เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
อื่นๆ

คนรัก ‘น้องหมา’ ได้เฮ ครั้งแรกของแพทย์ไทย เปลี่ยนข้อสะโพกให้ ‘สุนัข’ พันธุ์เล็ก

ในสังคมที่คนโสดมากขึ้น หลายๆ บ้านมีน้องหมาเป็นสมาชิกคนสำคัญ ได้รับความรักเต็มสี่ห้องหัวใจประหนึ่ง “ลูกรัก”

น้องหมาเจ็บ คนเจ็บ…

โรคหนึ่งที่พบได้เป็นประจำกับสุนัขทุกสายพันธุ์ ทุกเพศทุกวัย คือ “โรคข้อสะโพกเสื่อม” โดยอาการของสุนัขที่เป็นโรคนี้จะเดินได้ลำบาก เดินแบบโหย่งขา เดินลากขา ในบางตัวเดินแบบกระโดดคล้ายกระต่าย (Bunny-hopping) บางรายที่อาการหนักคือไม่เดิน เมื่อไม่เดินนานเข้าก็ลามไปเป็นกล้ามเนื้อลีบ พิการจนเดินไม่ได้

สาเหตุของโรคนี้มาจากพันธุกรรม สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่สุนัขอายุ 4 เดือน ซึ่งถ้าทราบแต่แรกๆ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาเสียแต่เนิ่นๆ แต่ที่ผ่านมาส่วนมากจะพบเมื่ออาการลุกลามถึงขั้นเดินไม่ได้ ต้องใช้ยาบรรเทาอาการปวดจากข้อเสื่อม ซึ่งเป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น

ไม่เช่นนั้นก็ต้องเข้ารับการผ่าตัด ด้วยวิธีการตัดหัวกระดูกและคอกระดูกซึ่งเป็นการบรรเทาความเจ็บปวดแบบทั่วไปที่ทำกันอยู่ แม้ว่าจะช่วยให้สุนัขจะกลับมาเดินได้โดยไม่เจ็บ แต่ก็ไม่สามารถเดินได้แบบปกติร้อยเปอร์เซ็นต์

“ข้อสะโพกเทียม” จึงได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้กับสัตว์เลี้ยง ซึ่งที่ผ่านมาสำหรับคนรักสุนัขที่พอสู้ไหวก็จะพาน้องหมาบินไปเปลี่ยนข้อสะโพกที่สหรัฐอเมริกา

คุณหมอบูรพงษ์ ปณิชา และบุ้งกี๋

ปัจจุบันนับเป็นข่าวดีของคนรักสุนัข ที่สัตวแพทย์ไทยสามารถผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมให้กับสุนัขได้แล้ว และเป็นครั้งแรกที่ผ่าตัดกับสุนัขพันธุ์เล็ก

นสพ.บูรพงษ์ สุธีรัตน์ สัตวแพทย์ประจำศูนย์ข้อและกระดูก โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน อธิบายว่า การรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม วิธีเดิมๆ ที่เราเรียนรู้กันมาและใช้กันทั่วไป คือ การผ่าตัดตัดหัวกระดูก เพื่อแก้ปัญหา บรรเทาความเจ็บปวด และพอให้เขาเดินได้ แต่การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก เป็นการสร้างอวัยวะเทียมให้ฟังก์ชั่นเหมือนอวัยวะจริงทำให้การเดินไม่เจ็บปวดและเดินเป็นปกติ ทำให้คุณภาพชีวิตของสุนัขดีขึ้น ซึ่งที่อเมริกาทำได้มานานกว่า 10 ปีแล้ว

“บุ้งกี๋” สุนัขพันธุ์ปอมเมอเรนียน เพศผู้ อายุ 9 ปี คือเคสแรกของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมในประเทศไทย แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงเนื่องจากต้องสั่งอุปกรณ์สะโพกเทียมและเครื่องมือผ่าตัดไซซ์เล็กมาทั้งหมด แต่ด้วยต้องการพัฒนาวิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม เป็นการพิสูจน์ว่าสัตวแพทย์คนไทยสามารถผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกได้สำเร็จ ไม่จำเป็นต้องส่งสุนัขไปรักษาผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกที่เมืองนอกอีกต่อไป

