เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
Exclusive Featured

คุยกับ “หนุ่ย ณัฐพล การตลาดวันละตอน” จาก พนง. เงินเดือนหลักแสน สู่เจ้าของเพจ ‘ปั้นแบรนด์’ สร้างรายได้หลักสิบล้าน!

คุยกับ “หนุ่ย ณัฐพล การตลาดวันละตอน” จาก พนง. เงินเดือนหลักแสน สู่เจ้าของเพจ ใช้ข้อมูลและการตลาด ‘ปั้นแบรนด์’ สร้างรายได้หลักสิบล้าน!

จากพนักงานประจำที่ได้เงินเดือนหลักแสน แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่ไม่ตรงกับองค์กรทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาทำธุรกิจของตนเอง นี่เป็นเรื่องราวของ คุณหนุ่ย-ณัฐพล ม่วงทำ เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน ที่ปรึกษาด้านการตลาดและดาต้า

โดยคอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่ทำมักจะใช้ Social Listening หรือการเก็บข้อมูลของผู้บริโภคที่อยู่บนโซเชียล มาปรับปรุงวางแผนทำกลยุทธ์การตลาดให้เป็นที่น่าสนใจ และเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีผู้ติดตามถึง 2.6 แสนคน และสามารถสร้างรายได้หลักสิบล้านบาทต่อปี

ลาออกจากงานประจำมาทำเพจ

คุณหนุ่ย เล่าให้ฟังว่า ตนนั้นได้ลาออกจากงานประจำและทิ้งเงินเดือนหลักแสน เพราะเขารู้สึกว่าวิสัยทัศน์ของบริษัทไม่ตรงกัน จึงตัดสินใจออกมาทำธุรกิจของตัวเอง

“เรียกว่าเป็นความโชคดีในความโชคร้ายแล้วกัน ตอนนั้นเป็น Management ในบริษัทแห่งหนึ่ง รายได้หลักแสน งานก็ไม่ต้องทำ ลูกน้องก็เก่ง แต่อยู่ดีๆ วันหนึ่งก็รู้สึกว่า Vision ของบริษัทไม่ตรงกัน แต่ว่าเรื่องความเห็นไม่ตรงกันในการทำธุรกิจเป็นเรื่องปกติ ซึ่งพอออกมาทำของตัวเองแล้ว ความโชคร้ายคือเจอโควิด ทำให้ถอยหลังไม่ได้ ต้องเดินหน้ามาเรื่อยๆ”

โดยเขามีความตั้งมั่นไว้ว่า อยากโฟกัสในส่วน Data หรือ ข้อมูล ทำให้ตรงนี้จึงกลายเป็นจุดขายของ “เพจการตลาดวันละตอน” คนสามารถจำภาพของเพจได้ชัด

กว่าจะเป็นที่รู้จัก ต้องทำทุกวัน สะสมไปเรื่อยๆ 

คุณหนุ่ยเริ่มต้นเป็นที่รู้จักจากคอนเทนต์ไวรัลในช่วงนั้น นั่นคือ กระแส #เซฟปีโป้ม่วง ใครหลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับแฮชแท็กนี้ สืบเนื่องมาจากมีคนคนหนึ่ง เขาไปสั่งน้ำปั่นแต่ต้องการจะกินปีโป้สีใส แล้วก็ได้โพสต์บ่นลงทวิตเตอร์ว่า “ป้าบอกว่ามีแต่ปีโป้ม่วง เกลียดปีโป้ม่วงโว้ย”

ทำให้เป็นกระแสไวรัลออกมา ผู้คนต่างออกมาแสดงความคิดเห็นจนเกิดเป็นแฮชแท็กขึ้น โดยคุณหนุ่ยได้ทำเกี่ยวกับกระแสนี้เช่นกัน เขาใช้เครื่องมือ Social Listening ในการเก็บข้อมูลแล้วตามหาว่าจริงๆ แล้ว ปีโป้สีไหนถูกพูดถึงเยอะที่สุด

“การทำ Real Time Content ผมไม่ใช้คำว่ายาก แต่ใช้คำว่าเหนื่อยที่กว่า เพราะถ้าเกิดจะทำได้ต้องทุ่มเท Result ทั้งหมด ถ้าผมทำเฉยๆ แค่บอกว่ามีกระแสเกิดขึ้น ก็คงไม่น่าสนใจ แต่พอใช้ความถนัดในการทำ Data ใช้เครื่องมืออย่าง Social Listening ที่ค่อนข้างใหม่ในวันนั้น มันเลยทำให้เรามีมิติที่ต่าง แล้วทำให้คนจำได้ว่า อ๋อ เพจการตลาดวันละตอน ใช้ Social Listening ตามหาว่าจริงๆ ปีโป้สีไหนถูกพูดถึงมากที่สุด”

