เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
How to Inspiration Leadership SMEs

อาตี๋ ลื้อเจ๊งแน่! จากคำสบประมาท สู่ร้านแว่น 2,000 กว่าสาขาทั่วไทย ‘แว่นท็อปเจริญ’ โตเงียบ รายได้ 5,000 กว่าล้าน

อาตี๋ ลื้อเจ๊งแน่! จากคำสบประมาท สู่ร้านแว่น 2,000 กว่าสาขาทั่วไทย ‘แว่นท็อปเจริญ’ โตเงียบ รายได้ 5,000 กว่าล้าน

หากพูดถึงธุรกิจ ‘ร้านแว่นตา’ ที่อยู่คู่กับเมืองไทยมาอย่างยาวนาน หนึ่งในนั้นคือ ‘แว่นท็อปเจริญ’ ที่เปิดให้บริการ 2,000 กว่าสาขา แต่น้อยครั้งที่เราจะเห็นคนเข้าใช้บริการ ทำให้เกิดคำถามมากมาย ว่าแบรนด์นี้สามารถยืนหยัดอยู่ในตลาดได้อย่างไร ท่ามกลางสมรภูมิร้านแว่นเกิดใหม่มากมาย

วันนี้ ‘เส้นทางเศรษฐีออนไลน์’ จะพาไปพูดคุยกับ นพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์ ผู้สืบทอด ‘เจริญการแว่น’ สู่ ‘แว่นท็อปเจริญ’ 

นพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์
นพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์

นพศักดิ์ เล่าว่า พ่อของเขาทำแว่นตา มาตั้งแต่ พ.ศ. 2490 หากนับถึงปัจจุบันคือ 78 ปี ส่วนตนเองทางบ้านตั้งใจอยากให้เรียนหมอ เพราะเป็นเด็กเรียนเก่ง ได้ที่ 1 ของโรงเรียน แต่กลับต้องหยุดความตั้งใจนั้นไว้ เมื่อพ่อและแม่เสียชีวิต 

“ผมกลายเป็นลูกกำพร้า ต้องออกจากโรงเรียนมาทำธุรกิจแว่นตา แต่ตอนเรียนคุณพ่อเคยบอกไว้ว่า ถ้าไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่เป็นไร จะทำธุรกิจอะไร ทำแว่นตาดีสุด แว่นตามงานสบาย กำไรเยอะ อย่าไปทำอย่างอื่น ผมก็จำฝังหัว ถ้าจะอดตาย ก็ทำแว่น”

นับจากนั้น นพศักดิ์ จึงเข้ามารับช่วงต่อ ณ ตอนนั้นเขามีอายุประมาณ 16 ปี เรียนจบแค่ชั้น ม.3

เขาเล่าว่า ชื่อเดิมสมัยพ่อ คือ ‘เจริญการแว่น’ พร้อมหน่วยรถเร่ขายแว่นตาทั่วประเทศ เมื่อตนเองเข้ามาทำต่อ ก็ต้องดูแลลูกน้องของพ่อที่มีอายุมากกว่า และมีหน้าร้านอยู่ร้านเดียว 

จึงเกิดความคิดว่า 

“ทำไมร้านแว่น จะเปิดหลายสาขาไม่ได้ เพราะมองว่า ธุรกิจแว่นตา เป็นธุรกิจสายเลือด คนนอกวงการไม่มีมาทำ ถ้าจะมีคนนอกวงการมาทำ ต้องจบหมอสายตา 

พ่อคนหนึ่ง ถ้ามีลูก 2 คน ก็เปิดร้านได้ 2 ร้าน ถ้ามีลูก 3 คน ก็เปิด 3 ร้าน แล้วเราคนเดียวจะเปิดหลายๆ ร้านไม่ได้เหรอ”

และเมื่อนำมาวิเคราะห์แล้ว พบว่า ส่วนใหญ่ติดปัญหาเรื่องคน คนจะขายแว่นต้องวัดสายตาเป็นเหมือนหมอ เป็นอาชีพที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ ต้องเจียระไนเลนส์เป็น ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับหน้าคนเป็น ทำแว่น 1 อัน ไม่ใช่เรื่องง่าย การจะได้เห็นคนนอกวงการมาทำจึงเป็นเรื่องยาก

