เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News เทคนิคเกษตร

อภัยภูเบศร แนะปรุงแต่ง “อาหาร-เครื่องสำอาง” สูตรกัญชา

หลังจากกระทรวงสาธารณสุขได้ปลดล็อก ใบ ราก ลำต้น ของกัญชา ออกจากรายการยาเสพติด เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 โดยมีเจตนารมณ์ให้ประชาชนใช้กัญชาเพื่อการดูแลสุขภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในชุมชนนั้นๆ ทำให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเริ่มพัฒนารูปแบบธุรกิจอาหาร ที่มีส่วนผสมของใบกัญชา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้อาหารไทยในด้านสุขภาพ

อภัยภูเบศร ได้ศึกษาค้นคว้าความรู้ดั้งเดิมผนวกกับงานวิจัยสมัยใหม่เรื่องการใช้ประโยชน์กัญชา พบว่า บรรพบุรุษไทยมีความเฉลียวฉลาดในการเลือกใช้พืชพรรณเพื่อดูแลสุขภาพ เพราะความรู้ของบรรพบุรุษช่างสอดคล้องกับการวิจัยสมัยใหม่ จึงนำมาสู่ โครงการ “มาชิมกัญ” ที่ได้รับความสนใจจากคนไทยและต่างชาติอย่างกว้างขวาง

หลังจาก อภัยภูเบศร ได้ติดตามความปลอดภัยในการรับประทานอาหารที่ปรุงจากกัญชา เพื่อให้มีข้อมูลอย่างรอบด้านสนับสนุนให้เกิดรูปแบบธุรกิจอย่างยั่งยืน พบว่า ตำรับเมนูกัญชามีความปลอดภัยดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถนำมาใช้พัฒนาต่อยอดทางธุรกิจได้อีกมากมาย (ถอดความจากเวทีเสวนา หัวข้อ “กัญชา” ครบวงจรกับอภัยภูเบศร ภายในงานมหกรรมกัญชง กัญชา 360 องศา จังหวัดบุรีรัมย์  เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564)

ปลดล็อกกัญชา กัญชง จากยาเสพติด    

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลได้ประกาศปลดล็อกบางส่วนของต้นกัญชาและกัญชงจากยาเสพติด ได้แก่ ใบ กิ่ง ก้าน ราก เมล็ดของกัญชง (เมล็ดของกัญชายังคงเป็นยาเสพติด) สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น เครื่องสำอาง รวมทั้งอาหารจากใบกัญชา ซึ่งวัตถุดิบเหล่านั้นมีแหล่งที่มาชัดเจนและได้รับอนุญาตจาก อย. อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ภญ.ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร

อาหารกัญชา จากภูมิปัญญาไทย

อภัยภูเบศร ทำอาหารกัญชาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของปู่ ย่า ตา ยาย เนื่องจากสนใจว่า ทำไม ก๋วยเตี๋ยวที่ใส่กัญชาจึงมีรสอร่อย คนกินแล้วหัวเราะ เฮฮา สนุกสนาน ก็พบว่า ใบกัญชามีสารอะมิโนแอซิดที่จำเป็นต่อร่างกายเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้อารมณ์ดี สุขภาพจิตดี และที่สำคัญมีกลูตามิกแอซิด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ช่วยเพิ่มการดูดซึมสารอาหารอื่นๆ ส่งผลให้กินอาหารได้เอร็ดอร่อยขึ้น อาหารจากใบกัญชาไม่พบสารเมา สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย

อภัยภูเบศร ได้ค้นพบหลักฐานความอร่อยของกัญชา ในหนังสือแม่ครัวหัวป่าก์ ซึ่งเขียนโดย ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ (เขียนปี 2451-2452) พบว่า ก่อนกัญชาถูกขึ้นบัญชียาเสพติด ในปี 2468 มีหลักฐานว่า ประเทศไทยกินใบกัญชามานานแล้ว ต่างประเทศก็กินใบกัญชา โดยบางประเทศปรุงอาหารในเมนูซุปใบกัญชา และปรุงอาหารในเมนูต้ม ตุ๋น แกง ใบกัญชาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น เมนูผัดกะเพราใส่ใบกัญชา หรือจัดประดับตกแต่งจานอาหารด้วยใบกัญชา (สวยกว่าใบโอบะของญี่ปุ่น)

จากอาหารพัฒนาสู่เครื่องสำอาง

ตอนนี้ในยุโรปอนุญาตให้นำสารสกัดจากเมล็ดและน้ำมันจากเมล็ดกัญชง-กัญชา นำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ประเภทผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เมล็ดกัญชามีสรรพคุณช่วยบำรุงผิวและบำรุงผม สารสกัดจากใบกัญชา มีฤทธิ์สารต้านอนุมูลอิสระ กิ่ง ก้าน ราก ช่อดอกกัญชามีสรรพคุณช่วยบำรุงผิวได้ กิ่ง ก้าน ใบ ลำต้นกัญชานำมาสกัดสาร CBD ที่มีสรรพคุณต้านทานอาการอักเสบของผิว รักษาสิว บำรุงผิวได้ จึงนิยมใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง

เส้นใย กิ่งก้าน และรากของกัญชงนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย นอกเหนือจากการนำช่อดอกเอามาสกัดสาร CBD และ THC แล้ว เมล็ดกัญชงนำมาหีบน้ำมัน เพื่อสกัดเอาสาร CBD ได้เช่นกัน คาดว่า ภายใน 5 ปี สาร CBD ราคาถูกจากต่างประเทศอาจทะลักเข้ามาขายในไทยได้ หากนักวิชาการไทยยังไม่รีบพัฒนาวิธีการสกัดสาร CBD คุณภาพสูงมาแข่งขัน

กัญชา เป็นสิ่งที่ประชาชนอยากครอบครองความรู้เพื่อสร้างเศรษฐกิจ แต่อย่าลืมว่า เมื่อปลูกเยอะๆ แล้ว ต้องพัฒนานวัตกรรมความรู้ด้านการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มควบคู่กันไปด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์สปา ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และอื่นๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ปลูกกัญชาเพื่อดูดซับสารกัมมันตภาพรังสีในดิน กัญชาสามารถนำไปใช้กับสัตว์เลี้ยงได้อีกด้วย เมื่อเมืองไทยปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดแล้ว ควรเร่งศึกษาพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์กัญชาในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

อภัยภูเบศร เชื่อว่า ประเทศไทยปลูกกัญชาได้ดีที่สุดในโลก กัญชาเป็นสมุนไพรที่ดี มีประโยชน์สูงเหมือนกับขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร แม้กัญชาไม่ใช่ยาวิเศษ แต่มีสรรพคุณเด่นช่วยการทำงานของจิตใจ ช่วยกำจัดความเครียด บำบัดอาการเจ็บปวด ต้นเหตุของโรคภัยอีกมากมาย จากตำราแพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้านในหลายพื้นที่ เช่น อินเดีย นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์กว่า 190 ตำรับยา จีนไม่ได้ใช้กัญชาโดยตรง แต่ใช้รากกัญชงเป็นยาแก้ปวด ใช้เมล็ดกัญชาเป็นยาระบาย หวังว่าคนไทยจะช่วยกันสร้างชาติ จากภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเชื่อมโยงนวัตกรรมและองค์ความรู้สมัยใหม่เข้าด้วยกัน นอกจากสร้างโอกาสทางการค้าแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรไทยมีอาชีพและรายได้จากการปลูกและขายกัญชาป้อนเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

“อาหารกัญชา” สูตร อภัยภูเบศร 

การใช้ใบกัญชาในอาหาร ใบกัญชา มีประวัติการใช้เป็นอาหารของคนไทยมาอย่างยาวนาน เป็นสมุนไพรชูรสเพื่อทำให้รสชาติอร่อยกลมกล่อม นิยมใส่แกง ก๋วยเตี๋ยว หรือผัด ปริมาณที่ใช้ต่อหนึ่งหม้อมื้ออาหาร จะอยู่ประมาณ 3 ยอด หรือ 5-8 ใบ สารออกฤทธิ์สำคัญในกัญชา คือ delta-9-tetra-hydrocanabinol (THC) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือชาวบ้านเรียกว่า “สารเมา” และ สาร cannabidiol (CBD) ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งในต่างประเทศนิยมใช้ในเมนูอาหาร ในกัญชาไทยจะมี THC มากกว่า CBD จากการวิเคราะห์ ใบกัญชาแห้งสายพันธุ์ไทยมีปริมาณสาร THC โดยเฉลี่ย 1-2 มิลลิกรัมต่อใบ

ส่วนใบสดของกัญชา มีสาร THCA ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ไม่มีฤทธิ์เมา) เมื่อถูกแสงหรือความร้อนจะทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลง จาก THCA เป็น THC หรือที่เรียกกันว่า “สารเมา” การศึกษาเบื้องต้น พบว่า THCA มีฤทธิ์ลดอักเสบปกป้องสมอง ต้านการชัก ต้านอาเจียน ในบางประเทศนำใบสดมาบริโภค ในรูปของอาหารและเครื่องดื่ม เช่น น้ำคั้น น้ำปั่น ผักเคียง และสลัด

