บินกลับจากอังกฤษ มาสานต่อธุรกิจครอบครัว พลิกโฉม “กวงข้าวต้ม” สู่ร้านเบอร์ 1 ในเพชรบูรณ์
การสานต่อธุรกิจครอบครัวที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ทั้งยังต้องต่อสู้กับธุรกิจใหม่ที่เกิดมามากมายนับไม่ถ้วน มันคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ “เชฟโน๊ต-ศุภกิจ อรุณธนโยธิน” ทายาทรุ่นที่ 3 จากร้านกวงโต้รุ่ง คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “ร้านกวงข้าวต้ม” ข้าวต้มจับบัตรคิวแห่งจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่โด่งดังไปทั่วฟ้าเมืองไทย

อีกทั้งเชฟโน๊ตยังมีดีกรีที่ไม่ธรรมดา ด้วยประสบการณ์ทำงานในโรงแรมชื่อดังมากมาย และเคยเป็นพ่อครัวใหญ่ร้านอาหารไทยในอังกฤษ จนถึงตอนที่กลับมาสานต่อกิจการครอบครัว ก็ยังได้รับเชิญไปร่วมรายการชื่อดังอีกด้วย
เชฟโน๊ต จบปริญญาตรีจาก มหาวิทยาลัยนเรศวร สาขาบริหารการโรงแรมและการท่องเที่ยว จุดที่ทำให้เชฟโน๊ตสนใจในอาหารคือตอนที่เขาได้เรียนวิชา Food & Beverage และฝึกงานในโรงแรมแชงกรีล่า กรุงเทพ ทำให้เชฟโน๊ตได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนสนใจ ก่อนที่จะเข้าทำงานเป็นพ่อครัวในโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล และโรงแรมโอเรียนเต็ล
จุดเปลี่ยนครั้งแรกในชีวิตของเชฟโน๊ต คือเมื่อเขาถูกชักชวนให้ไปทำงานร้านอาหารไทยในเมือง ดาร์บี ประเทศอังกฤษ การเดินทางไกลจากบ้านในครั้งนี้ ได้หล่อหลอมเขาด้วยประสบการณ์ใหม่ๆ มากมาย
หลังจากอยู่ที่ประเทศอังกฤษได้ 5 ปี เชฟโน๊ตก้าวสู่ตำแหน่งหัวหน้าพ่อครัวในร้านอาหารไทยที่มีพนักงานมากกว่า 40 ชีวิต และจุดเปลี่ยนครั้งที่สองของชีวิตก็มาถึง เมื่อทายาทรุ่นที่ 3 อย่างเขา ต้องกลับมาสานต่อกิจการครอบครัว
เชฟโน๊ต กล่าวว่า “จริงๆ ตอนแรกก็ไม่ได้อยากกลับครับ แต่ผมมองว่า มันคือความรับผิดชอบและหน้าที่”

หลังจากกลับมาได้ไม่นาน เชฟโน๊ตเริ่มศึกษาตำราอาหารไทยและจีนเพิ่มเติม ทั้งยังเดินทางไปลองทานอาหารจากร้านอาหารต่างๆ เพื่อศึกษาและนำมาปรับใช้ โดยเพิ่มเติมเมนูสไตล์ภัตตาคารจีน จากเดิมที่มีเพียงเมนูประจำร้านข้าวต้มกุ๊ย จนกลายมาเป็น “ร้านกวงข้าวต้ม” ในทำเลใหม่เมืองเพชรบูรณ์ ที่ยังคงมีคำว่า “กวง” ที่เป็นชื่อของอากง และในภาษาจีนแต้จิ๋ว ยังแปลว่า แสงสว่าง อีกด้วย
เส้นทางของร้านใหม่ในตระกูลเดิมไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เชฟโน๊ตในฐานะเจ้าของกิจการเต็มตัวในตอนนี้ ต้องเผชิญปัญหามากมาย ทั้งการคำนวณต้นทุน การบริหารร้าน การบริหารคน ตลอดจนถึงคำติชมจากลูกค้า
แต่กว่าจะมาเป็นเพชรเม็ดงาม ก็ต้องถูกเจียระไน ฝึกปรือฝีมือด้วยความมานะอุตสาหะ อีกทั้งคติประจำใจที่สำคัญของเชฟโน๊ตและตระกูลที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่รุ่นอากงคือ “ซื่อสัตย์ต่ออาชีพ” จากร้านกวงโต้รุ่งจนมาถึงร้านกวงข้าวต้ม ทั้ง 2 ร้านยังคงยึดมั่นในมาตรฐานที่ใช้วัตถุดิบสด สะอาด และที่สำคัญคือ ราคายุติธรรม ไม่เอาเปรียบลูกค้า

