ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จ.พิจิตร ได้ มีโอกาสไปดูงานการเกษตรที่ไต้หวันเป็นครั้งที่ 4 (ได้ไปดูงานเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา) สถานที่ดูงานแห่งหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้กับคณะดูงานเกษตรไต้หวันในครั้งนี้คือ “การปลูกต้นหอมไต้หวัน” ที่ตำบลซานซิง เมืองยี่หลาน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกต้นหอมที่ใหญ่ที่สุดและต้นหอมที่นี่มีคุณภาพดีและรสชาติดีที่สุดของเกาะไต้หวัน ตำบลซานซิง ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไต้หวัน
ทางคณะดูงานได้เข้าเยี่ยมชม Spring Onion Culture Museum ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ของ ต.ซานซิง ที่รวบรวมเอาองค์ความรู้เรื่องประวัติความเป็นมาของเมือง, การปลูกต้นหอมว่าที่นี่ทำกันอย่างไร, มีโรค-แมลงศัตรูอะไรบ้าง โดยมีเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์บรรยายให้ความรู้ และตอบข้อซักถาม ซึ่งจากข้อมูลที่ได้คือ สถานที่ที่ใช้สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์นั้นเดิมเป็นอาคารเก็บรักษาข้าวในช่วงยุคล่าอาณานิคมของญี่ปุ่น ซึ่งอาคารเก็บข้าว(เหมือนยุ้งข้าวบ้านเรา) มีอยู่เป็นจำนวนมากในเกาะไต้หวัน แต่ต่อมาไม่ได้ใช้ก็ปล่อยทิ้งร้างไปก็มาก
ทาง ต.ซานซิง ได้ปรับปรุงพัฒนาให้โรงเก็บข้าวเก่ามาเป็นพิพิธภัณฑ์ต้นหอมขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการเกษตรของเมืองและเปิดพิพิธภัณฑ์ต้นหอมอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อปี 2548 ทุกๆ ปีทาง ต.ซานซิงจะจัดงานเทศกาลต้นหอมและกระเทียม ซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่จนเป็นที่รู้จักและคนไต้หวันจะรู้ว่า เมื่อถึงเดือนมกราคมของทุกปีจะมี “เทศกาลต้นหอมและกระเทียม” ขึ้นที่นี่ โดยจากข้อมูลผักตามฤดูกาลในรอบปีของไต้หวัน คือ
ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. |
ต้นหอม | กระเทียม | ผักโขม | หัวไชเท้า | มะระ | แตง |
ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. |
หน่อไม้ | เผือก | ผักจีนชนิดหนึ่ง | ขึ้นฉ่าย | กระเทียม | ผักกาดขาว |
คนไต้หวันนิยมบริโภคผักตามฤดูกาล เพราะเชื่อว่าจะทำให้สุขภาพแข็งแรง และปัจจุบันคนไต้หวันเปลี่ยนพฤติกรรมรับประทานข้าวในแต่ละมื้อน้อยลง แต่จะเน้นการรับประทานผักและผลไม้มากขึ้น (จากอดีตบริโภค ข้าว 70%, ผักและผลไม้ 30% ปัจจุบัน กลับกัน บริโภคข้าว 30% และบริโภคผักและผลไม้ 70%)

