เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News เทคนิคเกษตร

บิ๊กดาต้า มาแล้ว

เปลวแดดระยิบระยับภายนอกอาคารศูนย์การค้าแห่งใหม่กลางเมืองกรุงเทพฯ ที่เย็นฉ่ำด้วยเครื่องปรับอากาศ และมีการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ทำงานดึกๆ ดื่นๆ ณ ห้องประชุมขนาดใหญ่ กำลังมีการสัมมนา เรื่อง “บิ๊กดาต้า”

บิ๊กดาต้า (Big Data) หรือ ข้อมูลขนาดใหญ่ กำลังเป็นคำยอดฮิต ที่มักถูกอ้างถึงในวงสนทนาพูดคุย เสมือนหนึ่งจะเป็นเครื่องมือวิเศษที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จำเป็นต้องใส่ใจและหาทางนำมาใช้งาน เพื่อหวังว่าจะมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่ในปัจจุบันยังเป็นลักษณะพูดเยอะทำน้อย หลายหน่วยงานยังมีข้อมูลที่กระจัดกระจาย ซ้ำซ้อน และไม่สมบูรณ์ สาระสำคัญอีกประการหนึ่งของข้อมูลขนาดใหญ่ที่ดีคือ ความต่อเนื่องของข้อมูล

บิ๊กดาต้า คืออะไร และทำไมถึงต้องให้ความสนใจ

บิ๊กดาต้า (Big Data) หรือ ข้อมูลขนาดใหญ่

คือ ข้อมูลที่มีความหลากหลาย มีปริมาณมหาศาล และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ข้อมูลการสืบค้นในเว็บไซต์ ข้อมูลการสื่อสารทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ข้อมูลในเครือข่ายสังคม ข้อมูลพยากรณ์อากาศ ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ฯลฯ

 

ที่มา : ราชบัณฑิตยสภา

 

สาเหตุที่เรื่องนี้ได้รับความสนใจ เพราะมีการนำข้อมูลจำนวนมากที่เก็บได้จากกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ไปทำการวิเคราะห์ และสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ หรืออาจจะบ่งบอกถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่สำคัญ จำเป็นต่อการดำเนินแผนงานการตลาด

ภาคเกษตรกรรมของไทยกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ (sensor-ตัวรับรู้) เพื่อเก็บข้อมูลและประมวลผล ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ ที่เกษตรกรเลือกเพาะปลูกโดยคำนึงถึงเรื่องราคาขายเป็นหลัก ไม่ศึกษาแนวโน้มตลาด มีคำกล่าวหยอกล้อว่า “รัฐสนับสนุนให้เพาะปลูกอะไร เกษตรกรที่ทำตามเตรียมขาดทุนได้เลย” เพราะจะมีคนแห่ทำจนผลผลิตล้นตลาด ทำให้ราคาตก ท้ายที่สุดต้องเป็นภาระของรัฐเข้าไปช่วยเหลือ ผ่านมาตรการพยุงราคา ซึ่งก็เป็นค่าใช้จ่ายที่มาจากภาษีของคนในชาตินั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตรจากแบบดั้งเดิมเป็นระบบดิจิทัล เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และควรจะต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประเทศไทยไม่สูญเสียความสามารถและศักยภาพในการแข่งขัน หากเรายังพ่ายแพ้ในธุรกิจที่เรามีความชำนาญมากแล้ว ก็เป็นเรื่องน่าห่วงว่าความเจริญก้าวหน้าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร? และประชาชนจะเป็นอย่างไร เพราะอัตราการเกิดและตายลดลง บ้านเมืองเราจึงกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีกลุ่มแรงงานหนุ่มสาวขาดหรือด้อยประสิทธิภาพในการแข่งขัน ถ้าไม่มีการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถ

ผู้เขียนเชื่อว่า ยุคนี้เป็นยุคที่ต้องมีหัวใจแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงรุนแรงและรวดเร็วจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลถึงรูปแบบการศึกษาที่ต้องเน้นให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ การเพาะปลูกแบบดั้งเดิมมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ให้ผลตอบแทนต่ำ เป็นความเสี่ยงมาก มีความผันผวนด้านราคาสินค้าในตลาดโลก หรือความไม่แน่นอนจากภัยธรรมชาติ หากลองนึกภาพตาม จะเห็นความปั่นป่วนกำลังคืบคลานสู่พี่น้องเกษตรกร

พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน โดยเน้นเรื่องคุณภาพมากขึ้น ผลผลิตจะต้องมีคุณภาพดีและปลอดสารเคมี ในขณะที่หลายประเทศใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อให้มั่นใจว่าการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่เกษตรกรจำนวนมากยังขาดความรู้ในเรื่องดังกล่าว ทั้งที่ควรให้ความสนใจกับการพัฒนาคุณภาพผลผลิตเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เต็มใจจ่ายมากขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อีกไม่นานเกษตรกรรมไทยจะต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูล หมดยุคสมัยที่การตัดสินใจเพาะปลูกขึ้นอยู่กับความรู้สึกหรือสามัญสำนึก ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่อยากนำเสนอภาพที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ พี่น้องเกษตรกรจึงควรปรับตัวเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับสภาวะตลาด โดยพิจารณาข้อมูลข่าวสารที่บ่งบอกถึงสถานการณ์และแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค เพื่อประกอบการตัดสินใจ ผลิตเพิ่มในสิ่งที่คาดว่าจะขาดแคลน และลดการผลิตหากมีมากเกินความต้องการ

การผลิตจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากการเลือกทำเลที่ตั้ง เพราะไม่มีผลผลิตอย่างใดอย่างหนึ่งเหมาะสมกับทุกรูปแบบที่ดิน และยังเป็นการลดความเสี่ยงจากการผลิตสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ ทำให้ประสบการขาดทุนเป็นหนี้ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพ ปัจจุบันแม้แต่สถาบันการเงินหรือการประกันภัยเอง ยังให้ความสำคัญต่อความเหมาะสมของพื้นที่ในการเพาะปลูก มีการคำนวณอัตราดอกเบี้ยหรือเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงของสภาพอากาศในพื้นที่นั้นๆ

ตัวอย่างเช่น การใช้ Agri-Map Online เป็นข้อมูลแผนที่ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมพัฒนาระบบแผนที่เกษตร เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยรวบรวมข้อมูลพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการเกษตรจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการการเกษตรไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ มีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยสม่ำเสมอ และพัฒนาเพิ่มความสะดวกในการใช้งานให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลง่าย สามารถติดตามข้อมูลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ครอบคลุมการนำไปใช้ประโยชน์ทุกด้าน เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้กับข้อมูลด้านการเกษตร ซึ่งสามารถตอบโจทย์การช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรไทยในรายพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ส่วนตัวอย่างความเคลื่อนไหวของภาคเอกชน ก่อนหน้านี้ IBM บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านคอมพิวเตอร์ ได้เข้าซื้อ Weather Company ซึ่งเป็นเจ้าของ Weather Channel (ช่องทีวีพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมง) ทำให้ IBM สามารถเข้าถึงรายละเอียดสภาพอากาศที่สมบูรณ์จากเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ตรวจวัดจากเกือบ 50,000 เที่ยวบิน และจากสถานีทั่วโลกกว่า 270,000 แห่ง ข้อมูลดังกล่าวจะแจ้งให้เกษตรกรทราบ เช่น วิธีการให้ปุ๋ยและรดน้ำพืชที่เหมาะสม หรือการคาดการณ์ที่แม่นยำเกี่ยวกับการพิจารณาคำขอสินเชื่อของสถาบันการเงินจากความเป็นไปได้ที่จะประมาณการผลผลิตของแต่ละท้องที่ในแต่ละฤดูกาล

สมัยก่อนจะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง มักมีข้ออ้างว่า ไม่มีข้อมูล หรือมีข้อมูลไม่พอ นับจากนี้ไปข้อมูลจะล้นหลามจนบริโภคไม่ไหว จึงจำเป็นต้องมีวิธีการกลั่นกรองและเลือกรับข้อมูลที่จำเป็นต่อความต้องการ บิ๊กดาต้า จะเป็นเพียงแค่ข้อมูลที่มีอยู่ดาษดื่นเท่านั้น หากขาดความช่ำชองในการวิเคราะห์และนำไปใช้ให้ประโยชน์อย่างแท้จริง

Related Posts