เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

สสวท.เผยผลประเมิน นร. “ปิซ่า 2015” ทักษะการทำงานกลุ่มเด็กไทยต่ำกว่าเกณฑ์โออีซีดี

นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยได้ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ดำเนินโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (ปิซ่า) เพื่อประเมินคุณภาพระบบการศึกษาของประเทศในการเตรียมความพร้อมเยาวชนอายุ 15 ปีให้มีศักยภาพสำหรับการแข่งขันในอนาคต ต่อเนื่องทุก 3 ปีนั้น ปิซ่า 2015 ยังได้เพิ่มการประเมินสมรรถนะด้านการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ หรือ ซีพีเอส ที่นักเรียนต้องใช้ทั้งทักษะการแก้ปัญหา และทักษะการทำงานแบบร่วมมือกับเพื่อนในกลุ่ม ทำภารกิจในข้อสอบให้สำเร็จลุล่วงโดยใช้สถานการณ์ในชีวิตจริงที่สมาชิกในกลุ่มต้องร่วมกันแก้ปัญหาผ่านการทำข้อสอบด้วยคอมพิวเตอร์ และนักเรียนเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มที่ต้องทำความเข้าใจกับเป้าหมายและเงื่อนไขของภารกิจที่ได้รับมอบหมาย รู้บทบาทหน้าที่ของตนเองและเพื่อน แล้วสื่อสาร แบ่งปันข้อมูล และร่วมกันแก้ปัญหากับเพื่อนในกลุ่มให้สำเร็จ

“โออีซีดี ได้เผยแพร่ผลการประเมินสมรรถนะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือของ 52 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่เลือกสอบสมรรถนะนี้ในปิซ่า 2015 ผลการประเมินพบว่า 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 561 คะแนน ญี่ปุ่น 552 คะแนน ฮ่องกง 541 คะแนน เกาหลี 538 คะแนน และแคนาดาและเอสโตเนีย 535 คะแนน สำหรับประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ย 436 คะแนน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโออีซีดีที่กำหนดไว้ 500 คะแนนอยู่ 64 คะแนน” นางพรพรรณกล่าว

หากแยกเป็นกลุ่มโรงเรียนพบว่า กลุ่มโรงเรียนที่เน้นวิทยาศาสตร์มีคะแนนสูงถึง 559 คะแนน อยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มบนสุด 5 อันดับแรก และกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยคือ 520 คะแนน ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่นๆ ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยข้างต้น เมื่อแยกเป็นเพศพบว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ นักเรียนหญิงจะมีคะแนนด้านนี้สูงกว่านักเรียนชาย 29 คะแนน โดยนักเรียนหญิงไทยมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชายถึง 35 คะแนน ซึ่งเกิดจากการมีเจตคติต่อการทำงานเป็นทีมที่ดีกว่า

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ฉบับวันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2560

Related Posts