้มโอสวนสระแก้ว”
จากมนุษย์เงินเดือน สู่อาชีพเกษตรกรรม
คุณปรีชา เศรษฐโภคิน เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า ผมเรียนสายสัตวบาล ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน หลังเรียนจบก็ทำงาน ซีพี เมื่อปี 2515 นับเป็นพนักงานสัตวบาลรุ่นแรกที่บุกเบิกธุรกิจฟาร์มหมูของ ซีพี ต่อมาจีนเปิดประเทศ ถูกย้ายไปคุมโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่จีนนาน 18 ปี การงานก้าวหน้าจนได้ตำแหน่ง รองประธานเขตประเทศจีน ก่อนตัดสินใจลาออกก่อนเกษียณอายุ เพื่อทำอาชีพเกษตรกรรมตามความฝันของตัวเอง ที่จังหวัดสระแก้ว

เมื่อ 12 ปีก่อน คุณปรีชา เริ่มต้นอาชีพเกษตรกรรมโดยการลงทุนทำฟาร์มหมู จำนวน 6,000 ตัว เนื้อที่ 30 ไร่ ควบคุมการเลี้ยงด้วยระบบอัตโนมัติ ควบคุมอากาศ ระบบน้ำ และการให้อาหาร ใช้คนดูแลฟาร์มหมูแค่ 5 คน ต่อมาได้ซื้อที่ดินรอบฟาร์มเพิ่มเป็น 300 ไร่ เพราะเป็นเขตกันชนป้องกันกลิ่นระหว่างฟาร์มหมูกับบ้านเรือนประชาชน และแบ่งพื้นที่ 200 ไร่ ทำสวนส้มโอ ใช้ขี้หมูที่เลี้ยงในฟาร์มมาใช้เป็นปุ๋ยคอกบำรุงต้นส้มโออีกทางหนึ่ง
เมื่อคุณปรีชาอาศัยการเรียนรู้เรื่องการปลูกดูแลส้มโอจากสวนส้มโอส่งออกของกลุ่มพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุ่งแสลงพัน จังหวัดลพบุรี และเกษตรกรที่เชี่ยวชาญเรื่องการปลูกส้มโอในจังหวัดต่างๆ
การปลูกดูแลสวนส้มโอ
คุณปรีชา เล่าว่า ผมลงทุนทำสวนส้มโอโดยใช้หลักการเดียวกับการทำฟาร์มหมู เริ่มจากคัดเลือกส้มโอพันธุ์ดีมาปลูก ผมเลือกส้มโอพันธุ์ทองดี เพราะมีคุณภาพดี ขนาดลูกพอเหมาะ 1 ตู้ สามารถส่งออกได้ถึง 20 ตัน ส้มโอทองดี มีลำต้นแข็งแรงทนทานต่อโรคและแมลงได้ดี จำนวนลูกต่อต้นมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ แถมมีรสชาติอร่อย สามารถส่งขายได้ทั่วโลก

คุณปรีชา ได้เลือกซื้อกิ่งพันธุ์ส้มโอทองดีไร้เมล็ดของเครือ ซีพี จึงซื้อกิ่งพันธุ์ส้มโอของ ซีพี มาปลูกที่สวนสระแก้ว โดยมีเจ้าหน้าที่ ซีพี มาช่วยดูแลจัดระบบการปลูก โดยปลูกในลักษณะแปลงยกร่อง เพราะต้นส้มโอไม่ชอบน้ำขัง ต้นส้มโอชอบดินที่ค่าความเป็นกรดอ่อนๆ ประมาณ 5.5-6.5 เนื่องจากสภาพดินของสวนแห่งนี้ มีสภาพเป็นกรดสูงทำให้ต้นส้มโอที่ปลูกในระยะแรกเจอโรคและแมลงเยอะมาก จึงใช้ปุ๋ยขี้หมูที่มีสภาพเป็นด่าง ประมาณ 8 มาปรับสภาพดินทำให้ต้นส้มโอเติบโตสมบูรณ์ ทนทานต่อโรคแมลงมากขึ้น

