เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

ชาวไร่อ้อยดีเด่น จ.บุรีรัมย์ ดูแลอ้อยตอ ขยายผลผลิตนับสิบปี

คุณวีนัด สำราญวงศ์ จังหวัดบุรีรัมย์ นับเป็นเกษตรกรต้นแบบ ที่มีผลงานโดดเด่นในเรื่องการปลูกดูแลอ้อยตอ ที่ขยายผลผลิตนับสิบปี แนวคิดในการทำอ้อยอย่างยั่งยืนคือ ตัดอ้อยสดส่งขายโรงงานน้ำตาลโดยไม่มีการเผาใบอ้อย เพื่อลดโลกร้อน รักษาระบบนิเวศในไร่อ้อย อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ให้อยู่ในสภาพธรรมชาติ

นอกจากนี้ มุ่งรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยตัดอ้อยสด ตัดใบอ้อยทิ้งในแปลง และการฉีดน้ำหมักปุ๋ยยูเรีย ช่วยเร่งการย่อยสลายของใบอ้อยทุกปี ทำให้ดินมีความชื้น มีอินทรียวัตถุเพิ่มมากขึ้น และดินมีความอุดมสมบูรณ์

แปลงปลูกอ้อย ของคุณวีนัดและภรรยา

ตั้งแต่ตออ้อยที่ 4 ไม่ต้องปลูกอ้อยใหม่ ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน สามารถลดต้นทุนการผลิตในการเตรียมดิน ค่าปลูก ค่าพันธุ์อ้อย ค่ากำจัดวัชพืช และค่าปุ๋ยที่เกินความจำเป็น การตัดอ้อยสด นอกจากได้ค่าขายต้นอ้อย และค่าความหวานเพิ่ม ซีซีเอส (CCS.)  ทางโรงงานน้ำตาลยังให้เงินเพิ่มจากการตัดอ้อยสด ตันละ 30-50 บาท ทำให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้น

คุณวีนัด ตั้งใจเลี้ยงอ้อยไว้ตอนานอย่างยั่งยืน โดยไม่นำรถตัดอ้อยซึ่งเป็นเครื่องจักรกลขนาดใหญ่เข้าในแปลงอ้อย เพื่อไม่ให้ตออ้อยถูกทำลายและดินแน่นจนเกิดดินดาน สามารถไว้ตอได้นานหลายสิบปี โดยให้ผลผลิตสม่ำเสมอ

อ้อยตัดสดพร้อมส่งโรงงาน

คุณวีนัด ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ส่งเสริมการรวมกลุ่มชาวไร่อ้อยที่เข้มแข็ง เพื่อพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน ผลงานและความสำเร็จของผลงานทั้งปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนระยะเวลาที่ปฏิบัติงานและความยั่งยืนในเส้นทางอาชีพ ทำให้คุณวีนัดได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2560

ทุกวันนี้ คุณวีนัด และภรรยา คือ คุณบุญพร้อม สำราญวงค์ ปลูกอ้อยเนื้อที่กว่า 200 ไร่ ในพื้นที่ตำบลหินโคก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โทรศัพท์ 083-380-1380 ปัจจุบัน สามารถปลูกอ้อยไว้ตอได้ถึง 19 ตอ โดยผลผลิตไม่ลดลง ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ประมาณ 15.38 ตัน ต่อไร่ ค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12.78 CCS. ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของผลผลิตและความหวานสูงกว่าอ้อยของประเทศ

ชาวไร่อ้อยสนใจดูงานการปลูกอ้อยอย่างยั่งยืนของคุณวีนัด

คุณวีนัดและคุณบุญพร้อม เป็นเกษตรกรที่ใฝ่รู้และเรียนรู้ตลอดเวลา สนใจเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้พัฒนาอาชีพทำไร่อ้อยให้ยั่งยืนต่อไป จึงได้รับรางวัลชาวไร่อ้อยตัวอย่างด้านการผลิตอ้อยอย่างยั่งยืน ปี 2557 รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อยที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปี 2558 และรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำไร่ ประจำปี 2557-2558 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7

อ้อยต้นใหม่จากกอเดิม ประหยัดต้นทุนค่าพันธุ์อ้อย

เคล็ดลับการทำไร่อ้อยแบบยั่งยืน

คุณวีนัด วางแผนการผลิตอ้อยประจำปี โดยมีกรอบการทำงานที่ชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารทุน แรงงานและเวลาที่กำหนด คุณวีนัดทดลองปลูกอ้อยหลายพันธุ์ใน 1 แปลง จดบันทึกติดตามผลการปรับตัวของอ้อยทุกพันธุ์ในทุกแปลง เลือกพันธุ์ที่เจริญเติบโตและให้ผลดี นำไปปลูกขยายผลตามสภาพพื้นที่ เช่น LK92-11, K95-84, สุพรรณบุรี 80, K99-72 และพันธุ์ขอนแก่น 3

