“การลองผิดลองถูกหลายๆ วิธี ไม่ว่าจะเป็นการลดแลกแจกแถม เพื่อให้คนในหลายอาชีพ หลายพื้นเพ รู้จักสินค้า พร้อมรับฟังความคิดเห็นแล้วนำคำติชมมาปรับปรุงแก้ไข โดยอาศัยความผิดพลาดให้เป็นครูสอนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เริ่มแรกคือ การทำปลากะพงบางบ่อ เพราะคิดว่ามีสูตรปลาสลิดบางบ่ออยู่แล้วคงทำได้ไม่ยาก แต่ปรากฏว่าลักษณะของเนื้อปลาไม่เหมือนกัน จึงต้องปรับปรุงและพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน”
คือแนวคิดของ “วุฒิชัย แป้นถึง” เจ้าของแบรนด์ปลากะพงไร้ก้างพร้อมปรุง สมุทรเชฟ (Samutr Chef) ทายาทรุ่นที่ 2 ของฟาร์มปลากะพงราชาวดี ที่ได้เข้ามาสืบทอดกิจการต่อจากครอบครัว ที่ทำมากว่า 25 ปีแล้ว
“วุฒิชัย” เล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า หลังจากเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัยจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2558 เริ่มหันมาทำฟาร์มอย่างจริงจัง มีความคิดที่จะพัฒนาฟาร์มปลากะพงราชาวดีกว่า 150 ไร่ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดของครอบครัวให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น แม้เคยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นข้าราชการ แต่ตนคลุกคลีอยู่กับปลากะพงมาตั้งแต่เด็ก รับรู้กระบวนการการผลิตของปลากะพงตั้งแต่ไข่ปลาเริ่มฟักตัว จนกระทั่งมาเป็นอาหารอยู่บนจาน ฉะนั้น จึงตั้งความหวังไว้ว่าจะทำให้ปลากะพงของจังหวัดสมุทรปราการเป็นสินค้าแบรนด์หรูเทียบชั้นกับปลาแซลมอน หรือปลาหิมะให้ได้
ปัจจุบันการพัฒนาแบรนด์อยู่ในช่วงทดลองฝากขายตามห้างสรรพสินค้า Tops Supermarket ในกรุงเทพฯ ได้แก่ โรบินสัน ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, มาร์เก็ตเพลส นางลิ้นจี่, เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต, เซ็นทรัล ลาดพร้าว และเซ็นทรัล พระราม 2 ซึ่งได้เริ่มคิกออฟตลาดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยยังคงพัฒนาแพ็กเกจจิ้งควบคู่กันไปด้วย โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในไตรมาสที่ 1-2 ปี 2561 จะสามารถผูกสัญญากับห้างสรรพสินค้าได้ และอาจจะเพิ่มสาขาจัดจำหน่ายให้มากขึ้น ส่วนไตรมาสที่ 3-4 วางแผนไว้ว่าจะขยายการตลาดไปยัง Max Value, Food Land, Food Villa และ Gourmet Market ให้ได้
จากภาพรวมของตลาดปลากะพงในประเทศไทยมีเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 2 พันล้านบาท/ปี หรือตีเป็นปลากะพงเฉลี่ยเกือบ 20 ล้านกิโลกรัม ต่อปี และพบได้มากที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และสุราษฎร์ธานี ส่วนสมุทรปราการนั้นมีอยู่ไม่กี่เจ้า
เขาจึงมองว่า การจะทำผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่นต้องสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและน่าจดจำ จึงได้เลือกใช้กลยุทธ์สีน้ำเงิน หรือ Blue Ocean Strategy มาพัฒนาเป็นแบรนด์ Samutr Chef เป็นการแสวงหาทะเลแห่งใหม่ แทนที่จะมุ่งลอกเลียนแบบเอาชนะคู่แข่ง ซึ่งหลักการที่สำคัญคือ ไม่เน้นอุปสงค์หรือลูกค้ากลุ่มเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่จะเน้นสร้างอุปสงค์หรือความต้องการของผู้บริโภคขึ้นมาใหม่ ภายใต้การตลาดแบบใหม่
“วุฒิชัย” บอกว่า กรรมวิธีการแล่ก้างออกจากเนื้อปลากะพงทั่วไป จะทำให้เนื้อส่วนท้องที่เป็นพังผืดติดอยู่กับก้าง และมีคุณค่าทางอาหารรสชาติอร่อยเสียไป ซึ่งวิธีนี้จะทำให้มีความรวดเร็ว ง่ายต่อการจัดจำหน่ายในปริมาณที่มาก แต่ Samutr Chef ใช้วิธีการดึงออกด้วยมือ เพราะต้องใช้ความประณีตเพื่อมุ่งไปยังตลาดพรีเมี่ยม โดยมีทีมงานในฟาร์มเพียงแค่ 6 คน และปัจจุบันได้มีการวิจัย เครื่องจักรทุ่นแรงในการถอดก้างปลาโดยไม่เสียเนื้อส่วนท้อง กับคณะวิศวกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งอยู่ในระหว่างการเจรจา
“ยอมทำอะไรที่ยาก เพื่อให้ลูกค้าได้อะไรที่ง่ายและดี ปลาที่ดีต้องมีความสด ปกติปลากะพงถ้าแช่แข็งจนมีน้ำแข็งเกาะ รสชาติจะเปลี่ยน แต่ไม่ใช่กับผลิตภัณฑ์นี้ รับรองว่ารสไม่มีเปลี่ยนแน่นอน สามารถแช่แข็งได้ถึง 2 ปี ตราบใดที่แช่ด้วยอุณหภูมิ ลบ 18 องศาเซลเซียส”
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์แบรนด์ Samutr Chef ที่วางขายคือ ปลากะพงไร้ก้างพร้อมปรุง สนนราคาที่ชิ้นละ 169 บาท แม้จะแพงกว่าราคาปกติตามท้องตลาด แต่ “วุฒิชัย” ยืนยันว่าคุณภาพที่ได้มานั้นคุ้มราคา โดยเฉพาะความสะดวกที่ลูกค้าจะได้รับ เนื่องจากปลากะพงไร้ก้างพร้อมปรุงนี้ สามารถนำไปประกอบอาหารได้เลย ตั้งแต่ เข้าไมโครเวฟ ทำข้าวต้มปลา ทอดราดน้ำปลา ไปจนถึงเมนูต่างประเทศ เช่น สเต๊กปลากะพงโรยพริกไทยดำ หรือแม้กระทั่งเมนูญี่ปุ่นอย่างกะพงย่างซอสมิโซะ พร้อมชูจุดเด่น ในเรื่องของความสด รับประกันเก็บรักษาด้วยความเย็นตลอดจนถึงมือผู้บริโภค
นี่เป็นอีกการพัฒนาของคนรุ่นใหม่ ที่หันมาสืบทอดกิจการของครอบครัว และพยายามสร้างธุรกิจของตัวเองให้เติบโตไปได้ในอนาคต
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