“ZENFRY” เฟรนช์ฟรายจากถั่วเขียวเจ้าแรกของโลก เปลี่ยนภาพถั่วเขียวแบบเดิมๆ ให้กลายเป็น Snack Hero ยอดขายเติบโตต่อเนื่อง เตรียมส่งออกยุโรป
คุณอ๊บ-ทรรศิน อินทานนท์ เจ้าของ ZENFRY เฟรนช์ฟรายส์ถั่วเขียวเจ้าแรกของโลก เปิดแนวคิดและที่มาของไอเดียสุดเจ๋งพลิกโฉมถั่วเขียวแบบ้านๆ ให้กลายเป็น “ถั่ววิเศษ” คุณอ๊บเปิดบทสนทนากับ “เทคโนโลยีชาวบ้าน” และ “เส้นทางเศรษฐี” ด้วยท่าทีเป็นกันเอง พร้อมกับเล่าความเป็นมาที่กว่าจะเป็นแบรนด์เฟรนช์ฟรายถั่วเขียวเจ้าแรกของโลกว่า

“ด้วยความที่ผมเรียนจบทางด้านเทคโนโลยีการเกษตร ทำให้มีความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และด้านการเกษตร พอเรียนจบมาตั้งใจว่าอยากจะนำเอาความรู้ที่เรียนมาต่อยอดแปรรูปสินค้าเกษตร แต่ตอนนั้นยังไม่มีเงินทุน จึงต้องไปทำงานเพื่อหาเงินทุนสักก้อนมาทำตามความฝัน และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ได้ทำเกี่ยวกับเรื่องอาหาร และผู้ช่วยการตลาด มาปรับใช้กับธุรกิจของตัวเอง โดยเริ่มต้นจากการซื้อที่ดินเล็กๆ มาทำโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร เริ่มจากการทำสับปะรดกวน เผือกกวน จนมาถึงช่วงโควิดก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงและมีโอกาสใหม่เกิดขึ้น”
ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นวิกฤตมากกว่าโอกาส แล้วคุณอ๊บเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ยังไง
“โควิดมาทุกอย่างหยุดนิ่ง ตอนนั้นบอกตรงๆ ว่าผมก็เริ่มฟุ้งซ่าน จนตัดสินใจไปเที่ยวพักสมองทางเหนือ ได้ไปลองชิมข้าวแรมฟืน อาหารท้องถิ่นของชาวเหนือ ที่ใช้ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบหลักในการทำ รสชาติจะออกมันๆ คล้ายกับเฟรนช์ฟราย ทำให้ผมสนใจและกลับมาดูว่าข้าวแรมฟืนใช้ถั่วอะไรทำบ้าง ก็ใช้หลายถั่วหลายอย่างเลยตามที่หาข้อมูลมาได้ยกเว้น “ถั่วเขียว” ตรงนี้แหละกลายเป็นจุดประกายไอเดียทำให้เราเลือกที่จะใช้ ถั่วเขียว มาเป็น สินค้าแปรรูป ตัวต่อไปของเรา ให้สวนทางกับผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่มักจะใช้ถั่วเหลืองในการทำมากกว่า เพื่อสร้างความแตกต่าง”

“ถั่วเหลือง” กับ “ถั่วเขียว” แตกต่างกันยังไง?
