เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

สวก.พัฒนาตำรับยา“ กระท่อม”  บำบัดผู้ป่วยติดยาเสพติด

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2567 ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ลงนามบันทึกความเข้าใจ กับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กรมการแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมแบบครบวงจรสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ร่วมพัฒนาต่อยอดงานวิจัยพัฒนายาจากพืชกระท่อมใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด   สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในการตั้งเป้าผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของความเป็นเลิศด้านการแพทย์และสุขภาพ

ปัจจุบัน กรมการแพทย์ โดย สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) โรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี มีบทบาทสำคัญในการรับส่งต่อและบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่มีความยุ่งยากซับซ้อน รวมทั้งสนับสนุนและสร้างความร่วมมือในการศึกษาวิจัยทางคลินิกพัฒนาเทคโนโลยีการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เพื่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน ซึ่งการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดไม่ใช่เพียงการรักษาอาการฉุกเฉินแล้วหายขาดเท่านั้น ต้องอาศัยการดูแลอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกด้านของชีวิต ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ด้านสังคม และการดำเนินชีวิต

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่ช่วยผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย ซึ่งการลงนามความมือในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการนำตำรับยากระท่อมมาใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ผ่านกระบวนทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ภายใต้จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ สอดคล้องกับมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2565 ที่มอบหมายให้ สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ การใช้ประโยชน์ตามวิถีชุมชน และคุ้มครองสุขภาพของบุคคล ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยพืชกระท่อมอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างเป็นระบบต่อไป

“ ตำรับยาจากพืชกระท่อม”  ทางเลือกใหม่

บำบัดผู้ติดยาเสพติด แทนการใช้ยาเคมี  

ปัญหาเรื่องยาเสพติดถือเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากมีผู้ใช้สารเสพติดสูงถึง 1.4 ล้านคน และสถิติของผู้เสพมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี ทั้งกลุ่มผู้เสพสารกระตุ้นประสาท (stimulant) เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ โคเคน  รวมทั้งกลุ่มผู้เสพสารกดประสาท (depressant)เช่น แอลกอฮอล์ ฝิ่น เฮโรอีน เป็นต้น 

ปัจจุบันนี้มียาเคมีหลายตัวที่ถูกนำมาใช้ทดแทนสารเสพติดในผู้ที่ต้องการเลิกยา เช่น เมทาโดน (Methadone) เป็นยาแผนปัจจุบัน (เป็นสารในกลุ่มเดียวกันกับฝิ่น เฮโรอีนและมอร์ฟีน)ที่ช่วยลดความอยากยาและความทรมานได้ดีพอสมควร แต่ไม่สามารถงดการใช้เมทาโดนได้เลย กลายเป็นว่าความพยายามในการบำบัดได้นำไปสู่การเสพติดยาอีกชนิด ดังนั้น การประยุกต์ใช้พืชกระท่อม อย่างมีหลักการภายใต้การดูแลของสถานบำบัดร่วมไปกับการทำกิจกรรมบำบัดและการฝึกวิชาชีพน่าจะเป็นทางออกที่ดีเพราะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจและร่างกายได้อย่างยั่งยืนที่สุด 

ปัจจุบัน หลายประเทศได้นำพืชกระท่อมไปใช้ประโยชน์เพื่อทดแทนสารเสพติดเช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ไอซ์ และยาบ้า เพื่อลดอาการถอนจากการหยุดเสพสารเสพติด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ได้ดำเนินงานวิจัยเรื่องพืชกระท่อมมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) โดยการนำพืชกระท่อมมาพัฒนาเป็นเภสัชตำรับเพื่อนำไปใช้บำบัดผู้เสพยาเสพติดและทดสอบประสิทธิภาพ รวมถึงความปลอดภัยของเภสัชตำรับที่พัฒนา     

ผลการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบว่า พืชกระท่อมมีสารสำคัญ ได้แก่ ไมทราไจนีน (Mitragynine) และ 7-ไฮดรอกซีไมทราไจนีน (7-hydroxymitragynine) ที่มีฤทธิ์ระงับปวด รักษาอาการท้องเสีย ลดน้ำหนัก ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ต้านอาการซึมเศร้าคลายกล้ามเนื้อลาย ยับยั้งกลุ่มอาการถอนยาจากเอทานอล ลดอาการวิตกกังวลจากกลุ่มอาการถอนยากลุ่มสารฝิ่น  สำหรับอาการถอนยาที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใช้พืชกระท่อมจะไม่แสดงอาการก้าวร้าว ต่างจากกลุ่มที่ติดสารเสพติดประเภทอื่น เช่น ยาบ้า ไอซ์  ที่มักจะแสดงอาการก้าวร้าว อย่างเห็นได้ชัด            

   ……… ต้นฉบับ 17 มิ.ย. 67

Related Posts