เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
พืชทำเงิน Featured

เทคนิคเสียบยอดมะม่วง เปลี่ยนเป็นพันธุ์ดี เปลี่ยนวิถีชีวิต ผลผลิตทวี มีรายได้มั่นคง

มะม่วงน้ำดอกไม้…ผลสุกมีรสหวาน หอม กินกับข้าวเหนียวมูนเลิศรสยิ่งนัก เป็นหนึ่งอาหารคู่ครัวไทยมานานปี บางครัวเรือนพอมีพื้นที่บ้าง จึงมักจะปลูกมะม่วงไว้บริโภค แต่บางคนที่มีสวนแต่กลับปล่อยสวนมะม่วงให้เสื่อมโทรมด้วยการออกไปทำงานนอกบ้าน เมื่อไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จดังที่หวังไว้ สุดท้าย กลับมาฟื้นฟูสวนมะม่วงด้วยการเสียบยอดเพื่อเปลี่ยนเป็นมะม่วงพันธุ์ดี มีการปฏิบัติดูแลรักษาที่ดี ทุกสิ่งอย่างดีวันดีคืน มีผลมะม่วงให้เก็บขาย มีรายได้พอเพียงต่อการยังชีพ และได้เดินตามรอยพ่อ สู่เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อมีวิถีที่มั่นคงได้ดังหวัง

ดร. รุจิพัชร บุญจริง เกษตรจังหวัดสิงห์บุรี เล่าให้ฟังว่า จังหวัดสิงห์บุรี มีพื้นที่ปลูกพืชสวน 17,759 ไร่ จากพื้นที่ทำการเกษตร 381,559 ไร่ มะม่วงเป็นไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดสิงห์บุรี มีพื้นที่ปลูกมะม่วง 871 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 469 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิต 346 ไร่ ได้ผลผลิต 234,441 กิโลกรัม ได้ผลมะม่วงเฉลี่ย 499.87 กิโลกรัม ต่อไร่ เกษตรกรขายผลผลิตได้เฉลี่ย 24.50 บาท ต่อกิโลกรัม ราคานี้เปลี่ยนแปลงได้ตามกลไกของตลาด

ดร.รุจิพัชร บุญจริง เกษตรจังหวัดสิงห์บุรี ส่งเสริมปลูกมะม่วงพันธุ์ดี

การพัฒนาการผลิตมะม่วง ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกและผลิตในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP เพื่อให้ได้ผลผลิตดี มีคุณภาพ ให้มีการจัดการสวนที่ดีด้วยการใช้ที่ดิน เงินทุน แรงงาน หรือใช้ปัจจัยการผลิตผสมผสานเพื่อลดต้นทุนการผลิต และทำให้ได้รับผลตอบแทนมากขึ้น

การขยายพันธุ์ปลูก ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเสียบยอดมะม่วง เพื่อเปลี่ยนเป็นมะม่วงพันธุ์ดี เป็นหนึ่งวิธีการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เป็นหนึ่งวิธีลดต้นทุนการผลิตเมื่อได้ดำเนินการเสียบยอดด้วยตนเอง มีวิธีการง่ายๆ คือ นำยอดพันธุ์ดีมาเสียบกับต้นตอหรือกิ่งของต้นพันธุ์ไม่ดี เมื่อรอยแผลของยอดพันธุ์ดีกับต้นตอเชื่อมติดกันดีแล้ว ก็จัดการดูแลใส่ปุ๋ยให้น้ำพอเพียง ต้นมะม่วงและยอดพันธุ์ดีเจริญเติบโตก็จะมีผลมะม่วงให้เก็บเกี่ยวได้ภายใน 1 ปี และให้ผลผลิตนานหลายปี เมื่อเกษตรกรมีการปฏิบัติดูแลรักษาที่ดีและเหมาะสม

คุณแรงเทียน หัวไผ่ เกษตรกรเสียบยอดเปลี่ยนเป็นมะม่วงพันธุ์ดี เล่าให้ฟังว่า วิถีชีวิตคนเรานั้นมีขึ้นมีลง มีผิดหวังและสมหวัง ดังเช่นก่อนหน้านี้ พ่อ-แม่ได้มอบสวนมะม่วงที่สร้างไว้ให้ดูแลรักษาต่อ แต่อยากจะรวยไวๆ จึงได้ปล่อยทิ้งสวนมะม่วงแล้วเข้าไปทำงานในเมือง หวังจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำเพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่เป็นอย่างที่หวังสุดท้าย ก็ลาออกจากงาน หันหลังคืนกลับมาสู่เย้าเข้าพัฒนาฟื้นฟูสวนมะม่วงขึ้นมาใหม่ ผกผันจริงๆ