“ถั่วเหลือง กับ ถั่วเขียว เป็นความเหมือนที่แตกต่าง เหมือนเป็นแฝดคนละฝา แต่คนไม่ค่อยรู้ และมีกระบวนการนำมาแปรรูปค่อนข้างยาก ตอนแรกผมก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมไม่ค่อยมีใครเอาถั่วเขียวมาแปรรูป ที่เห็นชัดๆ จะมีแค่วุ้นเส้น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล หรือนำไปทำเป็นแป้ง ผมเลยอยากได้ถั่วเขียวมาทดลองทำ ‘เฟรนช์ฟราย’ แต่พอได้ลองทำก็รู้แล้วว่าทำไมเขาไม่นิยมนำถั่วเขียวมาแปรรูป ก็เพราะว่าทำยาก และทำให้อร่อยยาก เพราะวถั่วเขียวมีไขมันต่ำมากๆ ยกตัวอย่างถั่วเขียว 100 กรัม จะมีไขมันแค่ 1 กรัม เมื่อเปรียบเทียบกับถั่วเหลืองในปริมาณ 100 กรัมเท่ากัน ถั่วเหลืองจะมีไขมันมากถึง 40 กรัม ไขมันต่างกันมาก ตรงนี้กลายเป็นข้อดีได้อีกเช่นกัน เพราะไม่มีน้ำมันก็กลายเป็นจุดขายของกลุ่มคนรักสุขภาพ เลยคิดว่าถ้าผมนำถั่วเขียวมาทำเฟรนช์ฟรายได้สำเร็จก็หล่อเลย”
อําเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ แหล่งวัตถุดิบสำคัญ
“ถั่วเขียว ที่เรานำมาทำเฟรนช์ฟรายมีแหล่งที่มาจากกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เดือนละประมาณ 5 ตัน ปลูกแบบอินทรีย์ใส่ใจทุกขั้นตอน เพราะวัตถุดิบที่ดีมีความสำคัญต่อกระบวนการผลิตมากๆ เฟรนช์ฟรายถั่วเขียว ของเราได้ใช้เทคนิคการผสมผสานถั่วเขียวกว่า 4 สายพันธุ์ไว้ด้วยกัน คัดแล้วคัดอีก แม้กระทั่งขนาดของเมล็ดถั่วเขียวเรายังคัดเลยว่าพันธุ์ไหนต้องการเมล็ดใหญ่ หรือพันธุ์ไหนต้องการเมล็ดเล็ก เพราะขนาดของเมล็ดพันธุ์มีส่วนสำคัญกับรสชาติมากๆ ในการทำให้เฟรนช์ฟรายถั่วเขียวของเราออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด”
จากนั้นพอได้วัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพคัดมาแล้วทุกเมล็ด ถัดมาคือกระบวนการผลิต
“เริ่มจากการรับวัตถุดิบมาจากเพชรบูรณ์ ขนส่งเข้ามาในโรงงงาน กระบวนการแรกคือการล้างทำความสะอาด ล้างเสร็จเอาถั่วไปปั่น เสร็จแล้วเทกรองเอากากออก แล้วเอาเฉพาะน้ำถั่วเขียวที่ได้ไปเข้าเครื่องกวนโดยใช้ความร้อน กวนจนถั่วเขียวขึ้นรูป จากนั้นนำไปเทใส่บล็อก ปาดหน้าให้เรียบ เข้าเครื่องซีลไว้ 1 คืน ออกมาเป็นแผ่นวุ้น นำมาตัดเป็นแท่ง ทำการพรีไฟล์หรือทอดเบื้องต้น ทอดเสร็จแล้วเข้าห้องเย็น เตรียมสู่ขั้นตอนการบรรจุต่อไป นี่คือขั้นตอนการผลิตเฟรนช์ฟรายถั่วเขียวเบื้องต้น”

แล้วถ้าพูดถึงในแง่ของการเพิ่มมูลค่า “ถั่วเขียว” เป็น “เฟรนช์ฟราย” มูลค่าเพิ่มกี่เท่า