เข้าไปในตัวอาคารของพิพิธภัณฑ์ในส่วนของห้องแรกจะเป็นการจัดแสดงเรื่องของการปลูกต้นหอม ซึ่งมีทั้งภาพ แสง สี และเสียง ซึ่งทำให้ทั้งผู้ชม แม้แต่เด็กๆ เองถ้ามาเที่ยวก็สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย โดยการจัดแสดงได้นำทั้งรูปที่เป็นภาพถ่ายจริงของขั้นตอนการปลูกหอมตั้งแต่เริ่มเตรียมดินจนถึงการเก็บเกี่ยว และบางส่วนมีรูปการ์ตูนเข้ามาช่วยสื่อสารดึงดูดสร้างความสนใจให้กับเด็กๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ตาม เช่นเดียวกับสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ ที่ใช้รูปต้นหอม (เหมือนต้นหอมผู้ชายปั่นและผู้หญิงซ้อนจักยาน) ซึ่งนักท่องเที่ยวทุกคนอดที่จะถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกไม่ได้
เมื่อเราได้และเมื่อฟังคำบรรยายจากเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ก็ทราบว่า ต.ซานซิง นั้นมีชื่อเสียงมากเรื่องของการปลูกต้นหอมที่มีคุณภาพดีที่สุดในไต้หวัน ด้วยสภาพแวดล้อมที่มีความเหมาะสม ดินมีลักษณะร่วนปนทราย ทำให้การระบายน้ำดี มีน้ำดี (ซึ่งทางภาครัฐของไต้หวันค่อนข้างเอาใจใส่และดูแลเรื่องของระบบชลประทานค่อนข้างดีมาก) โดยต้นหอมของที่นี่มีลักษณะโดดเด่นที่สุดคือ “ส่วนของลำต้นส่วนที่เป็นสีขาว จะมีความยาวมากเป็นพิเศษ คือยาว 15-20 เซนติเมตรเลยทีเดียว ลำต้นยาวและรสหวาน มีกลิ่นหอม มีรสไม่เผ็ดมากเกินไป ยังมีคุณสมบัติที่มีคุณภาพเผ็ดอ่อน ลำต้นมีความยาวมากยาวเฉลี่ย 40 เซนติเมตร” (ต้นหอมของไต้หวัน จะเป็นคนละชนิดกับต้นหอมของไทย ซึ่งต้นหอมไทยต้นจะเล็กและสั้นกว่ามาก

ส่วนที่เป็นหัวจะกลมโตกว่า รสชาติเผ็ด และกลิ่นฉุน ต้นหอมไต้หวันจะมีลักษณะเหมือนกับต้นหอมญี่ปุ่นมากกว่า แต่อาจจะด้วยการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ต้นหอมให้มีลักษณะเป็นที่ต้องการของคนไต้หวัน จึงมองดูว่าต้นหอมไต้หวันต้นจะดูเล็กกว่าต้นหอมญี่ปุ่น)
ราคาของต้นหอมก็จำขึ้นกับความยาวของลำต้นส่วนที่เป็นสีขาว โดยจะแบ่งเป็นสองประเภทคือ “ต้นหอมเกรดเอ” คือมีส่วนของลำต้นสีขาวยาว 15 เซนติเมตรขึ้นไป ถือว่าเป็นต้นหอมได้คุณภาพ ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และรู้จักต้นหอมของ ต.ซานซิง ลำต้นสีขาวจะต้องยาวนั้นเกษตรกรจะได้ราคาค่อนข้างสูง ส่วน “ต้นหอมเกรดรอง” คือความยาวของลำต้นส่วนที่เป็นสีขาวมีความยาวไม่ถึง 15 เซนติเมตร และความยาวรวมของลำต้นและใบสั้นตามที่กำหนด ต้นหอมเหล่านี้จะถูกขายตามท้องตลาดทั่วไป ตลาดนัด ร้านอาหาร และนำไปแปรรูปเป็นขนมชนิดต่างๆ หรือนำไปแปรรูปทำเป็นผง เป็นต้น

