เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

ผู้ว่าฯ น่าน “เข็นคน” ลงจากเขาหัวโล้น เปลี่ยนอาชีพปลูกข้าวโพด 2.8 หมื่นครัวเรือน

เมืองน่านแม้จะเป็นจังหวัดเล็ก ๆ แต่มีความสำคัญอย่างมากในฐานะเป็นพื้นที่ต้นน้ำของประเทศ โดยสัดส่วนของปริมาณน้ำ 40% ของแม่น้ำเจ้าพระยามาจากแม่น้ำน่าน

ทว่าปัญหาที่สะสมเรื้อรังมานานก็คือพื้นที่ต้นน้ำกลายเป็นภูเขาหัวโล้น พื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ลดลงอย่างน่าใจหายหลังจากมีการกระตุ้นส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว“ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ที่มีพื้นที่ปลูกมากอันดับต้น ๆ ของประเทศปีละเกือบ 1 ล้านไร่

แม้ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนจะปลุกกระแสไปช่วยกันปลูกป่าเพิ่ม หรือไปส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ทดแทน เช่น กาแฟ แต่ก็ถือว่ายังผิดกฎหมายเหมือนเดิม เพราะทำกินในพื้นที่ป่า วันนี้รากเหง้าของปัญหาจึงยังไม่ถูกปลดชนวน “ไพศาล วิมลรัตน์” ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน จะมีแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างไร



Q : ปัญหาที่แท้จริงของเมืองน่านคืออะไร

ปัญหาของน่านวันนี้คือ ที่ทำกินถูกกฎหมายมีน้อย พื้นที่จังหวัดน่านเป็นพื้นที่ป่า 85% เหลือพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินมีน้อยมากเพียง 15% เท่านั้น และปัญหาอีกด้านคือ คนอยู่ในป่ามาก่อนที่รัฐจะประกาศเขตป่าครอบทับลงไป ซึ่งเดิมเป็นป่าอุดมสมบูรณ์และมีสถานการณ์การสู้รบในอดีต ประชาชนเหล่านี้จึงไม่มีหลักฐานมาแสดง ทำให้ติดอยู่ในป่ามาจนถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกันก็ทำให้ราชการเข้าไปช่วยเหลือหรือสนับสนุนไม่ได้

ฉะนั้นเมื่อไม่มีพื้นที่ทำกิน ประชาชนจึงไม่มีทางเลือก แต่ต้องกินต้องใช้ เขาไม่รู้จะทำอะไรจึงหันมาปลูกข้าวโพด เมื่อไม่มีพื้นที่ทำกินจึงต้องปลูกบนดอย เพราะเป็นพืชระยะสั้น 6 เดือน ทำเร็ว เกี่ยวเร็ว ได้เงินเร็ว และที่ผ่านมามีระบบตลาดที่มาเกื้อหนุน เป็นแรงจูงใจให้ปลูก น่านจึงเป็นแบบนี้

ดังนั้นยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดน่านจึงพยายามที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างอาชีพใหม่โดยให้เขาหันกลับมาทำเกษตรในพื้นที่ที่ถูกกฎหมาย ซึ่งรัฐจะต้องหาพื้นที่รองรับให้ได้ก่อน

Q : จะแก้ไขหรือฟื้นฟูเขาหัวโล้นอย่างไร

วันนี้ผมพยายามเปลี่ยนโครงสร้างอาชีพเขาเสียใหม่บนพื้นที่ที่ถูกกฎหมายไม่เช่นนั้นพอเราไปเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตเขาโดยไม่คำนึงถึงเรื่องพื้นที่ เช่น ไม่ให้ปลูกข้าวโพด แต่ให้ปลูกพืชชนิดอื่นแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันก็ผิดกฎหมายอยู่ดี เพราะเป็นพื้นที่ผิดกฎหมาย ทำอะไรก็ผิดกฎหมายทั้งนั้น

ฉะนั้นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ถูกกฎหมายก็คือ นำคนลงจากดอยมาอยู่ในพื้นที่ที่ถูกกฎหมาย เช่น การกันเขตออกมาจากป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งตอนนี้คณะกรรมการจัดสรรที่ดินทำกินแห่งชาติ (กทช.) ก็กำลังดำเนินการอยู่ และจะต้องทำให้เขามีอาชีพ มีรายได้ใกล้เคียง หรือมากกว่าปลูกข้าวโพด เขาจึงจะยอมลงมา รวมทั้งการนำเกษตรแปลงใหญ่มาช่วยสร้างอาชีพด้วย

อย่างไรก็ตาม การทำอะไรในเขตป่าไม่ใช่อำนาจผู้ว่าฯ แต่เป็นอำนาจของอธิบดีกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่จะสงวนหวงห้ามไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งทางจังหวัดก็ได้เสนอเรื่องไปที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว พื้นที่ประมาณ 3 แสนไร่ ครอบคลุมทั้ง 15 อำเภอของจังหวัดน่าน