“การเพิ่มมูลค่าจากถั่วเขียวมาเป็นเฟรนช์ฟรายเราเพิ่มได้เป็น 10 เท่า แล้ว 10 เท่ามาจากไหน อย่างเฟรนช์ฟรายแช่แข็งที่เราขายอยู่ตอนนี้ราคาถึงละ 129 บาท บรรจุถุงละ 500 กรัม ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 500 กรัม ใช้วัตถุดิบคือถั่วเขียวไม่ถึง 100 กรัม แล้วย้อนกลับไปว่าสมมุติถั่วเขียวที่เรารับซื้อมากิโลละ 40 บาท ถั่วเขียว 1 กิโลกรัม ทำเฟรนช์ฟรายได้ 3 กิโลกรัม แล้วเอาไปรวมต้นทุนอื่นๆ ไม่มาก ก็สามารถเพิ่มมูลค่าได้เกิน 10 เท่า”
เมื่อถั่วเขียวกลายเป็น Snack Hero
“เมื่อเรารู้แล้วว่าข้อดีของถั่วเขียวมีอะไรบ้าง หนึ่งคือไขมันต่ำมากๆ เราก็ไม่หยุดอยู่แค่นั้น ก็เอามาต่อยอดมองไปถึงแวลู่โปรดักส์ มองไปถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์ และต้องการทลายกำแพงที่หลายคนชอบพูดว่า “เฟรนช์ฟราย” เป็นจังก์ฟู้ด หรืออาหารขยะ แต่ในทางกลับกันถั่วเขียวที่เราทำอยู่ตอนนี้มีประโยชน์มากมายสามารถเรียกว่า “ถั่ววิเศษ” ได้เลย เพราะถั่วเขียวเป็นพืชที่ปลูกได้ทั่วประเทศ เป็นถั่วที่คนไทยมีความคุ้นเคย และประเด็นสำคัญที่แตกต่างไปจากถั่วหลายชนิดเลยคือไขมัน ถั่วเขียวมีไขมันต่ำมาก มีไฟเบอร์ มีโปรตีน และไม่มีสารก่อภูมิแพ้ คนแพ้ถั่วกินได้ เมื่อไปเปรียบเทียบกับเฟรนช์ฟรายทั่วไป ที่มีทั้งคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน โซเดียม แต่ในถั่วเขียวจะมีน้อยกว่าเฟรนช์ฟรายปกติเท่าหนึ่ง ดังนั้น ถ้าใครอยากหาของกินเล่นแต่ไม่อยากเสียสุขภาพ ZENFRY เฟรนช์ฟรายจากถั่วเขียวถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี ถั่วเขียวจึงกลายเป็นฮีโร่ทั้งกับเรา และกับผู้บริโภคด้วย”

แต่ถ้าจะบอกแต่ปากอย่างเดียวคงไม่ได้ มาตรฐานก็เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งในแง่ของการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และการต่อยอดการตลาด คุณอ๊บอธิบายเพิ่มเติมว่า
“พอรู้แล้วว่าถั่วเขียวของเราเจ๋งแค่ไหน ก็นำมาสู่การเริ่มทำมาตรฐานเพื่อการทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่การทำมาตรฐานโรงงาน มาตรฐาน อย. มาตรฐานฮาลาล มาตรฐาน HACCP และอีกเครื่องหมายการค้าที่เจ้าของธุรกิจควรรู้ ก่อนที่จะส่งออกหรือเปิดแฟรนไชส์ทั้งในและต่างประเทศ คือการทำเครื่องหมายการค้า (TRADEMARK) เพราะในวันหนึ่ง SME ที่เป็นโลคอลอย่างเรา อยากจะขยับขยายเป็นโกลบอล การติดกระดุมให้ถูกตั้งแต่เม็ดแรกถือเป็นเรื่องสำคัญ ก็เปรียบได้เหมือนกับการทำธุรกิจถ้าอย่างเติบโตไปต่างประเทศ ก็ต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ซึ่งตอนนี้แบรนด์ ZENFRY ของเราได้ทยอยจดลิขสิทธ์เครื่องหมายการค้าครอบคลุมเกือบทั่วโลกแล้ว ปีหน้าตั้งเป้าส่งออกเฟรนช์ฟรายถั่วเขียวสัญชาติไทยไปทั่วโลก”