ต้นหอมเกรดรองที่ลำต้นสั้นจะมีราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องเอาใจใส่ในการปลูกต้นหอมของตนเองให้มากขึ้น จึงจะได้ราคาดี ในการรับซื้อที่นี่จะมีสหกรณ์เป็นคนกำหนดราคาโดยจะประกันราคาให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก (ไต้หวันจะใช้ระบบของสหกรณ์ดำเนินงานด้านการเกษตรทั้งหมดและมีประสิทธิภาพสูงมากทั้งเรื่องราคาที่เกษตรกรที่ควรจะได้รับ, การบริหารจัดการผลผลิต และการกระจายสินค้า โดยแต่ละสหกรณ์ในไต้หวันจะมีการแข่งขันกันเองเพื่อให้เกษตรกรของตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุด)
ระบบการปลูกต้นหอมของไต้หวัน จะใช้วิธีการเพาะเมล็ดก่อนเมื่อได้ต้นกล้าต้นหอมแล้วจึงย้ายปลูกลงแปลงการเตรียมแปลงของไต้หวันก็คล้ายกับบ้านเราแต่ที่ไต้หวันจะใช้รถเตรียมแปลงขนาดเล็ก (ไม่ได้ใช้รถไถเหมือนบ้านเรา) ซึ่งการเตรียมแปลงค่อนข้างมีความประณีตมาก เครื่องขึ้นแปลงสามารถพรวนและตีดินได้ละเอียด ประกอบกับสภาพดินที่ออกจะเป็นดินร่วนปนทราย และการเตรียมแปลงที่ดีทำให้แปลงมีการระบายน้ำที่ดี ซึ่งเกษตรกรไต้หวันจำเป็นต้องพิถีพิถันเรื่องการเตรียมแปลงมากเป็นพิเศษเนื่องจากไต้หวันฝนตกบ่อย เมื่อแปลงปลูกพร้อม เกษตรกรก็จะนำ “ฟางข้าว” (ไต้หวันไม่เผาฟางข้าวและตอซังเหมือนบ้านเรา) มาคลุมแปลงให้ทั่วทั้งแปลงเขาบอกว่าการคลุมแปลงด้วยฟางข้าวมีประโยชน์มาก คือ ฟางข้าวจะช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้กับแปลงปลูกเพราะสภาพอากาศของไต้หวันในช่วงกลางวันอากาศค่อนข้างร้อนมาก

การย้ายกล้าปลูกในช่วงแรกต้องระวังอย่าให้แปลงปลูกต้นหอมขาดน้ำ แปลงต้องมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอด ฟางข้าวยังช่วยลดปัญหาเรื่องของวัชพืชที่ขึ้นบนแปลงได้เป็นอย่างดี ลดเวลาและแรงงานมากำจัดวัชพืชไปได้เป็นอย่างมาก และอีกประการเมื่อฟางข้าวผุเปื่อยก็จะถูกไถกลบในแปลงปลูกทำให้โครงสร้างดินดี นี่เป็นประโยชน์ของฟางข้าว ดังนั้นเกษตรกรที่ทำนาถ้าไม่ไถกลบ ก็จะเก็บฟางข้าวไว้ใช้คลุมแปลงปลูกผัก หลังจากคลุมแปลงด้วยฟางเรียบร้อยแล้ว และกล้าต้นหอมที่เพาะเอาไว้พร้อมคือ มีใบจริง 2-3 ใบ และมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ก็สามารถย้ายปลูกได้ การย้ายกล้าปลูก เกษตรกรจะมีเหล็กรูปตัวที (T) ซึ่งเหล็กรูปตัวทีนี้ จะเป็นตัวที่เกษตรกรจะใช้แทงดินนำร่องให้ดินเป็นรูลึกประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วเสียบกล้าลงไปในรูดังกล่าวแล้วใช้มือบีบดินให้แน่นเพียงเท่านี้เป็นอันเสร็จขั้นตอนการปลูก
