เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

‘กรมปศุสัตว์’ ปล่อยคาราวานพ่นยาฆ่าเชื้อ ‘อหิวาต์สุกร’ หลังเวียดนามระบาด

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 มีนาคม ที่ห้องประชุมโรงแรมอัศวรรณ อ.เมืองหนองคาย นสพ. สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ระหว่างตัวแทนปศุสัตว์ชายแดน ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา จากนั้นได้ปล่อยขบวนคาราวานความร่วมมือเฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ขบวนรถเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษออกพ่นยาฆ่าเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรตามแนวชายแดน

นสพ. สรวิศ กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเกิดขึ้นหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นโรคระบาดสัตว์สำคัญที่เกิดกับสุกร มีอัตราการป่วยและการตายสูง ปัจจุบันมีรายงานการเกิดโรคในหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนพบการระบาดของโรคอย่างรุนแรง ล่าสุดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีรายงานการเกิดโรคที่เวียดนาม ซึ่งไทยตรวจพบการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกรที่ผลิตจากเวียดนามโดยผ่านประเทศลาวเข้ามาทางจังหวัดนครพนม

กรมปศุสัตว์ จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมกับด่านกักกันสัตว์ในพื้นที่เข้าปฏิบัติงานตรวจค้นจับกุมการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์โดยเฉพาะสุกร ในพื้นที่ 7 จังหวัดชายแดน ที่ติดกับ สปป.ลาว ได้แก่ เลย นครพนม มุกดาหาร หนองคาย บึงกาฬ และอุบลราชธานี ปฏิบัติงานลาดตระเวนตรวจค้นจับกุมการลักลอบนำเข้าสัตว์ ซากสัตว์ บริเวณจุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว และช่องทางธรรมชาติ ตรวจสอบการเคลื่อนย้ายและการค้าสัตว์ ซากสัตว์ ตามตลาดในพื้นที่ชายแดนไทยลาว

นสพ. สรวิศ ในครั้งนี้ได้มีการหารือกับประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม เพื่อหามาตรการป้องกันให้ประเทศในภูมิภาคปลอดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร การปล่อยขบวนคาราวานฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อตามแนวชายแดนครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะพื้นที่ชายแดนมีความเสี่ยงในการเลี้ยงสุกรแบบปล่อย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติที่เข้มแข็ง ทางปศุสัตว์ได้ทำคู่มือให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ผ่านทางจังหวัดและปศุสัตว์จังหวัดต่างๆ

“โรคนี้คล้ายกับโรคอหิวาต์ธรรมดา แต่มีอัตราการป่วยตายสูง เป็นโรคที่ไม่ติดคน ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน เชื้อทนทานต่อความร้อน อัตราการตายสูง กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยทางชีวภาพ ส่วนผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยได้ดำเนินการให้ความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลได้ยกระดับโรคนี้เป็นวาระแห่งชาติทุกหน่วยงานราชการต้องช่วยกัน ประชาชนยังไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะเป็นโรคที่ไม่ติดคน แต่ติดในสุกรอย่างเดียว” นสพ. สรวิศ กล่าว

Related Posts