Q : มีประชาชนอยู่ในเขตป่าเท่าไหร่ที่จะต้องลงจากดอย

ข้อมูลเบื้องต้นจากกลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดแจ้งว่ามีประมาณ28,000 ครัวเรือน ซึ่งเขาก็ยินดี แต่เราจะต้องมีพื้นที่ที่ถูกกฎหมายก่อน พร้อมทั้งจัดทำโซนนิ่งว่าตรงไหนเหมาะที่จะทำอะไร ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว และที่สำคัญจะต้องสร้างแรงจูงใจ ถ้าลงมาแล้วจะได้รับการดูแล มีรายได้ที่ใกล้เคียงกับการปลูกข้าวโพด และอยู่อย่างถูกกฎหมาย ไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ หรือหนีอีกต่อไป ซึ่งรายได้จากการปลูกข้าวโพดของแต่ละครอบครัวมีตั้งแต่ 6 หมื่นบาทจนถึง 1 แสนบาทต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับใครทำมากทำน้อยด้วย

Q : จะดำเนินการในพื้นที่ไหนก่อน

จะเริ่มนำร่องทำเป็นตัวอย่างให้เห็นที่อำเภอนาน้อย โดยจะเข้าไปจัดรูปที่ดินก่อน และทยอยประกาศเป็นอำเภอ ๆ ว่าเลิกบุกรุกแล้ว เมื่อชาวบ้านมีงานทำ คนก็จะยุติการช่วงชิงที่ดินรัฐ

Q : อาชีพอะไรที่จะมาแทนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ตอนนี้จังหวัดและสถาบันการเงินต่าง ๆ ก็ได้ส่งเสริมการปลูกและแปรรูปกาแฟแบบครบวงจร และการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งก็ต้องทำในพื้นที่ที่ถูกกฎหมายเท่านั้น รวมทั้งจะส่งเสริมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น ไก่ไข่ เพราะที่ผ่านมาน่านต้องสั่งซื้อไข่ไก่จากจังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ พะเยา เดือนละ 1.5 ล้านฟอง เรื่องนี้ผมก็ได้ประสานกับภาคเอกชนแล้ว

นอกจากนั้น ก็ต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนไปด้วย เมื่อเราไม่สามารถมีที่ทำกินในป่า เราก็จะใช้ป่าเป็นแหล่งทำกิน ทำท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งตอนนี้การท่องเที่ยวเมืองน่านก็กำลังเติบโต มีนักท่องเที่ยวเข้ามาปีที่แล้วประมาณ 14 ล้านคน มีรายได้เข้าสู่จังหวัด 900 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้รายได้น่าจะเพิ่มขึ้นถึง 1,000 ล้านบาท

Q : อยากให้รัฐบาลสนับสนุนอะไรบ้าง

อยากให้มีมติคณะรัฐมนตรีสนับสนุนยุทธศาสตร์จังหวัด คือ ได้รับการคุ้มครองหรือมารองรับการเปลี่ยนโครงสร้างอาชีพใหม่ในป่าได้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถที่จะหยิบยื่นโอกาสให้ชาวบ้านได้เลย ส่วนการทวงคืนป่านั้น ถ้าเราไม่มีอาชีพอื่นไปให้เขาเลือก เขาก็ทำผิดหรือปลูกข้าวโพด ทำตามอาชีพที่ถนัดเหมือนเดิม

Q : น่านมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่อะไรบ้าง

การลงทุนอุตสาหกรรมไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้เพราะผังเมืองเป็นพื้นที่ต้นน้ำ โรงงานขนาดใหญ่จึงไม่มี น่านเป็นเมืองเอสเอ็มอี อย่างไรก็ตามมีโครงการที่จังหวัดเสนอขอรับการสนับสนุนในอนาคตคือ การสร้างสะพานเชื่อมที่อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน กับอำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งปัจจุบันต้องใช้แพขนานยนต์ข้ามฟาก ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาเดินทางไปสู่จังหวัดพิษณุโลกเหลือเพียง 200 กิโลเมตร เพราะไม่ต้องอ้อมไปผ่านอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่

ถ้าทำโครงการนี้ได้ จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงภาคเหนือตอนล่างได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งยุทธศาสตร์น่านใน 10-20 ปีข้างหน้าจะมุ่งตะวันออกมากขึ้น จะเป็นประตูส่งออกสินค้าสู่ลาว จีน และเวียดนามใต้ โดยผ่านด่านห้วยโก๋นเข้าสู่แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ออกไปสู่จีนตอนใต้ และเวียดนาม มีความได้เปรียบในการแข่งขัน และยังช่วยพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชื่อมโยงอีกด้วย

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

Related Posts