แว่นท็อปเจริญ
แว่นท็อปเจริญ

จากนั้น นพศักดิ์ ได้เริ่ม ‘สรรหาคนเก่ง’ มาเป็น ‘อาจารย์’ สอนพนักงานใหม่ ทั้งคนวัดสายตา คนเจียระไนเลนส์ ช่างเทคนิค คอนแทกต์เลนส์ เซลส์ เมื่อสอนเสร็จ ก็ได้เปิดร้าน

พร้อมกับคำสบประมาทว่า “อาตี๋ ลื้อเจ๊งแน่ๆ!”

เพราะฉีกกฎวงการ ไม่มีคนในครอบครัว ไม่มีพี่น้องไปคุม แต่เป็นลูกน้องล้วนๆ 

เมื่อปั๊มคนได้แล้ว เรื่องต่อมาคือ ‘เปลี่ยนลุกส์ให้น่าเชื่อถือ’ ให้พนักงานใส่ชุดยูนิฟอร์มคล้ายหมอ เพราะร้านแว่นตาสมัยก่อน พนักงานใส่กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ เสื้อยืด

ต่อมาคือ ‘ปรับหน้าร้าน’ ด้วยการจ้างสถาปนิกจากจุฬาฯ มาออกแบบร้าน เรียกว่าเป็นร้านแว่นแรกๆ ที่กล้าจ้างสถาปนิก จนกลายเป็นร้านที่สวยที่สุดในจังหวัดขอนแก่น เพราะร้านแว่นสมัยก่อน พื้นไม่ปู ฝ้าไม่ตี ตั้งตู้เก่าๆ คล้ายตู้ลอตเตอรี่ 

และอีกสิ่งสำคัญ นพศักดิ์ บอกว่า คือ ‘โฆษณา’ ทั้งรถแห่ รถกระจายเสียง วิทยุ และแจกใบปลิว ต่างจากการเปิดร้านแว่นสมัยก่อน หากย้อนหลังไป 45 ปี คือธุรกิจเสือนอนกิน อยู่ไปเรื่อยๆ มาเรียงๆ 

“ผมไปเปิดที่ไหนนะ เดือนสองเดือน ร้านผมดังสุดเลย ก็เปิดสาขาไปเรื่อยๆ เชื่อไหม เปิดได้ประมาณ 10 สาขา ทั้งขอนแก่น โคราช อุดรฯ ตอนนั้นก็ไม่มีพี่น้องมาคุมนะ เขาก็มาสบประมาทผมเยอะเลยว่า ยิ่งเจ๊งใหญ่ แต่ก็พิสูจน์ให้เขาเห็น 

ต้องทำยังไงให้คุมให้ได้ ผมอายุแค่ 16-17 ปี ในเมื่อเราไม่มีความรู้ จบการศึกษาน้อย ผมไปจ้างดอกเตอร์จากกรุงเทพฯ มาวางระบบบัญชี ระบบสต๊อก ควบคุมภายใน ระบบต่างๆ ให้ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ต้องตื่นแต่เช้าไปรับที่สนามบิน ทำอย่างนี้ 6 เดือนเต็ม พอวางระบบได้ ก็ง่าย”

แว่นท็อปเจริญ
แว่นท็อปเจริญ

นับเป็นอีกกลยุทธ์ ที่ทำให้ร้านแว่นเติบโต จากนั้น นพศักดิ์ ได้ขยายสาขาไปเรื่อยๆ และตั้งเป้าว่า จะเปิดให้ได้ 100 สาขา แม้ได้คำสบประมาท ว่า 

“อาตี๋ ลื้ออ่ะ ติ่งต๊ง คล้ายๆ ปัญญาอ่อน จะเปิด 100 สาขา เป็นไปได้ยังไง 40 กว่าปีที่แล้ว ไม่มีร้านไหนที่เป็น Chain Store เลย ผมว่าเราเป็นเจ้าแรกๆ ที่เปิดร้านในรูปแบบขยายสาขา ตอนนั้นเด็กวัยรุ่นใจร้อน ดูแล้วเพอร์เฟกต์ กำไรดี ไปเปิดจังหวัดไหน 2 เดือนเราเป็นที่ 1 