ใบแห้ง มีสาร THC หรือ สารเมา เมื่อผ่านความร้อนสูง หรือมีส่วนประกอบไขมันสูงระยะเวลาในการปรุงที่นาน จะยิ่งทำให้สาร THC เพิ่มขึ้นได้ ข้อแนะนำ ใบอ่อนเมื่อแห้งแล้วมี “สารเมา” มากกว่าใบแก่ “ภูมิปัญญาดั้งเดิมใช้ใบกัญชาช่วยชูรสในอาหาร และทำให้กินข้าวได้ นอนหลับ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาสมัยใหม่ ที่พบว่า ในใบกัญชา มี Glutamic acid (กรดกลูตามิก) ที่ทำให้อาหารมีรสมามิ และสาร THC ช่วยเพิ่มความอยากอาหารและนอนหลับ แต่ยังคงต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดการใช้ที่ปลอดภัย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแท้จริง

กะเพราสุขใจ

ส่วนผสม

– หมูสับ 50 กรัม

– พริกแห้ง 5 เม็ด

– กระเทียม 3 กลีบ

– น้ำมันพืชสำหรับผัด 1 ช้อนโต๊ะ

– ซอสน้ำมันหอย 1 ช้อนชา

– ซีอิ๊ว 1 ช้อนชา

– น้ำตาล 1/2 ช้อนชา

– น้ำปลา 1 ช้อนชา

– ใบกัญชา 1/2 ใบ

– ใบกะเพรา 1 ถ้วย

– พริกชี้ฟ้าแดง เขียว สำหรับตกแต่ง

วิธีทำ

  1. ตำพริกแห้ง กระเทียม แบบหยาบ
  2. ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันพืชลงไป ผัดกระเทียมและพริกแห้งให้หอม
  3. จากนั้นใส่หมูสับ ผัดให้เข้ากัน ใส่เครื่องปรุงที่เตรียมไว้ พร้อมพริกชี้ฟ้าซอย ตามด้วยใบกะเพราและใบกัญชาผัดให้เข้ากัน ตักใส่จาน รับประทานกับข้าวไรซ์เบอร์รี่

ขนมปังคิกคัก

รื่นเริงบันเทิงยำ

ส่วนผสม

– แป้งทอดกรอบ 2 ช้อนโต๊ะ

– น้ำเย็นจัดสำหรับผสมแป้งทอดกรอบ

– ใบกัญชาสด 5 ใบ

– หมูสับรวนสุก 50 กรัม

– หอมแดง 4 หัว

– แครอต 1/2 ถ้วย

– ผักชีลาว 2 ใบ

– น้ำมะนาว 3 ช้อนโต๊ะ

– น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ

– น้ำตาล 1 ช้อนชา

– พริกขี้หนูแดงหั่น 3 เม็ด

วีธีทำ

  1. เตรียมแป้งสำหรับทอดกรอบ โดยผสมแป้งสำหรับชุบทอด โดยนำแป้งทอดกรอบใส่ชามเติมน้ำเย็นจัดลงไป ผสมให้เข้ากันพอเหลว
  1. นำใบกัญชาที่เตรียมไว้คลุกลงไปในแป้งให้ทั่วทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จากนั้นนำไปทอดด้วยไฟกลาง ควรทอดทีละ 1 ใบ เพื่อไม่ให้ใบติดกันเป็นแพ เมื่อสุกเหลืองแล้วตักขึ้นพักไว้
  1. เตรียมน้ำยำโดยผสมพริกขี้หนู น้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาล คนผสมให้เข้ากันจนน้ำตาลละลาย ใส่หมูสับ รวนสุกลงไป ตามด้วยหอมแดงชอย และผักชีลาวซอย คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน ตักน้ำยำใส่ถ้วยเสิร์ฟ พร้อมกับใบกัญชาทอดกรอบ

ซู่ซ่าร่าเริง

ส่วนประกอบน้ำเชื่อม

  1. ชาไทย 2 ช้อนชา
  2. กานพลู 4 ดอก
  3. ใบหูเสือ 4 ใบใหญ่
  4. น้ำเชื่อม 120 มิลลิลิตร
  5. น้ำสะอาด 100 มิลลิลิตร

วิธีทำ

นำวัตถุดิบทั้งหมดลงไปต้มในน้ำสะอาด นาน 5 นาที จากนั้นใส่น้ำเชื่อมลงไป

วิธีทำน้ำกัญชาคั้นสด

นำใบกัญชาสด 6 ใบ ปั่นกับน้ำสะอาด 300 มิลลิลิตร กรองกากออก เอาแต่น้ำ (ชงได้ประมาณ 5 แก้ว)

วิธีชงน้ำ น้ำเชื่อมชา 60 มิลลิลิตร น้ำมะนาว 20 มิลลิลิตร โซดา 100 มิลลิลิตร น้ำกัญชาคั้นสด 45 มิลลิลิตร

……………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

 

Related Posts