ปัญหาการบุกรุกผืนป่าเพื่อทำการเกษตร เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเขตพื้นที่สูงในภาคเหนือ ความจริงแล้ว คนอยู่กับป่าได้ แต่ต้องอาศัยการบริหารจัดการที่เหมาะสม โดยให้ชาวบ้านรู้จักและเข้าใจถึงคุณค่า คุณประโยชน์ของป่า ตามพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
จังหวัดตาก เป็นหนึ่งในพื้นที่ตัวอย่างของการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนควบคู่กับการส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่สูง สนองพระราชดำริของทั้งสองพระองค์ ในเรื่อง “สร้างป่า สร้างอาชีพ” ได้อย่างดีเยี่ยม จากเดิมที่ชาวบ้านเคยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักประเภทกะหล่ำ ฯลฯ จนเต็มดอย ทุกวันนี้เกษตรกรชาวเขาในพื้นที่สูงเหล่านี้เริ่มหันมาปลูกไม้ยืนต้น เช่น ต้นอะโวกาโด คู่กับการปลูกต้นกาแฟในแปลงเดียวกัน ช่วยสร้างรายได้ที่ดีให้แก่ตัวเกษตรกรเองแล้ว ยังทำให้เกิดการฟื้นฟูป่าไม้ได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กันด้วย

“อาเปา” เกษตรกรชาวเขาเผ่าม้ง
พื้นที่ดอยมูเซอ ที่ทอดยาวไปตามแนวเทือกเขาถนนธงชัยใต้ ในอดีตเคยเป็นพื้นที่สีชมพู เป็นที่ตั้งกองกำลังของ พคท. อยู่หลายแห่ง การสู้รบยืดเยื้อกว่าสิบปี เหตุการณ์ความไม่สงบยุติลงประมาณปี 2523 ในสมัยรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ชาวบ้านออกจากป่ามามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
ในพื้นที่แถบนี้มีชนเผ่าอยู่หลายเผ่า ทั้ง มูเซอ ลีซอ และ มูเซอเหลือง ตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอย่างสงบสุขอยู่ในพื้นที่ดอยมูเซอแห่งนี้ และมีศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดตาก (ดอยมูเซอ) คอยดูแลช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้อยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติฯ ภาครัฐจึงกำหนดเขตพื้นที่ให้คนอยู่กับป่าอย่างชัดเจน ชาวเขาเหล่านี้ได้รับการจัดสรรพื้นที่ทำกินตามกำลังความสามารถของแต่ละครอบครัว หากบุกรุกเกินอาณาเขตที่ได้รับการจัดสรร ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับกันได้

“คุณหนึ่ง” คุณอิทธิพล กำลังมาก เกษตรกรหัวก้าวหน้า ในพื้นที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ที่ผันตัวเองมารับซื้อสินค้าเกษตรส่งขายในตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และห้างสรรพสินค้าชื่อดังหลายแห่งในเมืองกรุง พาสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมแหล่งปลูกอะโวกาโดในเขตพื้นที่ดอยมูเซอ จังหวัดตาก คุณหนึ่ง แนะนำให้รู้จัก “อาเปา” หรือ คุณศตวรรษ แซ่ว่าง เกษตรกรคนเก่ง ที่ปลูกอะโวกาโดคุณภาพดี จนประสบความสำเร็จมีรายได้ดีในระดับหนึ่ง
อาเปา เป็นชาวเขาเผ่าม้ง วัย 45 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 174/2 หมู่ที่ 7 ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง จังหวัดตาก 63000 เบอร์โทร. 063-760-1786 อาเปา เล่าว่า เขาเกิดและเติบโตอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ เดิมเขาปลูกผักกาดลุ้ยและเป็นพ่อค้าขายเร่ แต่ระยะหลังสถานการณ์ตลาดไม่สู้ดี ผักกาดลุ้ยคนก็ปลูกเยอะ ผลผลิตเข้าตลาดมาก ราคาร่วง ขายขาดทุน
อาเปา จึงมองหาอาชีพใหม่ที่มีรายได้มั่นคง หลังจากเขาสังเกตบรรยากาศการซื้อขายสินค้าเกษตรที่ตลาดมูเซอใหม่มา 5-6 ปี พบว่า ผู้บริโภคชอบซื้ออะโวกาโดกันมาก แถมราคาไม่ตก อย่างน้อยเกษตรกรจะมีรายได้จากการขายผลผลิตไม่ต่ำกว่า 20-30 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้อาเปามั่นใจว่า อะโวกาโด เป็นไม้ผลเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าปลูก เพราะปลูกดูแลง่าย แถมได้ราคาสูง สร้างรายได้ที่ดีอย่างแน่นอน อาเปาจึงหาซื้ออะโวกาโดพันธุ์พื้นเมืองมาปลูก ประมาณ 12-13 ไร่ ทุกวันนี้เขาปลูกอะโวกาโดสร้างรายได้เข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว

