ช่วงนี้ข่าวการปิดกิจการของร้านอาหารมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็ก ร้านใหญ่ หรือแม้แต่ร้านที่มีชื่อเสียง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงในธุรกิจร้านอาหารของประเทศไทย ว่าจะเสี่ยงเกิดฟองสบู่ร้านอาหารแตกหรือไม่

ด้านคุณสรเทพ สตีฟ ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมโฮสเทล (ประเทศไทย) ได้ออกมาสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะหากไม่ได้รับการจัดการอย่างทันท่วงที อาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยรายละเอียดที่ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารได้สรุปมาดังนี้
ทำไมถึงสาหัสกว่ามาดูกัน
– ช่วงโควิด รัฐบาลตอนนั้นออกมาตรการต่างๆ มาช่วยพยุง ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ประกันสังคม มาตรการภาษีที่ให้คนเก็บใบกำกับภาษีจากร้านอาหารไปลดหย่อนภาษีได้
– การอัดเงินเข้าระบบแบบตรงจุดตรงเป้า ด้วยโครงการคนละครึ่ง ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนทั่วไปแถมรักษากำลังซื้อไว้ได้ประมาณหนึ่ง
– มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ที่ออกมาอย่างทันเวลาสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศได้อย่างคึกคักแบบไม่น่าเชื่อ
– ค่าไฟที่ในขณะนั้น หน่วยละ 3 บาทกว่า โดยรัฐพยายามตรึงไว้ให้ ภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนจึงทำให้อยู่ได้ รวมถึงต้นทุนของธุรกิจร้านอาหารไม่สูงเกินไปสำหรับผู้ประกอบการ
– การรักษาราคาพืชผัก สินค้าเกษตร เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ราคาไม่ได้โดดสูงมากเพื่อประคองต้นทุนครัวเรือนและธุรกิจร้านอาหารได้อานิสงส์ไปด้วยและเมื่อต้นทุนวัตถุดิบร้านอาหารไม่แพง ราคาขายก็ไม่กระทบการบริโภคของประชาชนด้วย
กลับกันมาดูในช่วงปี 2566-2568
– ควรเร่งออกมาตรการด้านลดหย่อนภาษีด้วยการให้ประชาชนสามารถเก็บใบกำกับภาษีร้านอาหารไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินคนละ 2 หมื่นบาท และ นิติบุคคลเมื่อจัดเลี้ยง เลี้ยงรับรอง สามารถใช้ใบกำกับภาษีไปลดหย่อนภาษีในปีถัดไปได้ไม่เกิน 1 แสนบาท
– การอัดเงินแบบกระจัดกระจายไม่ตรงเป้า ไม่ตรงปก ด้วยโครงการแจกเงินหลายแสนล้าน ร้านอาหารสตรีตฟู้ด ร้าน SMEs หรือตลาดสดแทบไม่ได้รับผลพายุเงินที่แจกไป 2 รอบ
– ค่าครองชีพของประชาชนที่ทำให้กำลังซื้อหายไป และต้นทุนธุรกิจร้านอาหารที่มีแต่ขบวนขึ้นต่อเนื่องมาตลอด 2 ปี ทั้งค่าไฟ ค่าน้ำมัน วัตถุดิบต่างๆ จนธุรกิจร้านอาหารเจอสภาพแฮมเบอร์เกอร์ ที่โดนกระหน่ำทั้งบนและล่าง คือต้นทุนที่สูงและกำลังซื้อประชาชนที่หายไป
– มาตรการที่ออกมาก็ล่าช้าจนไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการได้ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งทางคุณสรเทพเคยเรียกร้องไปก่อนแล้วว่าควรรีบออกมาให้ทันไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 เพราะสภาพเศรษฐกิจส่อแววไม่ดี แต่รัฐกว่าจะเคาะสรุปรายละเอียดก็จบไตรมาสแรกของปี 2568 แล้ว
ยังมีเรื่องการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวสุดท้ายของประเทศไทยที่ติดๆ ดับๆ จนกระทบถึงร้านอาหารขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ที่ออกมาแจ้งปิดเพราะเจ๊งกันระนาวหรือไม่ก็ยอดขายกำไรหายไปเกิน 50% อีกมากมาย
หลายคนออกมาคอมเมนต์ว่าก็ร้านเปิดเยอะ ราคาขายแพง ก็สมควรปิดไป ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีเงินเดือนประจำไม่ได้ค้าขายเองและไม่มีความเข้าใจว่า ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่มีห่วงโซ่ซัพพลายวงใหญ่มาก ซึ่งหากร้านอาหารขายได้อยู่ได้ ตลาดสดแม่ค้าก็อยู่ได้ เกษตรกรก็อยู่ได้ รถสามล้อรถมอเตอร์ไซค์ที่ขนส่งของสดก็อยู่ได้ พนักงานร้านก็ไม่โดนให้ออกหรือตกงาน และที่สำคัญ ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งคือประเทศที่มีธุรกิจ SMEs ที่เข้มแข็งไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่
สุดท้าย ในนามประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารขอวิงวอนนายกฯ และทีมเศรษฐกิจรัฐบาลให้รีบออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อมาประคองสภาพเศรษฐกิจของประเทศก่อนที่จะพังไปจนไม่เหลืออะไรให้พังไปกว่านี้แล้ว เช่น
1. รีบเอาเงินที่จะแจกรอบ 3 มาทำโครงการคนละครึ่ง 6 เดือน ให้ประชาชนเพื่อช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายด้านอาหารประจำวันและกระตุ้นกำลังซื้อให้ร้านอาหารตั้งแต่ริมทางไปถึงร้านใหญ่
2. ออกมาตรการให้ลูกค้าเก็บใบกำกับภาษีร้านอาหารนำไปลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลได้ในปีถัดไปซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณเลยแถมได้ภาษีเต็มๆ คืนเข้าคลังอีกต่อ
3. ควบคุมดูแลค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน และราคาสินค้าวัตถุดิบเพราะยิ่งเข้าหน้าแล้งราคาพืชผักจะสูงขึ้นหลายเท่าเหมือนปีที่แล้วอีก
4. ลดเงินค่าประกันสังคมให้ผู้ประกอบการครึ่งหนึ่งถึงสิ้นปี 2568 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายบริษัทร้านค้า
5. เร่งวางแผนระยะสั้นในการกระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้กลับมา และวางแผนระยะยาวแบบบูรณาการ 15 ปี เพื่อให้การท่องเที่ยวประเทศไทยเติบโตแบบยั่งยืน
จากรายละเอียดดังกล่าวที่ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารได้กล่าวมานั้น ยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตามองต่อไปว่าภาครัฐจะรีบเร่งในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดหรือไม่ และภาพรวมธุรกิจอาหารในช่วงเวลาปัจจุบันรวมไปถึงภายภาคหน้า จะแย่ลงหรือดีขึ้นอย่างไร ยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตามองต่อไป