เส้นทางการเรียนรู้

เพจนี้ได้กลายเป็นจุดตั้งต้นของงานอื่นๆ ทั้งงานเขียนหนังสือ งานที่ปรึกษาด้านการตลาดให้บริษัทใหญ่ๆ และงานบรรยายในมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังเชี่ยวชาญในการทำ Social Listening เพื่อให้คำแนะนำข้อมูลเชิงลึกแก่ลูกค้า ซึ่งรายได้ปีก่อนประมาณ 10 กว่าล้านบาท

เขาเล่าว่า ตนนั้นไม่ได้เรียนจบปริญญา เคยเรียนเกี่ยวกับกราฟิกดีไซน์ แต่ได้ทำการดรอปเอาไว้ ทำให้เรียนไม่จบ ซึ่งเขาไม่ได้เรียนเกี่ยวกับด้านนิเทศมาเลย แต่ก็ได้ออกไปทำงานด้านนิเทศศิลป์ ดิจิทัล

“พอผมรู้ว่าตัวเองต้องมาทำงานประมาณนี้ในช่วงกลางๆ ชีวิต ก็ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งโชคดีที่ผมเป็นคนรักการอ่านอยู่ระดับหนึ่ง ทำให้อ่านได้อยู่ตลอด ฉะนั้นก็เติมความรู้เรื่องการตลาด บวกกับค่อนข้างตรงจริตอยู่แล้วเลยไม่รู้สึกว่ายากหรือเหนื่อย”

แม้ว่าความสนุกในการทำคอนเทนต์ยังไม่หายไป แต่การเติบโตของเพจนั้นทำให้มีภาระรับผิดชอบมากขึ้น ทั้งเรื่องการรักษาชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะเมื่อเพจได้กลายเป็นแหล่งอ้างอิง ก็จะต้องระมัดระวังในการไม่ทำอะไรที่ผิดพลาด

การตลาดที่ไม่เคยเปลี่ยน แต่ต้องปรับตามยุค

“ผู้คนไม่ได้เปลี่ยนไปจากอดีต เมื่อก่อนมนุษย์มีความอยากได้อยากมี มีกิเลส มีความต้องการ แต่สิ่งที่ต่างคือวิธีการเข้าหาผู้บริโภคต่างหากที่ต่าง”

การตลาดไม่เคยเปลี่ยนแต่เครื่องมือและวิธีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ปัจจุบันผู้คนมีหลากหลายแพลตฟอร์มให้เลือกใช้ ทำให้การตลาดของแต่ละแบรนด์ต้องทำให้ลูกค้าสนใจ และน่าดึงดูด

เขาเล่าต่อว่า “หน้าที่หลักๆ ของนักการตลาดคือการสร้าง Demand ให้คนอยากได้ แล้วเดินออกไปซื้อ หรือเดินกลับไปซื้อ แต่ตอนนี้วิธีการมันเปลี่ยนไปแล้ว เช่น เมื่อก่อนทำโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก แต่ตอนนี้ต้องใช้ทั้ง X, Instagram, TikTok ต้องใช้หลายอย่างในการลาก Customer Journey มายังหน้าบ้านเราให้ได้”

ซึ่งการทำ Customer Journey ในปัจจุบันมีรายละเอียดมากขึ้น และตอนนี้เครื่องมื่อต่างๆ ในการเก็บข้อมูลพัฒนาดีขึ้น ทำให้รู้ว่าการตลาดที่เคยทำนั้นส่งผลให้ลูกค้ามาซื้อจริงๆ เท่าไหร่ ฉะนั้นแล้ว การตลาดจึงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนจากทฤษฎีเป็นปฏิบัติมากขึ้น

โดยคอนเทนต์ที่ดีต้องเหมาะสมกับแพลตฟอร์มนั้นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่โพสต์แต่ต้องทำแพลตฟอร์มนั้นให้เหมือนคนใช้จริง เช่น ถ้าโพสต์ลง ‘Facebook (เฟซบุ๊ก)’ อาจจะโพสต์แบบกึ่งทางการ เน้นเพื่อนเป็นหลัก แต่บน ‘X (ทวิตเตอร์)’ อาจจะใช้แอ๊กเคานต์ Anonymous หรือเป็นแอ๊กหลุม (แบบไม่ระบุตัวตน) หรือถ้าเป็น ‘Instagram (อินสตาแกรม)’ จะเป็นโพสต์ที่คีปลุกส์ ดูหรูติดแกลม และ ‘TikTok (ติ๊กต็อก)’ จะเน้นความสนุกสนาน ไม่ได้โพสต์จริงจังแต่เหมือนเพื่อนรีวิวหรือบอกเล่าให้ฟัง 

“นิยามการตลาดในมุมผม คือการทำให้คนอยากได้ ทำให้คนเห็นแล้วคนรู้สึกว่า ดีจังชอบจัง อยากมีจัง อยากได้จัง อยากซื้อจัง นี่คือ Physical การตลาดที่ไม่เคยเปลี่ยน แต่แค่วิธีการรูปแบบมันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา”