ไปเรียนรู้การปลูกอะโวกาโดแบบมืออาชีพ ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง เชียงใหม่
อะโวกาโด (avocado) เป็นผลไม้ที่มากคุณประโยชน์และดีต่อสุขภาพ สามารถรับประทานสดได้ มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัวประมาณ 8-20 เปอร์เซ็นต์ ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย วิตามินสูง นอกจากให้คุณค่าทางอาหารแล้ว ยังเป็นวัตถุดิบเพื่อการสกัดน้ำมันในอุตสาหกรรม
อะโวกาโด กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้รักสุขภาพทั้งหลาย อะโวกาโด เป็นผลไม้ประเภท climacteric fruit คือ สามารถสุกแก่ต่อได้หลังจากการเก็บเกี่ยวจนถึงมือผู้บริโภค โดยปกติขั้วผลอะโวกาโดจะมีสีเขียวอ่อนหรือเขียวยอดตอง เมื่อเวลาสุกแก่พร้อมเก็บเกี่ยวจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ขั้วผล กลายเป็นสีเหลืองเข้ม เหลืองอมส้ม สีปูนแดงกินหมาก หรืออาจแตกสะเก็ดสีน้ำตาลอ่อนหรือเข้มเป็นริ้วบางๆ หรือเป็นทั่วทั้งส่วนของขั้วผล
เนื่องจากไม้ผลชนิดนี้เป็นพืชใหม่สำหรับเกษตรกรไทย ทำให้ขาดความรู้ในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลให้พบปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น การเก็บผลอ่อนเกินไป ผลผลิตช้ำเสียหาย หรือได้ผลผลิตเน่าเสีย อันเนื่องมาจากโรคและแมลงศัตรูเข้าทำลาย ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดตาก (ดอยมูเซอ) จึงได้นำเกษตรกรผู้ปลูกอะโวกาโดไปเรียนรู้เรื่องเทคนิคการปลูกอะโวกาโด ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง เชียงใหม่

นำความรู้มาใช้พัฒนาผลผลิตที่บ้านเกิด
อาเปา เป็นหนึ่งในเกษตรกรผู้โชคดีที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมศึกษาดูงาน ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง เชียงใหม่ ทำให้เขาเรียนรู้ว่า อะโวกาโดมีหลายสายพันธุ์
เช่น สำหรับพันธุ์อะโวกาโดที่นำมาปลูก มี 7 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์พิงค์เคอร์ตัน (Pinkerton) พันธุ์ปีเตอร์สัน (Peterson) พันธุ์บัคคาเนียร์ (Buccaneer) พันธุ์บูท 7 (Booth-7) พันธุ์บูท 8 ( Booth-8) พันธุ์ฮอลล์ (Hall) พันธุ์แฮสส์ (Hass) ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีข้อดี ข้อด้อย แตกต่างกัน ที่สำคัญให้ผลผลิตคุณภาพดีและมีรสชาติอร่อยกว่าอะโวกาโดพันธุ์พื้นเมืองที่อาเปาปลูก เขาจึงได้นำยอดพันธุ์ดีของอะโวกาโดสายพันธุ์ต่างประเทศมาเสียบยอดกับต้นอะโวกาโดพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกอยู่แล้ว

