เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News พืชทำเงิน

“เทพสถิต สวนอินทผาลัม” ที่ชัยภูมิ จัดสวนดี ปลูกมีระบบ หมดกังวลเรื่องคุณภาพ แม้อากาศแปรปรวน

ความนิยมบริโภคอินทผลัมในบ้านเราขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ เนื่องจากได้รับความสนใจจากตลาดผู้บริโภคในทุกระดับ นำไปสู่การสร้างรายได้ให้ผู้ปลูกเป็นอย่างดี ผู้ปลูกอินทผลัมในระยะแรกยังมีไม่มาก เป็นรุ่นบุกเบิกที่กล้าได้กล้าเสีย เพราะคิดว่าเป็นพืชตัวใหม่ที่ต้องเติบโตในอนาคต แต่ภายหลังตลาดมีความชัดเจนและมีราคาขายที่สู้ได้ จึงทำให้เกิดผู้ปลูกรายใหม่หลายพื้นที่ทั่วประเทศ แล้วยังพัฒนาเป็นกลุ่มก้อนคนรุ่นใหม่ที่ศึกษาวิธีปลูกอย่างละเอียด พร้อมดึงสื่อโซเชียลนำการขาย ตลอดจนสร้างมูลค่าอินทผลัม จากเพียงบริโภคผลสดไปสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ ตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภคได้ทุกความต้องการ

“เทพสถิต สวนอินทผาลัม” ตั้งอยู่ เลขที่ 212 หมู่ที่ 12 ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ดูแลโดยคุณภีมพัฒน์ ภาณุพลเพชรรัตน์ หรือ คุณแจ็ค เป็นสวนอินทผลัมบนพื้นที่ จำนวน 15 ไร่ ปลูกอินทผลัมผลสดพันธุ์บาฮีเป็นหลัก นับเป็นสวนที่ดูแลบริหารจัดการได้อย่างมีระบบ ทั้งเรื่องปุ๋ย น้ำ การป้องกันศัตรูพืช จนทำให้สวนอินทผลัมน้องใหม่แห่งนี้สามารถสร้างผลผลิตได้อย่างสมบูรณ์ มีคุณภาพ แม้สภาพอากาศในปีนี้จะแปรปรวน

คุณภีมพัฒน์ ภาณุพลเพชรรัตน์ หรือคุณแจ็ค เจ้าของ “เทพสถิต สวนอินทผาลัม”

คุณแจ็ค ทำธุรกิจทัวร์ที่นำนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาเที่ยวเมืองไทย เหตุผลที่มาทำสวนอินทผลัมแห่งนี้เพราะมีความชอบงานเกษตร แม้ไม่ค่อยมีความรู้มากนัก แต่ด้วยความมีใจรักและสนใจ พอมาซื้อที่ดินไว้จึงทดลองปลูกพืชไร่ตามอย่างชาวบ้านก่อน ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง หรือข้าวโพด ปรากฏผลได้ดี แต่มองว่าพืชดังกล่าวไม่ใช่แนวทางที่ชอบ

เนไมชิ (NEMEISHI)
ซุคการี่ (SUKKARI)

การเข้าสู่วงการอินทผลัมของคุณแจ็ค เริ่มต้นเมื่อได้รู้จักกับบุคคลที่ปลูกอินทผลัมแถบวิเชียรบุรี พูดคุยถูกคอกันเลยชักชวนให้ปลูกอินทผลัมเนื้อเยื่อ เพราะซื้อพันธุ์มาจากต่างประเทศ จากนั้นจึงซื้อมาปลูก จำนวน 20 สายพันธุ์อาทิ เนไมชิ (NEMEISHI) ซุคการี่ (SUKKARI) อัมเอดดาฮาน (UM ED DAHAN) อัจวะห์ (AJWAH) ฟาร์ด (FARD) ฯลฯ
โดยทุกสายพันธุ์ คุณแจ็ค จะทดลองปลูกเพื่อทดสอบหาความเหมาะสมในเรื่องปุ๋ย สภาพแวดล้อม อากาศ ปริมาณน้ำ ก่อนนำมาสรุป เพื่อใช้สำหรับการพิจารณาให้แน่ใจว่าพันธุ์ใดเหมาะรับประทานสด หรือบางพันธุ์เหมาะรับประทานแห้ง แล้วควรจะใช้ประโยชน์ทางการค้าต่อไป

อัมเอดดาฮาน (UM ED DAHAN)
อัจวะห์ (AJWAH)