เช่น การใช้ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ เปรียบเสมือนสื่อช่องทางหนึ่ง ที่ทำขึ้นเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจและมีคาแร็กเตอร์ในแบบเฉพาะตัวของอินฟลูฯ แต่ละคน 

ถึงแม้ว่าจะไม่เหมาะสำหรับทุกธุรกิจ แต่ก็ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดเพราะกลุ่มผู้บริโภคที่ติดตามมีความเชื่อถือในตัวอินฟลูฯ อีกทั้งการตลาดที่ดีต้องอิงกับคุณภาพของสินค้า เพราะท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ทำให้คนกลับมาคือคุณภาพที่ดีของตัวโปรดักต์เอง

“ถ้าเรามีงบการตลาดน้อย ทำทุกอย่างให้เป็นการตลาด”

เขาเล่าว่า เคยเจอร้านอาหารซีฟู้ดร้านหนึ่ง มีการปักไม้จิ้มฟันที่มีชื่อร้านเล็กๆ ไว้บนอาหาร เพราะทางร้านรู้ว่าคนสมัยนี้ชอบถ่ายรูปอาหาร ซึ่งบางคนอาจจะหยิบทิ้ง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน นั่นจึงหมายความว่า เมื่อมีคนโพสต์ลงโซเชียลเขาจะได้ Free Marketing ทันที

“หลายๆ รีเสิร์ชบอกว่าทุกวันนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หันไปเสิร์ชในติ๊กต็อกกันเยอะขึ้น ในแง่มุมหนึ่งต้องดูที่บริบท ถ้าเราอยากเห็นเนื้อหาคำตอบเป็นคลิป ย่อยง่ายก็ในติ๊กต็อก แต่ถ้าอยากได้เนื้อหาที่ซีเรียส ก็ขยับไปเสิร์ชอีกช่องทางหนึ่ง เช่น กูเกิล หรือบางคนอาจจะไปเสิร์ชในยูทูบ หรือตอนนี้เทรนด์เริ่มเปลี่ยน ไปเสิร์ชใน ChatGPT ที่เป็นคำตอบแบบไฟนอล สะดวก และง่าย”

“เมื่อก่อนเราจะเล่นเน็ต หาข้อมูล ต้องนั่งอยู่ที่บ้าน ต่อสายแลน แต่พอยุค 3G 4G 5G สิ่งพวกนี้เข้ามาทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไป จากเดิมเราเสิร์ช อ่าน สรุป แล้วค่อยตัดสินใจ แต่วันนี้กลายเป็นว่า ถาม ChatGPT เสร็จ ได้คำตอบสุดท้าย เราตัดสินใจตามนั้นเลยหรือเปล่า หรือเราตัดสินใจเร็วจนไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลไหม”

แสดงให้เห็นว่าในอนาคตงานไหนที่ต้องใช้แรงคนทั้งหมด 10 คน อาจจะเหลือแค่คนเดียวทำ 10 อย่างได้ด้วย AI เพียง 1 ตัว แต่การที่หลายธุรกิจหันมาใช้ AI ช่วยมากขึ้น พื้นฐานธุรกิจต้องดีก่อน

เช่น หากคุณขายหมูปิ้ง จะต้องทำให้อร่อยก่อน เพราะ AI คงไม่สามารถทำให้หมูปิ้งอร่อยได้ หากได้สูตรมาจาก AI จะอร่อยไม่อร่อยก็ขึ้นอยู่กับรสมือของตนเอง นี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญ และถ้าหมูปิ้งอร่อยจนทำไม่ทัน ก็สามารถจ้างคนมาเพิ่มได้ เมื่อมีเวลาว่างก็ทำการตลาดโดยให้ AI เข้ามาช่วย

“ณ วันนี้ การทำการตลาดที่ดีต้องมีความจริงใจ เราต้องแน่ใจว่าสินค้าหรือบริการที่เราทำการตลาดออกไป มันดีพอหรือเปล่า เรากล้าที่จะเป็นลูกค้าตัวเราเองหรือเปล่า เรากล้าที่จะแนะนำของสิ่งนั้นให้กับพ่อแม่พี่น้องคนในครอบครัวเรารึเปล่า ถ้าเรายังไม่แน่ใจไม่ทำดีกว่า”

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

Related Posts

ไอเทมลับ แจ็คสัน หวัง! ‘จงเจริญ’ เครื่องหอมไทยน้องใหม่ กลิ่นเดียวสะเทือนโซเชียล แฟนคลับทั่วเอเชียเตรียมตามหากันให้วุ่น
‘วุ้นหอยแครง’ เมนูสุดครีเอตจากร้าน ‘น้ำใจ วุ้นกะทิ’ เหมือนจริงจนเป็นไวรัล ขายไปแล้วเกือบ 200 จาน สร้างรายได้จากธุรกิจนี้ 6 หลักต่อเดือน