เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
PR News

เอ็กซิมแบงก์ ครบรอบ 25 ปี เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ชูบทบาทเชื่อมผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดใหม่

เอ็กซิมแบงก์ ครบรอบ 25 ปี เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ชูบทบาทเชื่อมผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดใหม่

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในปี 2562 เอ็กซิมแบงก์ ครบรอบ 25 ปี และก้าวสู่ปีที่ 3 ของการปรับบทบาทใหม่ตามแผนแม่บท 10 ปี (ปี 2560-2570) เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และทิศทางเศรษฐกิจของไทย โดยกำหนด 6 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1. เชื่อมไทย เชื่อมโลก ด้วยการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ 2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ 3. ป้องกันความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุนไทยในต่างประเทศ 4. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ 5. เพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ 6. พัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ

จากยุทธศาสตร์ดังกล่าว เอ็กซิมแบงก์จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางสร้างเครือข่ายทางธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจรุกตลาดใหม่ โดยทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ จัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXIM Excellence Academy : EXAC)” ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานจัดกิจกรรม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มต้นส่งออกหรือขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยแบ่งตามระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ ได้แก่ 1. กลุ่มผู้ที่ยังไม่เคยส่งออก 2. กลุ่มผู้ที่เคยส่งออกบ้างแล้ว และ 3. กลุ่มผู้ที่ส่งออกอยู่แล้ว ซึ่งยังต้องการการสนับสนุนทางการเงิน และข้อมูลเพื่อขยายธุรกิจส่งออกให้เติบโตได้อย่างมั่นคง

และในโอกาสครบรอบ 25 ปี เอ็กซิมแบงก์ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อส่งออกเพิ่มสุข (EXIM Happier Credit)” เป็นสินเชื่อหมุนเวียนช่วงก่อนและหลังการส่งออก ผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก และไม่เคยได้รับสินเชื่อจากเอ็กซิมแบงก์จะได้รับพิจารณาวงเงินสินเชื่อสูงสุด 700,000 บาทต่อราย ส่วนลูกค้าปัจจุบันจะได้รับวงเงินสินเชื่อสูงสุด 1 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยปีแรกอยู่ที่ 5.50% ต่อปี ปีที่ 2 อยู่ที่ Prime Rate -0.50% ต่อปี (หรือ 5.75% ต่อปี) พร้อมวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า สูงสุดเท่ากับวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ใช้เพียงบุคคลค้ำประกัน สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมอบรม ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าและค้าขายออนไลน์ หรือ ลงทะเบียนร่วมกิจกรรม กับ เอ็กซิมแบงก์ จะได้รับส่วนลด อัตราดอกเบี้ยปีแรก 0.50% ต่อปี บริการใหม่นี้มีเป้าหมายอนุมัติวงเงินรวม 400 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดย่อมสามารถเริ่มต้นและส่งออกได้มากขึ้นไม่น้อยกว่า 550 ราย

นายพิศษฐ์ เผยผลการดำเนินงานของเอ็กซิมแบงก์ ว่า ประสบความสำเร็จเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 เอ็กซิมแบงก์ มีเงินสินเชื่อคงค้างสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 108,589 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,703 ล้านบาท หรือ 18.18% เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 38,412 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 70,177 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ 197,120 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 106,362 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้างแก่ SMEs เท่ากับ 42,906 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,765 ล้านบาท หรือ 15.53% ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 1,365 ล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 3.78% โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 4,103 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 9,385 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,436 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 4,572 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองหนี้พึงกัน 205.25% ทำให้เอ็กซิมแบงก์ยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง

ขณะเดียวกันก็ได้ขยายบริการประกันการส่งออก เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการไทยจากการไม่ได้รับชำระเงินจากคู่ค้าในต่างประเทศ ทั้งในตลาดการค้าเดิมและตลาดใหม่ ในปี 2561 เอ็กซิมแบงก์มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุนเท่ากับ 92,448 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26,545 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs จำนวน 22,278 ล้านบาท หรือ 24.10% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม

ในส่วนของการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศ ปัจจุบันเอ็กซิมแบงก์ มีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 84,245 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2561 จำนวน 39,265 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผู้ส่งออกไทยมีโอกาสที่จะขยายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศอีกมาก โดย ณ สิ้นปี 2561 มีเงินให้สินเชื่อคงค้างจำนวน 29,441 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2560 เท่ากับ 1,546 ล้านบาท

Related Posts

ราคาทองพุ่งไม่หยุด! ซื้อทอง ดีกว่าเก็บเงินไว้เฉยๆ จริงไหม แล้วควรซื้อด้วยเงินสด หรือบัตรเครดิต
6 กลยุทธ์ 'วัตสัน' ปี 2568 เสริมแกร่ง Smart Beauty & Wellness พร้อมขยาย 55 สาขาใหม่