คุณปรีชา จะยึดหลักจัดการสวนส้มโอ โดย “ขึ้นน้ำวันพ่อ และเก็บเกี่ยววันแม่” เริ่มจากขึ้นน้ำต้นส้มโอในวันพ่อ คือ 5 ธันวาคม ช่วงเดือนมกราคม ต้นส้มโอก็จะผลิดอก ต้องใช้เวลาอีก 7 เดือนครึ่ง ก็จะเก็บผลผลิตออกขายได้ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ต้นส้มโอจะเริ่มเก็บผลผลิตรุ่นแรก 30 ลูก ต่อต้น ก้าวสู่ปีที่ 5 ได้ผลผลิตเพิ่มเป็นปีละ 50 ลูก ต่อต้น ปีที่6 ได้ปีละ 80 ลูก ต่อต้น ปีที่ 7 เก็บได้ปีละ 100 ลูก ต่อต้น ก้าวเข้าสู่ปีที่ 8-10 เก็บผลผลิตได้ปีละ 120-150 ลูก ต่อต้น ปีที่ 12 เก็บได้ปีละ 200 ลูก ต่อต้น
คุณปรีชา คาดหวังว่า ส้มโอสวนสระแก้วจะสามารถเก็บผลผลิต 200 ลูก ต่อต้น ต่อปี ไปอย่างต่อเนื่องไปอีก 20 ปี เพราะเคยไปเยี่ยมชมสวนส้มโอของเกษตรกรรายหนึ่งที่จังหวัดปราจีนบุรียังให้ผลผลิตที่ดี เฉลี่ยปีละ 500 ลูก ต่อต้น แม้จะเป็นต้นส้มโอเก่า อายุ 25 ปี แต่มีสภาพต้นสมบูรณ์ ปลูกในระยะห่าง 12×12 เมตร และมีระบบบริหารจัดการที่ดี ทั้งปุ๋ยและให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ครั้งละ 1-2 ชั่วโมง ต่อวัน ให้น้ำเฉลี่ย ชั่วโมงละ 100 ลิตร
การปลูกส้มโอให้มีคุณภาพดีและมีรสชาติอร่อย หัวใจสำคัญไม่ได้แค่ให้ปุ๋ย ให้น้ำแก่ต้นส้มโอ แต่ต้องรู้จักธรรมชาติของต้นส้มโอด้วย โดยทั่วไป ต้นส้มโอไม่เหมาะกับการปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ เพราะต้นส้มโอไม่ชอบสภาพอากาศที่ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส หากฝืนปลูก จะได้ผลส้มโอที่มีเปลือกเหลืองและมีรสชาติเปรี้ยว

คุณปรีชา ยกตัวอย่าง เช่น ส้มโอเวียงแก่น ก็เจอปัญหาในลักษณะนี้ กลุ่มตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอเวียงแก่นเคยเดินทางมาเยี่ยมชมสวนส้มโอคุณปรีชาหลายครั้งแล้ว เพื่อพูดคุยแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งคุณปรีชาเสนอทางเลือกในหลายแนวทาง เช่น เปลี่ยนสายพันธุ์ส้มโอ หรือดูแลจัดการไม่ให้ต้นส้มโอผลิดอกในช่วงฤดูหนาว โดยใช้วิธีการยกคันดินขึ้นมา เพื่อควบคุมการให้น้ำ
ในปีนี้ สวนส้มโอทั่วไปจะได้ผลผลิตลดลง เพราะผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งเนื่องจากต้นส้มโอไม่ชอบสภาพอากาศร้อน ทำให้ต้นส้มโอติดดอกออกผลน้อยลง คุณปรีชาก็พยายามลดความเสียหาย โดยเสี่ยงไม่ให้ต้นส้มโอผลิดอกในช่วงหน้าแล้ง โดยอาศัยหลักการควบคุมน้ำ และใส่ปุ๋ยเคมีสูตรที่มีตัวหน้าสูงแทน
ส้มโอทองดี เป็นไม้ผลที่ให้ผลตอบแทนสูง
การลงทุนทำสวนส้มโอ เนื้อที่ 200 ไร่ แห่งนี้ ใช้เงินลงทุนสูงถึง 60 ล้านบาท เป็นค่าที่ดิน ค่าขุดบ่อน้ำ ค่ากิ่งพันธุ์ ค่าวางระบบน้ำ ฯลฯ กิจการนี้สามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 10 ปี ปัจจุบัน ส้มโอสวนสระแก้วใช้เงินลงทุนหมุนเวียนในการบริหารจัดการสวน (เงินเดือนคนงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าปุ๋ย) อีกปีละ 6 ล้านบาท ขายผลผลิตได้ปีละ 20 ล้านบาท เมื่อหักต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด เหลือผลกำไรปีละ 14 ล้านบาท เฉลี่ยผลตอบแทน ไร่ละ 100,000 บาท ถือว่าส้มโอเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่น่าสนใจในการลงทุนจริงๆ เพราะใช้เงินลงทุนปลูกเพียงครั้งเดียว แต่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวนานถึง 25 ปี แถมให้ผลตอบแทนต่อปีสูงมาก เมื่อเทียบกับไม้ผลเมืองร้อนชนิดอื่นๆ
คุณปรีชา ได้น้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้เป็นพิมพ์เขียวบริหารจัดการสวนแห่งนี้ คือ ขุดบ่อน้ำ สำหรับเลี้ยงปลาและมีน้ำใช้สอย ทำนา ปลูกป่า ปลูกผัก ปลูกบ้าน และปลูกไม้ผล
ปัจจุบัน สวนสระแก้ว แบ่งเนื้อที่ 6 ไร่ สำหรับทำนาข้าว สร้างป่าไม้ 40 ไร่ รอบสวน โดยให้เหตุผลว่า ผืนป่า 1 ไร่เนื้อที่ 1,600 ตารางเมตร ปลูกไม้ยืนต้น รวมทั้งต้นหญ้าจะช่วยเก็บกักน้ำไว้ใต้ดิน 400 ตัน ที่นี่พัฒนาแหล่งน้ำเนื้อที่ 24 ไร่ ตามทฤษฎีแก้มลิง คือ ขุดบ่อน้ำในพื้นที่ต่ำ ตามสภาพภูมิประเทศ คุณปรีชา บอกว่า ฟาร์มหมูแห่งนี้ใช้น้ำจากบ่อบาดาล จำนวน 3 บ่อ แต่ละวันหมู 6,000 ตัว ต้องใช้น้ำ 230 ลิตร สวนส้มโอ เนื้อที่ 200 ไร่ ปลูกส้มโอประมาณ 5,000 ต้น โดยทั่วไป ต้นส้มโอจะใช้น้ำเฉลี่ย 200 ลิตร ต่อต้น ต่อวัน สำหรับส้มโอที่ปลูกในพื้นที่ภาคกลาง จะต้องให้น้ำ เฉลี่ยปีละ 200 วัน