มรดกที่พ่อ-แม่ให้เป็นพื้นที่ปลูกพืชสวน 12 ไร่ แบ่งเป็นปลูกกล้วย 2.5 ไร่ ปลูกพืชผัก 1 ไร่ ปลูกไม้ผลหลายชนิดรวมกัน ได้แก่ มะละกอ ขนุน ฝรั่ง มะปราง มะยงชิด อกร่อง และเขียวเสวย ปลูกชนิดละ 2-3 ต้น พื้นที่ 1.5 ไร่ และปลูกมะม่วงแก้วรวมกับมะม่วงพันธุ์พื้นบ้าน พื้นที่ 7 ไร่

คุณแรงเทียน หัวไผ่ เกษตรกรเสียบยอดเปลี่ยนเป็นมะม่วงพันธุ์ดี

พื้นที่ 7 ไร่ ที่ปลูกมะม่วงแก้วรวมกับมะม่วงพื้นบ้านได้ยกร่องแปลงปลูกกว้าง 3-4 เมตร ระยะห่างระหว่างแปลงปลูก กว้าง 2.5 เมตร ปลูกกลางร่องแปลงให้ต้นมีระยะปลูกห่างกัน 3×3 เมตร ปลูกมะม่วงได้กว่า 240 ต้น

การพัฒนาฟื้นฟูสวนมะม่วงขึ้นมาใหม่ เนื่องจากมีเงินทุนน้อย จึงได้เริ่มต้นในช่วงก่อนลาออกจากงานปีกว่า ด้วยการไปซื้อกิ่งหรือต้นพันธุ์มะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 จากจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแหล่งพันธุ์ดีปลอดภัยจากโรคมาปลูก 3 ต้น ระหว่างนี้ต้องขึ้นล่องทั้งเพื่อทำงานและมาปฏิบัติดูแลสวนมะม่วงและต้นพันธุ์มะม่วงที่ปลูกใหม่

แปลงปลูกมะม่วงเสียบยอดเพื่อเปลี่ยนเป็นมะม่วงพันธุ์ดี

การขยายพันธุ์ด้วยเงินทุนที่มีน้อย ได้เสียบยอดเพื่อเปลี่ยนเป็นมะม่วงพันธุ์ดี เมื่อต้นพันธุ์มะม่วงที่ซื้อมาปลูกแตกกิ่งก้านเจริญเติบโตสมบูรณ์ ได้เริ่มทยอยตัดยอดไปเสียบกับกิ่งหรือต้นตอ ครั้งแรกได้เสียบยอดกระจายไปที่ต้นมะม่วง 3 ต้น ได้ 50 กิ่ง หรือต้นตอ แล้วพักต้น 2-3 เดือน เพื่อให้ต้นมะม่วงเจริญเติบโตแตกยอดออกมาใหม่ ครั้งที่ 2 นี้เสียบยอดไปได้เกือบ 100 กิ่ง หรือต้นตอ แล้วพักต้น 2-3 เดือน เมื่อต้นมะม่วงเจริญเติบโตแตกยอดออกมาใหม่ ก็ได้ตัดยอดไปเสียบกับกิ่งหรือต้นตอเพิ่มอีก และได้ทยอยทำเช่นนี้ไปกระทั่งเสียบยอดได้มากกว่า 600 กิ่ง หรือต้นตอ

วิธีการเสียบยอด เป็นการขยายพันธุ์พืชแบบไม่อาศัยเพศ เป็นการเสียบยอดเพื่อเปลี่ยนจากพันธุ์ไม่ดีให้ได้มะม่วงพันธุ์ดี วิธีการมีดังนี้ เลือกกิ่งต้นตอแล้วตัดปลายกิ่งออก ผ่าที่กึ่งกลางกิ่งให้เป็นรูปลิ่ม ยาว 3-4 เซนติเมตร นำยอดมะม่วงพันธุ์ดีที่ตัดมาเฉือนปลายโคนเป็นรูปลิ่ม ยาว 3-4 เซนติเมตร แล้วเสียบเข้าไปให้รอยแผลตรงกัน พันผ้าพลาสติกให้รอบรอยแผลโดยทั่วแต่พอแน่น หรือจะใช้วิธีเสียบข้างก็ได้ ด้วยการเลือกต้นตอขนาดใหญ่พอเหมาะแล้วผ่าถึงเนื้อไม้ ยาว 3-4 เซนติเมตร เพื่อลอกเปลือกด้านข้างเปิดออก นำยอดพันธุ์ดีที่เตรียมมาเสียบให้รอยแผลตรงกันพันด้วยผ้าพลาสติกให้รอบแผลแต่พอแน่น ภายใน 5-7 วัน รอยแผลจะประสานเชื่อมติดกันสนิท ก็จะได้มะม่วงพันธุ์ดี

