เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

เรียนรู้ความสำเร็จ ‘Smart Farming’ สร้างความยั่งยืนเกษตรไทย

‘เกษตรสมัยใหม่’ หากจะสร้างความยั่งยืนไม่เพียงต้องปรับตัว ปรับทัศนคติ และยังต้องปรับปรุงองค์ความรู้ที่มีให้ทันสมัยและสอดคล้องกับตลาดด้วย เหตุนี้เองการทำ Smart Farming คือการพัฒนาไปสู่อีกบริบทหนึ่งของภาคเกษตรไทยที่ต้องไปให้ถึง ‘เกษตรอัจฉริยะ’

Bangkok Bank SME จึงชวนศึกษาความสำเร็จของการทำ Smart Farming เกษตรอัจฉริยะยุคใหม่ที่ไม่ได้เป็นเพียงเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านการเพาะปลูก การบริหารจัดการ และด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

โดยเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ คือ ‘Precision Agriculture’ ช่วยให้ลักษณะการทำ Smart Farming ในอนาคต คล้ายกับการดำเนินงานในอุตสาหกรรมในแง่ที่มีการตรวจวัดค่าตัวแปรต่างๆ เช่น ความชื้น และคุณสมบัติทางแร่ธาตุของดิน การให้น้ำ และปุ๋ยเพื่อให้สภาพแวดล้อมต่างๆ เหมาะกับการสร้างผลผลิตต่อไร่สูงสุด ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว ประกอบด้วย

  1. Precision Planting : เป็นการลงเมล็ดพืชในอัตราที่แตกต่างกันในฟาร์ม โดยลงเมล็ดพืชที่ค่อนข้างหนาแน่นในพื้นที่ซึ่งดินมีคุณภาพสูง และลงเมล็ดพืชที่มีลักษณะพันธุกรรมที่ต่างกันให้เหมาะสมต่อพื้นที่บริเวณต่างๆ ของฟาร์ม
  2. Precision Fertilizing : เป็นการให้ปุ๋ยในปริมาณที่แตกต่างกันในแต่ละส่วนของฟาร์ม ตามธาตุในดินของพื้นที่นั้นๆ
  3. Precision Spraying : ทำการวิเคราะห์และเน้นฉีดสารเคมีในพื้นที่มีวัชพืชหนาแน่น ทำให้สามารถลดการใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชราว 60%
  4. Precision Irrigation : ระบบวิเคราะห์น้ำในดิน และสภาพอากาศ เพื่อการปล่อยน้ำให้ดินให้มีระดับความชื้นที่เหมาะสม

ทำเกษตรอัจฉริยะ ผลผลิตเพิ่ม

หนึ่งในฟาร์มที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวใช้ คือ Jones Enterprise ธุรกิจฟาร์มซึ่งมีพื้นที่กว่า 58,000 เอเคอร์ในสหรัฐอเมริกา โดยได้เลือกวิธีการ Precision Planting ซึ่งใช้ multi-hybrid seed planter เพื่อแยกปลูกเมล็ดเป็น 2 แบบคือ แบบที่ใช้น้ำน้อยและแบบปกติ

การปลูกแบบดังกล่าวทำให้ผลผลิตต่อไร่ของข้าวโพดในฟาร์มเพิ่มขึ้น และปัจจุบัน Jones Enterprise อยู่ระหว่างการประเมินการใช้ Precision Fertilizing โดย Trimble ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีการเกษตรประเมินว่า หากมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้จะช่วยลดต้นทุนราว 10% และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ราว 10%

ขณะที่นวัตกรรม Smart Farming ของบริษัท CombaGroup จากสวิตเซอร์แลนด์ ได้มีการพัฒนาระบบและเทคโนโลยีการปลูกผักสลัดที่มีการเก็บเกี่ยวแบบสดใหม่ พร้อมบริโภคหรือพร้อมบรรจุในบรรจุภัณฑ์ ด้วยการใช้ระบบการปลูกพืชในโรงเรือน ประกอบด้วย

  1. การปลูกพืชในอากาศ (mobile aeroponics)
  2. การจัดสรรพื้นที่ (spacing technologies)
  3. การควบคุมสภาพอากาศ (climate control)

ทำให้สามารถปลูกผักออร์แกนิก ได้ตลอดทั้งปี โดยได้ผลผลิตถึง 800 ตัน ต่อปี ต่อพื้นที่ 6 ไร่