วีธีการปลูก

เริ่มด้วยการเตรียมหลุมปลูกด้วยรถแบ๊คโฮขุดเพื่อลดการใช้แรงงาน อีกทั้งประหยัดเวลา พอขุดดินขึ้นมาแล้วปรุงกับวัตถุอินทรีย์หลายชนิด คลุกเคล้าให้ทั่ว จากนั้นนำต้นพันธุ์ที่อนุบาลไว้ก่อนประมาณ 6 เดือน ลงปลูกในหลุมแล้วใช้ดินที่ปรุงกลบลงไป ส่วนผสมดินปลูก จะเน้นในเรื่องอินทรีย์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นขี้วัว ขี้ไก่ แกลบ สำหรับอัตราส่วนที่แน่นอนยังไม่นิ่ง แต่จะดูความเหมาะสมของคุณภาพดิน โดยกำหนดระยะปลูกทั่วไป ประมาณ 8×8 เมตร แต่ถ้าเกรงว่าจะชิดไป ก็ขยับเป็นระยะ 10×10 เมตร

คาดราวี่ (KHADRAWY)
แซมลี่ (ZAMBLI)

หลังจากปลูกแล้วต้องให้น้ำและปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญ ควรคำนึงถึงปริมาณการให้น้ำที่เหมาะสมในแต่ละวัน อย่าขาดน้ำเด็ดขาด ขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำว่าเพียงพอในระยะยาวหรือไม่ อย่างในสวนคุณแจ็คจะคำนวณปริมาณการให้น้ำตามอายุต้น หากอายุน้อยจะให้ประมาณ 30-40 ลิตร ต่อต้น ต่อวัน แต่หากอายุมากขึ้นจึงปรับเพิ่มปริมาณน้ำตามสัดส่วนที่เหมาะสม ที่สำคัญในช่วงติดผลต้องให้น้ำทุกวัน ปริมาณ 150 ลิตร ต่อต้น ต่อวัน

“เพราะถ้าขาดน้ำหรือปริมาณน้ำไม่เหมาะสม เกรงว่าจะมีปัญหาตามมาภายหลัง จึงต้องให้ความสำคัญกับการให้น้ำไว้ก่อน เคยพบว่า บางสวนรอน้ำฝนเพื่อต้องการประหยัด แต่ถ้าวันนั้นฝนไม่ตกแล้วรดน้ำภายหลังจะเกิดปัญหาขาดน้ำ คราวนี้เดือดร้อนไปถึงผลผลิต”

บริเวณภายในสวนต้องสะอาดและมีระเบียบ

ให้ปุ๋ยอย่างไร

คุณแจ็ค บอกว่า การดูแลใส่ปุ๋ยจะต้องให้ครบทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ทุกส่วนของลำต้นมีความสมบูรณ์ มีดอกสมบูรณ์ และให้ผลผลิตที่มีความสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน โดยให้ความสำคัญกับขนาดผล สีผล ความหวาน ดังนั้น ในช่วง 1-2 ปีแรก ใช้ปุ๋ย สูตร 21-7-14 ใส่สัก 2 กำมือ ทุก 15 วัน พอเข้าสู่ช่วงออกดอก ใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 เมื่อเข้าปีที่ 3-4 ก่อนเก็บผล ใส่ปุ๋ย สูตร 15-5-25 ทุก 10 วัน

ฟาร์ด (FARD)
บาฮี (Bahee)พระเอกของสวน

ภายหลังเก็บผลผลิตเสร็จสิ้นประมาณ 2 สัปดาห์ จึงเริ่มใส่ปุ๋ย สูตร 21-7-14 ทุก 10 วัน จำนวน 1 กิโลกรัม เพื่อเตรียมสร้างผลผลิตรอบต่อไป อย่างไรก็ตาม ในเรื่องสูตรปุ๋ย คุณแจ็ค ชี้ว่ายังไม่นิ่ง แล้วอาจยังต้องปรับอีกครั้งเพราะยังไม่ลงตัวในตอนนี้

ผสมเกสร ตัดแต่ง ห่อผล

สวนคุณแจ็ค มีต้นตัวผู้ จำนวน 7 ต้น และต้นตัวเมียกว่า 200 ต้น โดยทั้งหมดเป็นต้นเนื้อเยื่อ จึงมั่นใจในความสมบูรณ์ของเกสร และชี้ว่าในช่วงผสมเกสรต้องพยายามให้เสร็จวันต่อวัน โดยวิธีผสมจะสังเกตลักษณะความพร้อมและความสมบูรณ์ของดอกตัวเมียและดอกตัวผู้ เนื่องจากสภาพความไม่แน่นอนของอากาศในแต่ละปีที่ส่งผลต่อความสำเร็จ

จดรหัสไว้แต่ละช่อ เป็นข้อมูลการผสมเกสรและความพร้อมเก็บผลผลิตของแต่ละช่อเพื่อป้องกันความผิดพลาด