ด้วยรสมือจากเชฟมากประสบการณ์ ผนวกกับความซื่อสัตย์ต่ออาชีพที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมร้านกวงข้าวต้มในวันนี้ ถึงยืนหนึ่งร้านข้าวต้มกุ๊ยที่ต้องมาเยือนให้ได้เมื่อมาจังหวัดเพชรบูรณ์ หรืออาจจะเรียกได้ว่า ต้องมาเยือนสักครั้งในชีวิต หากคุณเป็นคนรักข้าวต้มกุ๊ย
เชฟโน๊ต เผยว่า “ลูกค้าเคยขับรถมาจากกรุงเทพฯ นอนเพชรบูรณ์ 1 คืน แล้วก็มาต่อคิวรอเป็นชั่วโมงก่อนร้านเปิด”
ด้วยชื่อเสียงของร้านกวงข้าวต้มในตอนนี้ ทำให้ถูกขนานนามว่า “ข้าวต้มจับบัตรคิว” เพราะก่อนร้านเปิดในตอนเย็น ก็มีลูกค้ามารอตั้งแต่บ่ายแล้ว

เมนูที่เป็นสัญลักษณ์ของร้านกวง ทั้งกวงโต้รุ่ง และกวงข้าวต้มคือ เป็ดพะโล้ ที่ส่งต่อน้ำต้มเป็ดมาตั้งแต่รุ่นอากง ทำให้มีความเข้มข้นแทรกซึมเข้าไปถึงเนื้อเป็ดในทุกอณู ตอกย้ำด้วยป้ายหน้าร้าน “ที่สุดของเป็ดพะโล้”
เชฟโน๊ต เล่าว่า “ที่มาของป้ายนี้ คือตอนที่ผมตระเวนไปทานอาหารร้านต่างๆ ผมขับผ่านป้ายบอกทางจนติดตา เลยนำดีไซน์นี้มาใช้กับป้ายร้านตัวเอง”

นอกจากนี้ ยังมีเมนูที่ส่งต่อมาจากรุ่นอากง อาทิ ผัดหนำเลี้ยบหมูสับ สมุนไพรจีนที่คนแต้จิ๋วนิยมนำมาประกอบอาหารตั้งแต่โบราณ มีสรรพคุณมากมาย อุดมไปด้วยวิตามินเอ ช่วยในการมองเห็น และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เป็นเมนูที่ร้านข้าวต้มกุ๊ยทุกร้านต้องมี

อีกทั้งเมนู ยำรวม ที่มีความคลาสสิคแตกต่างจากยำในปัจจุบัน โดยยำรวมสไตล์ข้าวต้มกุ๊ยนั้น จะไม่ได้มีเพียงรสชาติหวานเปรี้ยว แต่ต้องปรุงอย่างมีศิลปะ โดยใส่เครื่องยำ เช่น ไข่เค็ม กุ้งแห้ง ตัดเปรี้ยวด้วยมะนาว ทำให้มีความกลมกล่อมลงตัว สามารถทานคู่กับข้าวต้มกุ๊ยได้
ปัจจุบัน ร้านกวงข้าวต้ม สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว นักชิม และเป็นหน้าเป็นตาให้จังหวัดเพชรบูรณ์มากว่า 13 ปีแล้ว ด้วยประสบการณ์ของเชฟโน๊ตที่สั่งสมมาตั้งแต่ทำงานในโรงแรมชื่อดัง และเดินทางไกลไปตามความฝันถึงประเทศอังกฤษ กระทั่งกลับมาสานต่อกิจการครอบครัวจนประสบความสำเร็จ
สำหรับใครที่อยากลิ้มลองความอร่อยของร้านกวงข้าวต้ม ร้านตั้งอยู่สี่แยกโรงพยาบาลเพชรรัตน์ เยื้องกับไปรษณีย์จังหวัดเพชรบูรณ์ เบอร์โทรศัพท์ 062-728-2728 หรือ Facebook Fanpage : Guang Restaurant – กวง ข้าวต้ม
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567