เพราะทั้งโฆษณา แต่งตัวสวย สินค้ามีครบ บริการดี แต่ก่อนเสิร์ฟน้ำส้ม กาแฟ ซื้อแว่นแล้วรอนาน ก็แจกคูปองเชิญไปทานก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า ข้าวผัด ลูกค้าก็ชอบ ประทับใจ แต่ก่อนมันแค่ 15 บาท เราก็ลงทุน ลูกค้าคนไหนรวยๆ ก็เอาเป๊ปซี่มาเสิร์ฟ ยังไงต้องซื้อแว่นผม เพราะเกรงใจ” นพศักดิ์ เล่าถึงเทคนิค และมักสอนพนักงานเสมอ ซื้อไม่ซื้อ ต้องเสิร์ฟน้ำให้ลูกค้าที่เดินเข้าร้านก่อนเสมอ

เมื่อเปิดได้เกือบ 300 สาขา ยังไม่เข้ากรุงเทพฯ กลยุทธ์นี้ นพศักดิ์ เรียกว่า ‘ป่าล้อมเมือง’ เพราะเคยทำหน่วยรถเร่ บางจังหวัด บางอำเภอไม่มีร้าน ยังเป็น ‘บลูโอเชียน’ ตลาดไม่มีคู่แข่ง สามารถผูกขาดได้เลย 

“กรุงเทพฯ กระดูกเยอะ เวลาเราทำธุรกิจ เริ่มต้นก็ต้องกินเนื้อก่อน ค่อยกินกระดูก”

นพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์
นพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์

นพศักดิ์ เล่าต่อว่า ขณะนั้นยังใช้ชื่อ เจริญการแว่น แต่ช่วงหลังเริ่มมีร้านอื่นใช้ชื่อเหมือนกัน ถ้าทำต่อไปเรื่อยๆ แล้วยังใช้ชื่อเดิม โฆษณาอะไรไป ทำคุณภาพดีไปก็เข้าคู่แข่งหมด จึงเปลี่ยนชื่อร้าน จดลิขสิทธิ์ 

“พ่อผมชื่อ เจริญ ยังไงก็ต้องใช้ชื่อนี้ เพราะพ่อมีพระคุณกับผม ผมเป็นลูกต้องทำให้ดีกว่าพ่อ เก่งกว่าพ่อ ต้องเป็น ‘ท็อป’ เลยใช้ชื่อว่า แว่นท็อปเจริญ”

หลังได้ชื่อ จดลิขสิทธิ์เรียบร้อย นพศักดิ์ ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อทุกสาขา แต่เรียกลูกน้องนับพันคน จาก 300 สาขา มาประชุม หลายเสียงไม่อยากให้เปลี่ยนชื่อ เพราะมองว่าลูกค้าติดแล้ว แต่ตนตัดสินใจเปลี่ยน รวมค่าเปลี่ยนป้ายเกือบ 10 ล้านบาท จากนั้นให้พนักงานถือป้ายเดินตลาด 1 เดือนเต็ม เพื่อสร้างการรับรู้ว่า เจริญการแว่น คือ แว่นท็อปเจริญ สุดท้ายร้านกลับมาขายดีเหมือนเดิม

นพศักดิ์ เล่าว่า ความใฝ่ฝัน คือการพาแบรนด์ลงทีวีให้ได้ เพราะในยุค 40 ปีที่แล้ว ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีไวไฟ หรือคอมพิวเตอร์ มีแค่ทีวี เป็นสื่อที่ดี ณ ขณะนั้น จึงเร่งเปิดให้ได้ 500 สาขา เพื่อลงทีวี ด้วยการครีเอทีฟโฆษณา ความยาว 15 วิ ด้วยตนเอง เพื่อประหยัดงบ

หลังจากลงทีวี แว่นท็อปเจริญ เริ่มเดินทางเข้ากรุงเทพฯ นพศักดิ์ บอกว่า มาแรกๆ กลัวจะสู้เด็กกรุงเทพฯ ไม่ได้ เพราะมาจากบ้านนอก แต่กลับกัน เปิดแล้วขายดี เพราะลูกค้าเชื่อถือจากโฆษณาในทีวี 

