หมดปัญหา ‘ทุเรียนไม่สุก–สุกเกิน’ ด้วยเทคโนโลยี CT-Scan นวัตกรรมใหม่ที่กำลังเปลี่ยนการคัดแยกคุณภาพทุเรียนไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ตลาดผลไม้ไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันด้านคุณภาพจากทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก โดยเฉพาะ “ทุเรียน” ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกต่อปีนับแสนล้านบาท หนึ่งในปัญหาเรื้อรัง คือ “ความไม่แน่นอนของเนื้อใน” ที่ผู้บริโภคไม่สามารถรู้ได้จนกว่าจะผ่า

ปัญหานั้นกำลังถูกแก้ไขด้วยเทคโนโลยีล่าสุดจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA ผ่านโครงการสนับสนุนทุนวิจัยที่สร้าง “นวัตกรรมจับต้องได้” อย่างแท้จริง
นางสาวศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (ARDA) กล่าวว่า ในยุคที่เกษตรไทยเผชิญทั้งปัญหาแรงงานขาดแคลน ต้นทุนสูงและการแข่งขันที่เน้น “คุณภาพมากกว่าปริมาณ” การเปลี่ยนผ่านสู่ เกษตรสมัยใหม่ จึงไม่ใช่แค่แนวคิดอีกต่อไป

ARDA ในฐานะหน่วยงานบริหารทุนวิจัยภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเกษตรไทยสู่อนาคต ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน AgriTech เช่น เกษตรแม่นยำ และ เกษตรอัจฉริยะ เพื่อยกระดับศักยภาพของเกษตรกรไทยให้ตอบสนองตลาดโลกด้าน ความมั่นคงทางอาหาร พร้อมกับเพิ่ม มูลค่าสินค้าเกษตร และ ราคาพืชผล อย่างยั่งยืน

“เครื่องสแกนทุเรียนเป็นตัวอย่างหนึ่งของ การนำนวัตกรรมวิทยาศาสตร์มาผนวกเข้ากับการผลิตจริงในภาคเกษตร ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักของ ARDA ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่ ยุคเกษตรอัจฉริยะ ตลาดโลกไม่ได้ต้องการแค่ผลไม้ที่สวยภายนอก แต่ต้องการ ‘คุณภาพภายใน’ ที่ตรวจสอบได้ การมีเครื่องมือทางเทคโนโลยีแบบนี้จึงไม่ใช่แค่ความสะดวก แต่คือเงื่อนไขของการแข่งขันในระดับโลก” นางสาวศิริกร กล่าว

รู้ผลใน 3 วินาที ไม่ต้องผ่า ไม่ต้องลุ้น
เครื่องสแกนทุเรียน หรือ CT-Scan ทุเรียน ได้รับการพัฒนาภายใต้ทุนสนับสนุนของ ARDA โดยนำหลักการทำงานแบบเดียวกับเครื่อง CT-Scan ทางการแพทย์มาปรับใช้กับทุเรียน โดยใช้คลื่นพลังงานชนิดเฉพาะสแกนผลทุเรียนทั้งผล เพื่อประมวลผลผ่าน AI ดูระดับความสุก ความแน่นเนื้อ และโครงสร้างภายใน

ผลลัพธ์ปรากฏภายใน 3 วินาที โดยไม่ทำลายผลทุเรียนแม้แต่น้อย และสามารถจำแนกคุณภาพของเนื้อทุเรียนได้อย่างแม่นยำ แยกได้ว่า
• สุกมาก–น้อย
• มีโพรง–ไม่มีโพรง
• เนื้อแน่น–เนื้อยุ่ย
• เหมาะสำหรับบริโภคหรือแปรรูป

ARDA ได้เริ่มต้นทดสอบใช้งานจริงแล้วที่ล้งทุเรียนจังหวัดจันทบุรี หนึ่งในพื้นที่ผลิตและรวบรวมทุเรียนส่งออกสำคัญของประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการในพื้นที่ ผลการทดสอบ พบว่า เทคโนโลยีนี้สามารถลดความเสี่ยงจากการส่งออกทุเรียนด้อยคุณภาพได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังช่วยประหยัดเวลาและแรงงานในการคัดแยกผลผลิต ช่วยให้การควบคุมคุณภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

การมีเทคโนโลยี “สแกนเนื้อทุเรียน” อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ทุเรียนไทยสามารถเข้าสู่ตลาดพรีเมียมได้อย่างมั่นใจ เพราะสามารถการันตีคุณภาพ ตั้งแต่ยังไม่ผ่า เพราะการแข่งขันในตลาดโลกไม่ได้อยู่ที่ “ใครผลิตได้มาก” แต่อยู่ที่ “ใครควบคุมคุณภาพได้ดีกว่า” เทคโนโลยีจาก ARDA จึงไม่ใช่เพียงเครื่องจักร แต่คือคำตอบของอนาคตที่ภาคเกษตรไทยกำลังมุ่งหน้าไป