ส่วนการให้น้ำเท่าที่สังเกตจะมีการวางระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ ในเรื่องของการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูในแปลงปลูก จะมีการวางกับดักล่อแมลงโดยเฉพาะแมลงวันทอง จะเป็นแบบกล่องล่อให้แมลงวันทองเข้าไปแล้วตกไปตายในกล่องล่อแมลงที่มีน้ำบรรจุอยู่ (น้ำผสมกับฟีโรโมนช่วยดึงดูดแมลงวันทองเข้ามาในกับดัก) โดยไต้หวันให้ความสำคัญเรื่องของความปลอดภัยในการทำการเกษตรมาก มีการตรวจสอบสารตกค้าง อย่างการปลูกต้นหอมเองก็จะยึดหลัก TGAP (Taiwan Good Agriculture Practices) หรือ การผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสมของไต้หวัน และแนวโน้มการบริโภคคนไต้หวันมีความต้องการสินค้าอินทรีย์มากขึ้นเรื่อยๆ ภาครัฐบาลไต้หวันก็พยายามผลักดันไม่ให้เกษตรกรใช้สารเคมีและผลิตสินค้าอินทรีย์

ในการปลูกเลี้ยงต้นหอม จนเก็บเกี่ยวได้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 100 วัน เกษตรกรก็จะทำการถอนต้นหอมออกจากแปลงปลูกและนำไปล้างทำความสำอาดในบ่อน้ำ ทำการลอกใบที่ไม่ดีออก จากนั้นมัดเข้ากำ และบรรจุลงกล่องส่งจำหน่ายสหกรณ์ ราคาต้นหอมนั้น ถ้าในฤดูหนาวที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก จะเฉลี่ยอยู่ที่ กิโลกรัมละ 50-100 บาท แต่ถ้าในช่วงฤดูร้อนหรือพายุเข้า ต้นหอมจะมีราคาสูงมาก คือ สูงสุดอาจจะ กิโลกรัมละ 500-600 บาท ทีเดียว
“ห้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากต้นหอม” เป็นห้องที่คณะดูงานต้องทึ่งถึงความพยายามและตั้งใจของทางเกษตรกร, สหกรณ์ และภาครัฐบาล ไต้หวันที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ จากต้นหอมมากกว่า 50 ชนิด เช่น “น้ำมันพืชต้นหอม” ที่เวลาเราทำกับข้าวเช่นผัดผักอยากให้อาหารหอมขึ้นก็ใส่น้ำมันต้นหอมไปเล็กน้อยเท่านั้น , “ไอศกรีมต้นหอม” เป็นไอศกรีมที่ใช้ผงที่ได้มาจากต้นหอมบดแห้งก็อร่อยได้รสชาติและกลิ่นต้นหอมอ่อนๆ , “ชารากต้นหอม” เป็นการนำส่วนของรากต้นหอมมาอบแห้งนำมาชงกับน้ำร้อนดื่มบำรุงร่างกายและแก้หวัดได้เป็นอย่างดี, ซอสต้นหอม, คุกกี้ต้นหอม, ทองม้วนต้นหอม, เส้นก๋วยเตี๋ยวต้นหอม, และอีกมากมายให้เลือกซื้อเป็นของฝาก

“ร้านต้นหอม” เป็นร้านที่อยู่ด้านนอกอาคารซึ่งเป็นร้านค้าที่จำหน่ายอาหารที่ทำจากต้นหอม หรือมีต้นหอมเป็นส่วนผสม ร้านจะบอกเคล็ดลับเกี่ยวกับวิธีการใช้ต้นหอมที่ใช้เป็นส่วนผสมหลักในอาหาร ตัวอย่างเช่น ขนมทอดที่มีไส้เป็นต้นหอม (คล้ายขนมกุ่ยฉ่ายทอด) , บะหมี่ ที่ขึ้นชื่อมาก ซึ่งเส้นมีส่วนผสมของต้นหอม, น้ำซุปที่ใช้รากต้นหอม ที่ส่วนมากมักจะทิ้งไปนำรากต้นหอมมาปรุงด้วยเห็ดซึ่งจะให้กลิ่นหอมเป็นพิเศษ, ผัดมะเขือยาวใส่ต้นหอม เป็นต้น
คนไต้หวันเวลาทำอาหารมักจะนิยมใส่ต้นหอมด้วย เพราะนอกจะช่วยเรื่องของความหอมและรสชาติแล้ว คนไต้หวันมีความเชื่อว่า “ต้นหอม” เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง, โชคดี, และสติปัญญาดีอีกด้วย