คุณวีนัดเล่าเคล็ดลับการปลูกดูแลอ้อย

การปลูกอ้อย เริ่มจากเตรียมดิน ปรับพื้นที่ ไถระเบิดดินดาน เตรียมท่อนพันธุ์สะอาดโดยทำแปลงผลิตพันธุ์เอง เน้นปลูกอ้อยข้ามแล้ง ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้ใบอ้อยตัดสดคลุมเพื่อรักษาความชื้นในดิน และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปรับโครงสร้างดิน และใส่ปุ๋ยเคมีบำรุงตอ อ้อย 25 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่เนื่องจากกากใบอ้อยมีความหนาทำให้ปุ๋ยที่หว่านในแปลงอ้อยตกลงไม่ถึงพื้นดิน จึงหาวิธีการให้ปุ๋ยลงดินโดยการนำโซ่มัดเอว 2 ข้าง แล้วเดินหว่านปุ๋ย ปลายสายโซ่ที่มัดเอวไว้จะปัดตีใบอ้อย ทำให้ปุ๋ยตกลงสู่ดินเป็นธาตุอาหารอย่างเต็มที่ และไม่ระเหิดสู่อากาศ และใช้แรงงานคนกำจัดวัชพืชเพื่อลดความเสียหายของตออ้อยจากเครื่องจักรทางการเกษตร

น้ำหมักยูเรียย่อยสลายใบอ้อย

ข้อดีของการไม่เผาใบอ้อย นอกจากอนุรักษ์แมลงศัตรูธรรมชาติและรักษาระบบนิเวศในแปลงอ้อยแล้ว หลังตัดอ้อยสดและใช้ใบอ้อยคลุมดิน คุณวีนัดใช้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) 25 กิโลกรัม + น้ำเปล่า 200 ลิตร หมักไว้ 7 วัน ฉีดพ่น 5-6 ครั้ง เพื่อให้ใบอ้อยย่อยสลาย ใบอ้อยเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ทำให้อ้อยตอมีผลผลิตที่ดี อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ใบอ้อยย่อยสลายได้ไว ควรฉีดพ่นน้ำหมักยูเรียในช่วงที่มีฝนและมีความชื้นเท่านั้น

เคล็ดลับปลูกอ้อยอย่างยั่งยืนของคุณวีนัด

การนำเทคโนโลยีน้ำหมักยูเรียย่อยสลายตอซังข้าวมาประยุกต์ในแปลงไร่อ้อยพบว่า ใบอ้อยและตออ้อยเหนือดินย่อยสลายได้เร็ว ตออ้อยไม่มีเชื้อราและเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุและความชื้นในดินต้นอ้อยงอกใหม่จากตาใต้ดิน เติบโตแข็งแรง ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดินมีความชื้น ไม่ต้องให้น้ำในฤดูแล้ง และเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ด้วยวิธีการนี้ สามารถไว้ตออ้อยที่ปลูกจนปัจจุบันได้ถึง 19 ตอ โดยผลผลิตไม่ลดลง ขณะที่ไร่อ้อยส่วนใหญ่มีผลผลิตลดลงตามจำนวนปีที่ไว้ตออ้อย

ไม่ขาดแรงงานตัดอ้อย

การเก็บเกี่ยวอ้อย คุณวีนัดใช้แรงงานคนตัดอ้อยสดเป็นหลักทุกปี สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวอ้อยได้สำเร็จ เพราะแบ่งพื้นที่ปลูกตออ้อยของตนเองให้แรงงานตัดอ้อย โดยแบ่งญาติและเพื่อนบ้าน จำนวน 4 ครอบครัว ครอบครัวละประมาณ 3-5 ไร่ เพื่อให้มีรายได้จากการขายอ้อยและเป็นเจ้าของไร่อ้อยนอกเหนือจากการเป็นเพียงผู้รับจ้าง ซื้อรถเกี่ยวข้าวเพื่อช่วยเกี่ยวข้าวในแปลงนาของสมาชิกและเพื่อนบ้าน ทำให้มีแรงงานมาช่วยในการตัดอ้อยสดในระยะเวลาที่ต้องการ

ใช้ปุ๋ยยูเรีย 25 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร หมักไว้ 7 วัน ก่อนนำไปฉีดพ่นใบอ้อย

คุณวีนัด ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเพื่อลดต้นทุนการผลิต เลือกใช้ปุ๋ยสั่งตัดจากการผสมแม่ปุ๋ยเอง ไม่เผาใบอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวเพื่ออนุรักษ์สัตว์ แมลงศัตรูธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาของแมลงสัตว์ศัตรูอ้อยและวัชพืช โดยตัดใบอ้อยทิ้งในแปลงปลูก เป็นการรักษาความชื้นและเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน

ใช้ผลกำไร ซื้อที่ปลูกอ้อยเพิ่ม

คุณวีนัด เริ่มต้นปลูกอ้อยจากที่ดินมรดกเพียง 8 ไร่ แต่ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 200 ไร่ จากชาวไร่อ้อยขนาดเล็ก ขยับขึ้นเป็นชาวไร่อ้อยขนาดกลาง และมีโอกาสเป็นชาวไร่อ้อยขนาดใหญ่ได้ในอนาคต เพราะคุณวีนัดไม่ซื้อรถแทรกเตอร์ เนื่องจากปลูกอ้อยใหม่น้อยมากในแต่ละปี เพราะไว้ตอได้หลายครั้ง มีอ้อยปลูกใหม่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ การจ้างรถไถจึงคุ้มกว่า มีรถบรรทุกสิบล้อสำหรับขนส่งอ้อยเพียงคันเดียวเท่านั้น ต้นทุนการผลิตอ้อยจึงต่ำมาก มีกำไรประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้

คุณวีนัด และคุณบุญพร้อม สำราญวงศ์ (ยืนตรงกลาง)

ในแต่ละปีคุณวีนัดมีรายได้สุทธิไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท และนำเงินส่วนนี้ไปซื้อที่ดินเพิ่มเกือบทุกปี ทำให้มีที่ดินปลูกอ้อยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จาก โรงงานน้ำตาลพิมาย (FB: kisugargroup) และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

Related Posts