คุณพะเยาว์ และ คุณประมวล รุ่งทอง สองสามีภรรยา อยู่ที่จังหวัดชัยนาท เป็นเกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งสองเป็นเกษตรกรหัวไวใจสู้พร้อมที่จะเปิดรับความรู้ใหม่ๆ กล้าที่จะทดลองและรับแนวทางการส่งเสริมพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวกับการเกษตร ปัจจุบันทั้งสองมีอาชีพเพาะเลี้ยงปลาในกระชังบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้าของสูตรใช้กล้วยน้ำว้าเลี้ยงปลา
“สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงปลานั้นจะเป็นอาหารเม็ดทั่วๆ ไป โดยจะให้วันละ 3 เวลา (เช้า กลางวัน เย็น) บวกกับรำข้าวผสมกับกล้วยน้ำว้าสุกบด (เสริมเฉพาะปลานิล ส่วนปลากดหลวงจะหั่นเป็นชิ้นๆ ลักษณะกล้วยบวชชี) วันละ 1 เวลา ซึ่งเลือกในช่วงกลางวันเพราะช่วงนี้จะเป็นช่วงที่สะดวกที่สุดของผู้เพาะเลี้ยงที่จะมีเวลาเตรียมบดกล้วยในช่วงเช้า เช้า, กลางวัน, เย็น ตามความสะดวกของผู้เลี้ยง”
คุณประมวล เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการนำกล้วยน้ำว้ามาเลี้ยงปลานั้น มาจากการเพาะเลี้ยงปลาในช่วงนั้น มีต้นทุนในการผลิตสูงในเรื่องของอาหาร ทำให้ไม่คุ้มต่อผลตอบแทนที่ได้มาในแต่ละครั้ง ทุกฟาร์มเกิดปัญหาเดียวกันหมด ทำให้ตนเองต้องหาหนทางลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของอาหารลง จึงเกิดแนวคิดนำกล้วยมาเลี้ยงปลาขึ้น
จากแนวคิดที่คิดแบบชาวบ้านทั่วๆ ไปและจากประสบการณ์ที่เคยผ่านมาและเคยเห็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ใช้กล้วยน้ำว้าบดผสมกับข้าวเลี้ยงเด็ก ก็ยังสามารถทำให้เด็กโตขึ้นมาได้ จึงได้ทดลองนำกล้วยน้ำว้าสุกมาบดผสมกับรำข้าวให้ปลากิน เริ่มแรกจะทดลองกับปลากด ผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจ ปลามีขนาดใหญ่ รสชาติของเนื้อหวาน ได้คุณภาพกว่าปลาที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยกล้วย ที่สำคัญลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของอาหาร
หลังจากที่เลี้ยงปลาด้วยกล้วยน้ำว้ามาได้ระยะหนึ่ง ก็เกิดเสียงตอบกลับมาจากผู้บริโภคว่าปลาในกระชังมีรสหวานและเนื้อแน่น ทำให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น จากนั้นมาก็เริ่มนำกล้วยน้ำว้าสุกมาบดผสมกับรำข้าวผสมให้ปลาไปพร้อมกับอาหารเม็ด
อ่านเพิ่มเติม : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_116644