เลือกและตัดปลายกิ่งตอขนาดพอเหมาะเพื่อนำยอดพันธุ์ดีมาเสียบเปลี่ยนยอดใหม่

คุณแรงเทียน หัวไผ่ เกษตรกรเสียบยอดเปลี่ยนเป็นมะม่วงพันธุ์ดี เล่าให้ฟังอีกว่า หลังการเสียบยอด ได้ปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาต้นด้วยการแบ่งใส่ปุ๋ยปีละ 3 ครั้ง หว่านรอบทรงพุ่มแล้วให้น้ำแต่พอชุ่มทุกครั้ง ก็จะช่วยทำให้ต้นมะม่วงเจริญเติบโตสมบูรณ์และได้ผลมะม่วงคุณภาพให้เก็บเกี่ยว

ยอดมะม่วงพันธ์ดีนำมาเฉือนให้เป็นรูปลิ่มยาว 3 4 เซนติเมตร

 

เสียบยอดมะม่วงพันธ์ดีเข้ากับรอยแผลของกิ่งตอแล้วพันด้วยผ้าพลาสติก
ห่อผลมะม่วงให้ผิวสีสวยได้คุณภาพ

การเก็บผลผลิต ต้นมะม่วงที่เสียบยอดเปลี่ยนเป็นมะม่วงพันธุ์ดีใน 1 ปี ที่มีการใส่ปุ๋ยและน้ำอย่างพอเพียง หรือป้องกันกำจัดโรคแมลงที่ดี ต้นเจริญเติบโตสมบูรณ์ ในปีแรกเก็บผลมะม่วงได้มากกว่า 100 ผล ต่อต้น ในปีถัดไปก็ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มะม่วงที่ได้มีขนาดใหญ่ เฉลี่ย 3 ผล ต่อกิโลกรัม นำออกขายได้ราคาเฉลี่ย 25-35 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาซื้อขายนี้มีการเปลี่ยนแปลงได้ตามกลไกของตลาด แต่ก็เป็นรายได้ที่พอเพียงในการยังชีพ

การได้เดินตามรอยพ่อ สู่เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อวิถีที่มั่นคง เป็นความภาคภูมิใจคือ การกล้าตัดสินใจลาออกจากงานในเมืองแล้วเลือกมาเสียบยอดเปลี่ยนเป็นมะม่วงพันธุ์ดี เป็นการลงทุนน้อย แต่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ได้เป็นเจ้านายตัวเอง กล้าคิดกล้าทำมากขึ้น ต้องขอบคุณคำแนะนำที่ดีจากนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร เพื่อนเกษตรกร และจากสื่อต่างๆ ที่สำคัญคือการเสียบยอดมะม่วงด้วยตนเอง พร้อมสมาชิกในครอบครัวได้ทำให้ได้ผลมะม่วงพันธุ์ดีมีคุณภาพ ผลผลิตทวี มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ และทำให้สามารถก้าวเปลี่ยนสู่วิถีให้มีความมั่นคง

เรื่องราวการ เสียบยอดมะม่วง…เปลี่ยนเป็นพันธุ์ดี เปลี่ยนวิถีชีวิต ผลผลิตทวี มีรายได้มั่นคง เป็นการใช้เงินทุนน้อยไปซื้อกิ่งมะม่วงพันธุ์ดีมาเปลี่ยนมะม่วงพันธุ์ไม่ดีให้เป็นมะม่วงพันธุ์ดี ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตให้ยังชีพได้แบบพอเพียงและมั่นคง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณแรงเทียน หัวไผ่ เลขที่ 39/1 หมู่ที่ 14 ตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี โทร. (080) 019-5147 หรือที่ คุณเพชรรัตน์ วงค์ธานี สำนักงานเกษตรจังหวัดสิงห์บุรี โทร. (036) 813-489 ก็ได้ครับ

Related Posts