“ดังนั้น ในแต่ละวันสำหรับการผสมเกสร ไม่มีกฎเกณฑ์หรือสูตรตายตัว ว่าตอนไหน เวลาไหน ถึงจะเหมาะสม เพราะเมื่อสังเกตว่าเกสรพร้อม จึงต้องรีบจัดการทันที จึงเห็นว่าการผสมเกสรถือเป็นความละเอียดอ่อนและต้องใช้ความพิถีพิถันอย่างมาก ผู้ปฏิบัติต้องใช้องค์ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ อย่างแท้จริง”

หลังผสมเกสรเสร็จ จะใช้ถุงกระดาษครอบไว้ทันที แล้วจะครอบไปเป็นเวลา 30 วัน ระหว่างนั้นจะใส่ปุ๋ย สูตร 21-7-14 ก่อน เพื่อต้องการสร้างให้ก้านมีขนาดใหญ่ แข็งแรง ใช้สูตรนี้ประมาณ 1 เดือน แล้วเมื่อผลมีขนาดเท่าเม็ดมะเขือพวง จึงเปลี่ยนมาใช้สูตร 15-5-25 พร้อมกับตัดแต่งผล โดยจะเก็บไว้ประมาณ 20 ลูก ต่อก้าน ในแต่ละก้านเลือกเก็บผลที่สมบูรณ์ไว้มากที่สุด แล้วหุ้มด้วยถุงสบันหรือตาข่ายไว้ก่อนเพื่อป้องกันแมลงวันทอง เมื่อขั้นตอนตัดแต่งเรียบร้อย จึงนำถุงชุนฟงมาห่อหุ้มอีกครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนเข้าไปในช่อ พร้อมกับโน้มช่อลงมาพร้อมกับมัดก้านแต่ละช่อให้รั้งกันไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้หัก

รูที่โคนต้นจากแมลงศัตรูเจาะทำลาย

ศัตรูที่เข้ามาจู่โจมในสวน

ศัตรูที่เจอ ได้แก่ แมลงวันทอง และเพลี้ยแป้ง สำหรับเพลี้ยแป้งจะก่อกวนในช่วงเปลี่ยนสี เพราะเป็นจังหวะที่ผลเริ่มมีความหวาน อีกทั้งยังถือเป็นช่วงเปราะบางของการดูแลต้นอินทผลัม จึงควรต้องใส่ใจกับการใช้ถุงห่อ มิเช่นนั้นจะทำให้ผลผลิตเสียหาย ขณะเดียวกันยังพบว่ามีมดคันไฟเข้าไปกัดกินต้น วิธีป้องกันคือ ต้องพยายามรักษาความสะอาดบริเวณโคนต้น ให้ใช้สมุนไพรป้องกันหรือขับไล่

ใช้พลาสติกมัดปากถุง เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้า พร้อมกับมัดก้านช่อเพื่อพยุงน้ำหนักไม่ให้หัก

สภาพอากาศ …ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ

อินทผลัม เป็นพืชที่ชอบอากาศร้อน และต้องปลูกกลางแจ้งที่ได้รับแสงตลอด สามารถทนแล้งได้ ขณะเดียวกันยังเป็นพืชที่ทนต่อสภาพอากาศหนาวเย็นได้ในช่วงเวลาสั้น แม้จะเป็นพืชที่ชอบแดด แต่ก็ชอบน้ำมากด้วย เพราะปริมาณน้ำมีส่วนสำคัญอย่างมากกับจำนวนและคุณภาพของผลผลิต

คุณแจ็ค บอกว่า ตลอดเวลาที่ปลูกอินทผลัมมาต้องประสบกับสภาพอากาศแตกต่างกันในแต่ละปี ทั้งแดดจัด แดดหุบ ฟ้าครึ้มไม่มีแดด ฝนตกพรำ ฝนตกหนัก หรือหนาวเป็นช่วงยาวๆ โดยลักษณะทางธรรมชาติแบบนี้เกิดขึ้นเสมอ หรือบางวันเกิดขึ้นหลายแบบ สิ่งเหล่านี้กระทบกับประสิทธิภาพของปุ๋ยที่นำไปหล่อเลี้ยงลำต้นและส่วนต่างๆ อาจกระทบต่อการเจริญเติบโตหรือคุณภาพผลผลิตไม่สมบูรณ์ แล้วยังสร้างปัญหาต่อความสมบูรณ์ของการผสมเกสรด้วย

แหล่งน้ำ หัวใจสำคัญของอินทผลัม

“อย่างใน ปี 2559 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มมีผลผลิต ใช้เวลาตั้งแต่ผสมเกสรไปจนเก็บผลผลิตรวม 135 วัน พอมาในปี 2560 เป็นปีที่มีฝนมาก อากาศปิด แดดน้อย ใช้เวลานานกว่าจะเก็บผลผลิตถึง 165 วัน ส่วนปี 2561 เป็นช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง แต่ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 130 วัน ล่าสุดในปี 2562 ฝนมาน้อยแล้วล่าช้าทิ้งช่วง แต่โชคดีที่ผลผลิตออกเต็มที่มาก่อนแล้ว กำลังทยอยเริ่มเก็บ คาดว่าจะเสร็จสิ้นทั้งสวนราวเดือนสิงหาคม ฉะนั้น สภาพอากาศจึงเป็นเรื่องที่คาดเดายาก”