นอกจากนี้ ยังสามารถลดการใช้น้ำได้ถึง ร้อยละ 90 รวมทั้งช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่าครึ่งหนึ่งของการปลูกผักแบบดั้งเดิม และยังช่วยลดภาระด้านสิ่งแวดล้อมของระบบการผลิตอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการลดขั้นตอนการขนส่งและลดปริมาณของเสียที่เกิดจากการเกษตรและน้ำเสียต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ช่วยให้ผักมีความสดใหม่ รสชาติอร่อย และสามารถเก็บรักษาได้นานยิ่งขึ้น ปัจจุบันกำลังเริ่มขยายธุรกิจในการให้บริการเทคโนโลยีดังกล่าวในประเทศต่างๆ เช่น สวีเดน คูเวต และรัสเซีย

สู่ความยั่งยืนด้านเทคโนโลยีเกษตร

ปัจจุบัน เกษตรกรในบ้านเราจำนวนมากเริ่มสนใจนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเข้ามาใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรมากขึ้น โดยเกษตรกรไทยได้รับการสนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านมาใช้ระบบ Smart Farming กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น สามารถควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะควบคุมปัญหาด้านสภาพแวดล้อม ดินฟ้า อากาศ ผลผลิตตามที่ต้องการ โดยจะเป็นการเพิ่มมูลค่าอย่างมากให้กับวงการเกษตรกรไทย

หนึ่งในตัวอย่างซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีการนำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) สำหรับฉีดพ่นสารเหลว โดยเห็นความเปลี่ยนแปลงได้จากพื้นที่แปลงนาข้าวอินทรีย์ใน ตำบลท่าไข่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจากเดิมมีผลผลิต 200 กิโลกรัม ต่อไร่ เพิ่มเป็น 600 กิโลกรัม ต่อไร่ ทำให้เกษตรกรในจังหวัดอื่นๆ สมัครใช้บริการเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับดังกล่าว เช่น เกษตรกรในจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และอุบลราชธานี

ตัวอย่างเกษตรกรไทยที่ทำ Smart Farming

ธีรพงษ์ กาญจนกันติกุล’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทวดา คอร์ป สตาร์ทอัพสายยูเอวี (UAV) หรืออากาศยานไร้คนขับผู้ให้บริการโดรนด้านการเกษตรและชีวภัณฑ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเซอร์วิส โพรไวเดอร์ โดรนสำหรับการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบัน มีเกษตรกรปลูกข้าวภายในจังหวัดฉะเชิงเทรา ประมาณ 100 ราย โดยเริ่มเข้ามาใช้บริการโดรนเพื่อช่วยพ่นยาในแปลงข้าว ซึ่งมีพื้นที่แปลงข้าวรวมกันไม่ต่ำกว่า 3,000 ไร่ คิดค่าบริการอยู่ที่ 80-100 บาท ต่อไร่

ฟาร์มไก่ไข่ระบบอัจฉริยะ IoT (Internet of Thing) ของ พรรัตภูมิฟาร์ม ที่ใช้กระบวนการเลี้ยงไก่ไข่และการจัดการฟาร์มไก่ไข่ระบบอัจฉริยะ ควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT มีเซ็นเซอร์วัดระดับความชื้น อุณหภูมิความเข้มของแสง และปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของไก่ มีทีมเฝ้าติดตามระบบคอยตรวจสอบ 24 ชั่วโมง ช่วยให้ไข่ไก่มีคุณภาพดี มีฟองใหญ่ สดใหม่ ขายได้ราคาสูง และระบบนี้ยังสามารถนำไปใช้กับระบบฟาร์มอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่จากฟาร์ม แตะขอบฟ้า เจ้าของฟาร์มมะเขือเทศเชอรี่อย่าง ปิยะ กิจประสงค์ ที่ใช้เทคโนโลยีน้ำหยดผสมกับเทคโนโลยี IoT มาใช้ในการทำฟาร์ม และยังถือว่าเป็นการทำเกษตรปลอดภัย สามารถควบคุมและตรวจสอบสภาพต่างๆ ภายในฟาร์มได้อย่างแม่นยำ กลายเป็นฟาร์มแนวหน้าของไทยอย่างครบวงจร ด้วยการลดแรงงาน ลดต้นทุน เพิ่มรายได้

ในอนาคตอันใกล้ ‘Smart Farming’ จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยภาคการเกษตร โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ช่วยเพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี เพราะโลกยุคปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกคนจึงต้องก้าวตามให้ทันโลกไม่เว้นแม้แต่เกษตรกร

 อ้างอิง https://www.arda.or.th/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน 1333

 

 

Related Posts