“เคสของบุ้งกี๋ ถือว่าเป็นช่วง Learning Curve ของโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน เราต้องการจำนวนเคส ดังนั้น ค่าใช้จ่ายเราจึงแชร์กันระหว่างเจ้าของสุนัขกับโรงพยาบาล”

คุณหมอบูรพงษ์บอกอีกว่า ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกคือ สุนัขใช้ขาได้เร็วกว่าวิธีอื่น การตัดหัวกระดูกกว่าจะเดินลงขาได้ใช้เวลา 3 สัปดาห์ แต่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก ใช้เวลาแค่ 2-3 วัน ก็เดินลงน้ำหนักขาได้แล้ว

ประการสำคัญคือ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก ไม่ต้องทำกายภาพบำบัด ซึ่งกายภาพบำบัดไม่สามารถคำนวณได้ว่าทำแล้วสุนัขจะเดินได้เร็วมั้ย อาการจะดีขึ้นเมื่อไร ไม่มีใครตอบได้ชัดเจน

ทางด้าน ปณิชา บรรจงราชเสนา เจ้าของ “บุ้งกี๋” เล่าให้ฟังว่า บุ้งกี๋มีอาการขาหลังด้านซ้ายสั่น ไม่ยอมให้จับเพราะเจ็บ เป็นตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 แต่คิดว่าไม่เป็นอะไร เดือนต่อมาพาไปอาบน้ำ บุ้งกี๋ไม่ยอมให้จับขาเลย คุณหมอเจ้าของร้านจึงจับเอกซเรย์พบว่าข้อสะโพกเสื่อม

“คุณหมอให้ทานยาแก้ปวดพร้อมยาน้ำเลี้ยงข้อต่อเพื่อประเมินว่าจะตอบสนองกับยามั้ย ปรากฏว่าอาการก็ยังไม่ดีขึ้น ความที่ยาแก้ปวดมีผลต่อตับและไต คุณหมอไม่อยากให้กินยาต่อเนื่องจึงแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์เกษตรหรือโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน เลือกโรงพยาบาลตลิ่นชันเพราะสะดวกมากกว่า”

ปณิชาเล่าว่า ได้ค้นข้อมูลก่อนจะตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา “บุ้งกี๋” และพบว่าที่โรงพยาบาลสัตว์เกษตรเคยมีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเมื่อปี 2552 แต่เป็นเคสของสุนัขพันธุ์ใหญ่ และครั้งนั้นมี รศ.ดร.โจนาธาน ไดซ์ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดข้อสะโพกสุนัขจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา บินมาร่วมผ่าตัดด้วย

“คุณหมอให้เราตัดสินใจเอง และย้ำว่าทำแล้วชีวิตบุ้งกี๋จะเปลี่ยนไปหลังการผ่าตัด เพราะการฟื้นตัวไวมากกว่าการตัดหัวกระดูก ตอนนั้นตัดสินใจทำเลย ไม่ต้องเสียเวลาคิดด้วยซ้ำ ด้วยเห็นความตั้งใจทำงานของหมอ”

แม้ว่าบุ้งกี๋จะเป็นโรคหัวใจและโรคลมชักอยู่แล้ว แต่ไม่มีปัญหาเพราะมีหมอเฉพาะทางด้านโรคหัวใจมาร่วมดูแล หลังจากรออุปกรณ์อยู่ 1 เดือนเศษ บุ้งกี๋เข้าผ่าตัดในเดือนสิงหาคม 2560 ใช้เวลาผ่าตัดถึง 6 ชั่วโมงเต็ม ปณิชาบอกว่า เป็นห้วงเวลาที่บีบคั้นหัวใจมาก

“สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด บุ้งกี๋สามารถเดินลงเท้าได้ เราแค่ควบคุมการเดินการวิ่งไม่ให้มากเกินไป เพื่อให้กระดูกและแผลสมาน โดยไม่ต้องทำกายภาพบำบัด

“ภายใน 1 เดือน ทุกอย่างก็เป็นปกติ บุ้งกี๋เดินได้ใช้ขาได้ปกติแบบที่ไม่คาดคิด และทุกวันนี้คุณภาพชีวิตของบุ้งกี๋ดีขึ้นมาก อารมณ์ดี ร่าเริงอย่างเห็นได้ชัด”

Related Posts