แม้ “เทพสถิต สวนอินทผาลัม” ของคุณแจ็คจะเป็นสวนใหม่ที่มีอายุไม่กี่ปี แต่ด้วยประสิทธิภาพของการบริหารจัดการทั้งในด้านพื้นที่ปลูกภายในสวน ความเอาใจใส่ต่อการกำหนดสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมในแต่ละช่วง การผสมเกสรที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน รวมถึงการให้ความสำคัญกับปริมาณน้ำ ตลอดจนหาวิธีป้องกันโรค/แมลง แบบปลอดภัยโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเคมี

จนทำให้อินทผลัมผลสดพันธุ์บาฮีที่ปลูกขายในช่วงที่ผ่านมา (2561) ให้ผลผลิต 150 กิโลกรัม ต่อต้น แล้วคาดว่าจะได้เพิ่มขึ้นอีก นอกจากนั้น พันธุ์อื่นๆ อีกนับสิบสายพันธุ์ที่ปลูกไว้รายรอบสวนเพื่อไว้ศึกษาเก็บข้อมูลยังมีคุณภาพ ความสมบูรณ์ เช่นเดียวกัน

ทีมงานสำคัญของคุณแจ็ค (ซ้าย) พี่เวียน และ (ขวา) พี่ไผ่

“เทพสถิต สวนอินทผาลัม” จำหน่ายอินทผลัมพันธุ์บาฮี ผลสดราคา กิโลกรัมละ 400-500 บาท และรอบการผลิตที่ผ่านมา (2561) ได้ถึง 7 ตันกว่า ปริมาณผลผลิตในสวนตอนนี้ต้องจัดสรรสำหรับไปจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในเขตจังหวัดชัยภูมิและกรุงเทพฯ รวมถึงตามงานสำคัญต่างๆ ทั้งนี้ รอบการผลิตต่อไปคงมีจำนวนผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการจัดการหลายอย่างลงตัว และผู้ปฏิบัติมีทักษะ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงความคล่องตัวแล้ว

ในขณะที่ต้องทำธุรกิจทัวร์ที่กรุงเทพฯ แล้วยังต้องดูแลสวนอินทผลัมที่ชัยภูมิด้วย มีวิธีหรือแนวทางการบริหารจัดการทั้งสองได้อย่างไร?

คุณแจ็ค บอกว่า งานทั้งสองอย่างมีความสำคัญ และชื่นชอบด้วย งานทัวร์มีคนดูแลรับผิดชอบ โดยเราจะเข้าไปแก้ปัญหาหรือแนะนำในบางเวลา แล้วบริหารจัดการผ่านโทรศัพท์และโน้ตบุ๊ก ส่วนงานทางสวนเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของเราเท่านั้น มีผู้ช่วย 2 คน คือ พี่เวียน กับ ไผ่ ซึ่งทำหน้าที่ปฏิบัติล้วนๆ ผ่านทักษะ ความชำนาญ และประสบการณ์

คุณพานิชย์ ยศปัญญา (เสื้อแดง) บรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน และ อาจารย์ประทีป กุณาศล ที่ปรึกษากองบรรณาธิการ (เสื้อลาย) ชมความสำเร็จสวนคุณแจ็ค

“สิ่งสำคัญคือ ต้องสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน เพราะถ้าสื่อสารผิดพลาดจะเกิดความเสียหายตามมา เนื่องจากงานสวนมีความละเอียด ต้องอาศัยความรอบคอบ ขณะเดียวกันตัวเราต้องรู้ให้มากที่สุด รู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อนำไปผสมกับทักษะ และความชำนาญของผู้ปฏิบัติให้กลมกลืนไปแนวทางเดียวกัน จะช่วยให้การทำงานราบรื่น ได้ผลสำเร็จตามความคาดหวัง ไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าจะมีผลผลิตสวยๆ สมบูรณ์ออกมา เพราะจุดเด่นของ “เทพสถิต สวนอินทผาลัม” อยู่ที่การให้ความใกล้ชิด ดูแลใส่ใจกับปุ๋ยและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ” คุณแจ็ค กล่าว

นำออกขาย

สอบถามรายละเอียด สั่งซื้ออินทผลัมคุณภาพได้ที่ คุณภีมพัฒน์ ภาณุพลเพชรรัตน์ หรือ คุณแจ็ค โทรศัพท์ 081-874-5788 หรือดูกิจกรรมต่างๆ ในสวนได้ที่ fb:เทพสถิต สวนอินทผาลัม

Related Posts