ซึ่งการขยายสาขาอย่างรวดเร็วของ แว่นท็อปเจริญ กลยุทธ์ที่นพศักดิ์ใช้คือ ‘การเช่า’ หรือ ทฤษฏี เช่า 3 เดือน ประกัน 3 เดือน จ่ายค่าเช่ารายเดือน ซึ่งไอเดียนี้ได้มาจากลูกน้องที่เช่าหอพักอยู่ ปรากฏว่า แลนด์ลอร์ดเริ่มเชื่อถือ เพราะสามารถขยายสาขาได้หลายแห่งด้วยการเช่า และจ่ายตรงเวลา

“เพราะลงทุนน้อย แว่นตากำไรสูง เป็นสินค้าเดียวในโลกที่เช็กราคายาก เพราะมีเป็นล้านๆ รุ่น หลายสี เลนส์ก็คนละราคา และเราซื้อแว่นโดยตรงกับผู้ผลิต ไม่ซื้อผ่านยี่ปั๊วะ เป็นตัวแทนจำหน่ายโดยตรง และมีเฮ้าส์แบรนด์ของตัวเอง”

นพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์
นพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์

และการจะให้ร้านแว่นคนเต็มร้านเหมือนร้านสะดวกซื้อ เป็นไปไม่ได้ 

“ร้านแว่น ไม่ต้องมาก ขายวันหนึ่งแค่ 2-3 อัน แว่น 1 อัน ราคา 4,000-5,000 บาท ขาย 3 อัน ก็ 15,000 บาท แค่นี้พอแล้ว ตัด 1 อัน อยู่ได้ 1-2 ปี และปัจจุบัน แว่น เปรียบเสมือนยารักษาโรค หรือ ปัจจัย 4 เพราะคนเล่นแท็บเล็ต มือถือ ไม่ใส่แว่นตอนเด็ก อายุ 40 ปีก็ต้องใส่ 

แต่ถ้าขายก๋วยเตี๋ยว ขายเหนื่อยนะ ชามละ 20-30 บาท กว่าจะขายได้ 15,000 บาท ใช้เวลาขายทั้งวัน ส่วนพนักงานเราแต่งตัวเหมือนหมอ สวยงาม หุ่นสมาร์ท ไม่ต้องลำบาก 

เพราะฉะนั้น ทำไมร้านแว่น คนน้อยยังอยู่ได้ ที่เล่าให้ฟัง อยู่ได้เพราะแบบนี้”

ถึงปัจจุบัน แว่นท็อปเจริญ เปิดให้บริการทั้งหมด 2,000 กว่าสาขา และมีการเทรนพนักงานทุก 3 เดือน โดยหมอตา จักษุแพทย์ และ E-Learning 

นพศักดิ์ พูดทิ้งท้ายถึงเรื่องคนว่า “ธุรกิจอะไรก็ตาม ที่เราไม่สามารถเข้าไปคุมเอง ทำเองได้ คนสำคัญที่สุด ผมตื่นเช้า จะคิดเสมอ จะเอาใจลูกน้องยังไง ต้องเอาใจเขา ให้เขารักองค์กร ให้สวัสดิการดี รายได้ดี กินอิ่ม นอนหลับ มีความสุข เขาก็จะส่งต่อถึงลูกค้า บริการดี ดูแลดี เราไม่ต้องไปยืนคุม”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน แว่นท็อปเจริญ ไม่ใช่แค่ร้านแว่น แต่ครบวงจรไปด้วย โรงพยาบาล ศูนย์รักษาตา ทำเลเซอร์ เลซิก ทำต้อกระจก และอื่นๆ ที่ครอบคลุมเรื่องสายตา โดยในปี 2566 ข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า บริษัท ร่วมเจริญพัฒนา จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวม 5,784 ล้านบาท

และทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของ แว่นท็อปเจริญ ร้านแว่นตาที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน 

อ้างอิงข้อมูลจาก 

งานสัมมนา PRACHACHAT FORUM 2025 – NEXT MOVE Thailand 2025 ‘ตามหาโอกาส…โลกป่วน เกมเปลี่ยน

Related Posts