หมายความว่าถ้าเราไม่จดตั้งแต่วันนี้…แล้ววันหน้าจะทวงคืนยังไงใช่ไหม คุณอ๊บยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นอีกว่า
“ทุกวันนี้การขายแฟรนไชส์มีเยอะมาก แต่อย่างที่บอกว่าแบรนด์เราเป็นแบรนด์โลคอล ที่กำลังพัฒนาสู่โกลบอล แต่ความเป็นโกลบอลลิขสิทธิ์ทุกอย่างต้องคุ้มครองจริงๆ ซึ่ง SME ในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่เจ้าที่ทำ แต่เราก็ต้องบอกว่าถ้าเราทำแล้วเราอาจจะไม่สำเร็จก็ได้ แต่ก็ขอเดินในกรอบที่ถูกต้อง อย่างชื่อแบรนด์ของเรา ZENFRY ถ้าทำแล้วดังขึ้นมา แล้ววันรุ่งขึ้นมีคนมาใช้ชื่อนี้ แล้วปรับโลโก้นิดหน่อยเราก็ไม่สามารถฟ้องเขาได้ เพราะฉะนั้นเครื่องหมายการค้าก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของเรา เหมือนการเอาเก็บเข้าไปไว้ในตู้เซฟ ที่นี้ใครจะใช้ชื่อ ZENFRY ไม่ได้
และยิ่งสำคัญมากๆ หากเราจะทำส่งออกต่างประเทศ ยกตัวอย่างวันนี้ ZENFRY ส่งเฟรนช์ฟรายแช่แข็งไปต่างประเทศ แล้วแบรนด์เราไม่ได้จดเครื่องหมายการค้า แล้วของเราติดตลาดขึ้นมา เจ้าของประเทศเห็นว่าแบรนด์เรายังไม่ได้ทำ
เครื่องหมายการค้าในประเทศเขา แล้วเขาไปจดเองก็กลายเป็นว่าเราไปลอกเลียนแบบของเขาทันที จึงเป็นสิ่งที่อยากย้ำกับเกษตรกรและ SME ที่กำลังจะขยับขยายสินค้าไปต่างประเทศ อยากให้แบรนด์ไปสู่ระดับโกบอลจริงๆ เรื่องการจดลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางภูมิปัญญาถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ และเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง และอยากจะบอกว่าเราเป็น SME ตัวเล็ก ที่ค่อยๆ เดินเรื่อยๆ บางทีคลานบ้าง ในปีนี้เรามั่นใจว่าเราผ่านการคลานมาแล้ว ครึ่งปีต่อไปเราก็พร้อมที่จะวิ่ง ตอนนี้ทุกอย่างเราแต่งตัวครบแล้ว แม้กระทั่งมาสคอตเราก็จดเทรดมาร์ค จดลิขสิทธิ์การออกแบบ เราจดทั้งหมด”
เมื่อพูดคุยกันถึงที่มาและสิ่งสำคัญในการต่อยอดธุรกิจเกษตรกันไปแล้วเชื่อว่า ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบน่าจะได้แง่คิดในการทำธุรกิจหลายแง่มุม เมื่อในอนาคตหากเดินหน้าส่งออกต่างประเทศได้จำนวนมาก จะเป็นการพลิกวงการถั่วเขียวของไทยยังไงบ้าง
“หากในอนาคต ZENFRY ไประดับโกลบอลแล้วได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย เราจะเป็นเหมือนต้นแบบให้คนไทยมีอาชีพ มีรายได้มากขึ้น โดยที่ไม่ต้องซื้อแฟรนไชส์ของเราไปก็ได้ แต่ถ้าเขาเห็นเราเป็นต้นแบบ เป็นไอเดีย ก็สามารถเอาไปทำขายในชุมชนของตัวเอง หรือสร้างอาชีพภายใต้แบรนด์ของตัวเองได้ เราก็ไม่หวงในองค์ความรู้ภูมิปัญญาเรา เราหวังแค่ว่าถ้าวันนี้เราไปถามเด็ก หรือใครสักคน ว่าถั่วเขียวเอาไปทำอะไรได้บ้าง แล้วมีคนตอบมาว่าเอาไปทำเฟรนช์ฟรายเท่านี้ผมก็พอใจ แล้วคนที่ทำก่อนให้นึกถึงเรา แต่เบอร์ 2 อาจจะดังกว่าเราก็ได้”