ปลูกส้มโอ เจาะตลาดคนรวย
“ผลไม้เป็นสินค้าตลาดคนรวย ผมปลูกส้มโอ ขายคนมีเงิน ที่สำคัญส้มโอเป็นผลไม้ที่ผู้คนทั่วโลกกินได้ หากเก็บส้มโอ ที่อุณหภูมิ 5-10 องศาเซลเซียส จะมีอายุการเก็บรักษานานถึง 2 เดือน โดยรสชาติยังดีอยู่ จึงไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องตลาดมากนัก เพราะส้มโอมีอายุการขายที่ยาวนานกว่าผลไม้ชนิดอื่น สามารถส่งออกทางเรือนาน 1 เดือน ยังเหลือเวลาการขายอีกเกือบเดือน รัฐบาลควรส่งเสริมเกษตรกรปลูกส้มโอเป็นผลไม้เศรษฐกิจ” คุณปรีชา กล่าว
หากปลูกส้มโอเป็นไม้ผลเศรษฐกิจ จะกลายเป็นสินค้าส่งออกขายผู้คนทั่วโลก 7,000 ล้านบาท แต่ละประเทศมีจำนวนเศรษฐีไม่เท่ากัน แค่ขายคนรวยทั่วโลก สัก 5 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับมีลูกค้า 1,300 ล้านคนแล้ว เท่ากับหนึ่งประเทศไทย ปัจจุบัน ส้มโอของสวนสระแก้ว ส่งออกไปขายตลาดจีน ญี่ปุ่น
ปัจจุบัน ส้มโอสวนสระแก้ว กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการปลูกส้มโอส่งออกให้กับเกษตรกรที่สนใจและนักศึกษาสาขาเกษตร ได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องการปลูกและบริหารจัดการสวนแบบมืออาชีพ คุณปรีชา เศรษฐโภคิน ได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านในท้องถิ่นมีอาชีพปลูกพืชไร่ ประเภทมันสำปะหลังเป็นหลัก แต่รายได้ไม่เพียงพอสำหรับเลี้ยงดูครอบครัว ผมส่งเสริมความรู้แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเผยแพร่แก่เกษตรกรในท้องถิ่น โดยให้แต่ละครอบครัวปลูกพืชผัก อย่างน้อยครอบครัวละ 1 ไร่ เช่น มะละกอ ผักกุยช่าย ฯลฯ จะมีรายได้ ไร่ละ 50,000 บาท และส่งเสริมปลูกส้มโอ เพราะเป็นผลไม้ที่ให้ผลตอบแทนสูง ถึงไร่ละ 100,000 บาท