อาเปา บอกว่า ข้อดีของการลงทุนในครั้งนี้ก็คือ ทำให้เขามีอะโวกาโดหลากสายพันธุ์ออกขายในตลาด แถมอะโวกาโดแต่ละชนิดยังมีฤดูการเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกันออกไป ทำให้มีผลผลิตออกขายได้อย่างต่อเนื่อง
อาเปา เล่าถึงลักษณะเด่นของอะโวกาโดแต่ละสายพันธุ์ที่เขาปลูกให้ฟังว่า
พันธุ์แฮสส์ ลักษณะผลรูปไข่ ผิวสีเขียวเข้ม หรือม่วงเข้ม ผลมีขนาดเล็กเก็บผลได้ในเดือนพฤศจิกายน
พันธุ์พิงค์เคอร์ตัน รสชาติออกมัน เนื้อแน่น ตระกูลเดียวกับพันธุ์แฮสส์ เก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคม-ธันวาคม
พันธุ์ฮอลล์ ลักษณะผลคล้ายหลอดไฟ เก็บผลประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม
พันธุ์ปีเตอร์สัน เป็นอะโวกาโดสายพันธุ์เบา ลักษณะผลค่อนข้างกลม มีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เก็บผลได้ในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม

พันธุ์บัคคาเนียร์ ลักษณะค่อนข้างกลมรี ขนาดกลาง เก็บเกี่ยวประมาณเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม
พันธุ์บูท 7 ผลค่อนข้างกลม ขนาดกลาง เก็บเกี่ยวผลประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม
พันธุ์บูท 8 (Booth-8) ลักษณะผลรูปไข่ ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เก็บเกี่ยวประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม
ขณะที่ต้นอะโวกาโดยังเติบโตได้ไม่เต็มที่ ระหว่างรอการเก็บเกี่ยว อาเปาปลูกฟักทอง เป็นพืชร่วมแปลง เพราะใช้ระยะเวลาปลูกสั้น แถมฟักทองยังเป็นพืชผักที่ตลาดต้องการตลอดทั้งปี นอกจากนี้ เขายังปลูกกาแฟแซมในแปลงปลูกอะโวกาโดอีกด้วย

ดังนั้นในระยะยาว อาเปาจะมีรายได้จากการขายผลผลิตได้ 2 ทาง คือ ขายผลอะโวกาโดและรายได้จากการขายเมล็ดกาแฟ ที่สร้างผลกำไรที่ดีได้ทั้งสองชนิด อาเปาตั้งใจบำรุงรักษาพันธุ์ไม้ทั้งสองชนิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาผลกำไรในอนาคต ขณะเดียวกันแผ่นดินแห่งนี้จะกลายเป็นป่าไม้อย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน
ด้านการตลาด
อาเปา บอกว่า อะโวกาโดสายพันธุ์แฮสส์ เป็นสินค้าขายดี อันดับ 1 แต่การทำน้ำหนักผลผลิตต่อไร่จะสู้อะโวกาโดพันธุ์ปีเตอร์สันไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การปลูกอะโวกาโดหลากหลายสายพันธุ์ก็ช่วยให้มีรายได้ต่อเนื่อง ปีที่แล้วอาเปาเก็บผลผลิตออกขายได้ประมาณ 3 ตันกว่า ขายส่งในราคากิโลกรัมละ 60-70 บาท สร้างรายได้กว่าแสนบาท ซึ่งเป็นตัวเลขรายได้ที่เขาพึงพอใจ เพราะหักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเหลือผลกำไรก้อนโต

หากใครสนใจอยากเยี่ยมสวนอะโวกาโด หรือสนใจอยากซื้อสินค้าของอาเปา ติดต่อได้ที่ บ้านเลขที่ 174/2 หมู่ที่ 7 ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง จังหวัดตาก 63000 เบอร์โทร. 063-760-1786