ปัจจุบัน ZENFRY มาไกลขนานไหน และมีแผนพัฒนาต่อยอดถั่วเขียว และสินค้าอื่นๆ ไปในทิศทางไหนบ้าง
“ต้องบอกว่าต้องแต่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 63 เริ่มขายจริงได้ปี 65 ผลิตภัณฑ์แรกคือเฟรนช์ฟรายแช่แข็ง แล้วก็มีการปรับสูตรมาเรื่อยๆ จนในปี 67 เราต่อยอดเปิดหน้าร้านขายเฟรนช์ฟรายทอดในห้างสรรพสินค้า ภายใต้แบรนด์ ZENFRY มีกลุ่มลูกค้าตั้งแต่ผู้สูงวัยไปถึงเด็กวัยประถม และลูกค้าที่มากันเป็นครอบครัว มีการเติบโตทั้งด้านยอดขายและการตลาด ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ใน 4 เดือนแรกมียอดขาย 4 แสนบาทต่อเดือน มาในปีนี้ยอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็น 900,000-1,000,000 บาทต่อเดือน ยังไม่รวมกับเฟรนช์ฟรายแช่แข็ง และในอนาคตมีแผนพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปชนิดอื่นๆ แต่ว่าการทำต่อไปของเราต้องการพาร์ตเนอร์ละ อย่างล่าสุดเรามีผู้ประกอบการที่เลี้ยงไข่ผำ แล้วเอาไข่ผำให้เราทดลองทำเฟรนช์ฟรายไข่ผำ พอเขาได้กินแล้วชอบมากๆ ขั้นตอนต่อไปก็มาดูว่าจะต่อยอดไปในทิศทางไหน”
พูดคุยกันมาถึงขนาดนี้ อยากให้คุณอ๊บช่วยฝากข้อคิดถึงเกษตรกรและผู้ประกอบการที่กำลังจะกระโดดเข้ามาเส้นทางสายนี้กันหน่อย
“ก่อนอื่นต้องถามตัวเองก่อนว่า เราชอบจริงๆ ไหม เพราะหนึ่งในความชอบคือแพชชั่นของเรา มันจะเป็นกุญแจสำคัญพาเราไปสู่ความสำเร็จ แต่ว่าระหว่างทางหลังจากที่เราชอบแล้วเราต้องมีการเรียนรู้และพัฒนาอยู่เสมอ อย่าหยุดการเรียนรู้ อย่าหยุดการพัฒนาตัวเอง คือความรู้เราต้องหมั่นศึกษาเพิ่มเติมทุกวัน ส่วนองค์ความรู้ก็ได้มาจากหลายๆ ที่ บางคนมีแพชชั่น แต่ไม่ได้ไปศึกษาองค์ความรู้เพิ่มเติมก็ไม่ทันเทรนด์หรือความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันว่าต้องการอะไร สุดท้ายอย่าทิ้งเรื่องที่ ZENFRY พยายามทำมาตลอด คือทำสิ่งที่ถูกต้องตั้งแต่แรก ลิขสิทธิ์แบรนด์ที่อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับลิขสิทธิ์ทางปัญหา เพราะไม่ฉะนั้นสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดอาจจะโดนลอกเลียนแบบไปอย่างง่ายดาย เราทำมา 10 ปี แต่โดนขโมยไปใน 7 วัน อย่าลืมให้ความสำคัญตรงนี้ด้วย ถ้าเกิดคิดที่จะทำธุรกิจเกษตร” คุณอ๊บกล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจ เป็นข้อฉุกคิดสำหรับคนที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจเกษตรได้เป็นอย่างดีในข้อความเพียงไม่กี่บรรทัด