ปลาหมอ หนึ่งในปลาน้ำจืดที่คนไทยนิยมนำมาเลี้ยงบริโภค มีรูปร่างป้อม ลำตัวแบนข้าง ตาโต ปากกว้าง ขอบฝาปิดเหงือกหยักแข็ง เกล็ดใหญ่คลุมทั้งลำตัว เป็นปลาที่มีรสชาติ มัน เนื้อแน่น นุ่ม สามารถแปรรูปหรือประกอบอาหารได้หลายประเภท ทั้งย่าง แกง ต้มยำ ทอด ปัจจุบันยังถือเป็นปลาที่มีความต้องการในตลาดสูง นิยมบริโภคกันมากทั้งในประเทศ
คุณศิววงศ์ นวลสุวรรณ นำปลาหมอมาเลี้ยงภายในสวนยางพารา โดยใช้วิธีเลี้ยงให้อยู่ภายในบ่อผ้าใบ ทำให้ไม่ต้องขุดบ่อใช้พื้นที่ในสวนยางพาราได้อย่างเต็มที่ สามารถจัดการในเรื่องของระบบต่างๆ ภายในบ่อได้เป็นอย่างดี ทำให้ปลาหมอโตดี เนื้อแน่นมีคุณภาพ แปรรูปได้หลายรูปแบบเป็นที่ต้องการของตลาด

เกษตรกรสวนยาง เลี้ยงปลาเสริมรายได้
คุณศิววงศ์ เล่าให้ฟังว่า ในสมัยก่อนได้ทำสวนยางในที่ดินของตัวเอง เมื่อราคายางพาราตกต่ำจนไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวได้ จึงทำให้ต้องหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ ในตอนนั้นทางการยางแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการสนับสนุนให้ใช้พื้นที่ในสวนยางให้เกิดประโยชน์มากขึ้น จนเกิดเป็นโครงการเลี้ยงปลาหมอในบ่อผ้าใบ ทำให้เกิดความสนใจที่จะเลี้ยงปลาหมอในสวนยางพารา โดยใช้วิธีเลี้ยงในบ่อผ้าใบ เพื่อง่ายต่อการทำความสะอาดและขนย้าย

โดยสหกรณ์ชาวสวนยางรัษฎานุสรณ์ จํากัด ได้สนับสนับสนุนมาจำนวน 15 บ่อ โดยแบ่งเกษตรกรเลี้ยงทั้งหมด 5 คน คนละ 3 บ่อ หลังจากเลี้ยงได้ในรอบแรกก็เกิดปัญหาอุปสรรคต่างๆ เช่น พ่อค้าไม่ได้มารับซื้อตามสัญญาพร้อมทั้งปัญหาปลาล้นตลาดในช่วงนั้น แต่ด้วยความพยายามและช่วยเหลือของสหกรณ์จังหวัดตรัง ทำให้สามารถระบายปลาหมอในรอบแรกได้ จึงทำให้รอบการเลี้ยงต่อไปมีการบริหารจัดการกันใหม่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย โดยเลี้ยงปลาในบ่อผ้าใบให้หลากหลายขึ้น และไม่เลี้ยงปลารุ่นเดียวกันทุกบ่อ เพื่อให้ปลาออกสู่ตลาดแบบกระจายตัว

เลี้ยงปลาหมอบ่อพลาสติก ปลาหมอโตดี ขายได้ตลอดปี
เนื่องจากต้องการใช้พื้นที่ในสวนยางพาราให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุณศิววงศ์ บอกว่า ได้นำปลาหมอมาเลี้ยงอยู่ภายในสวนยางพารา โดยใช้พื้นที่ตรงกลางระหว่างแถวต้นยางพาราที่มีความกว้าง 8 เมตร มาสร้างบ่อสำหรับเลี้ยงปลาหมอ ปลาดุก และปลาเนื้ออ่อน โดยจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 6 เมตร จึงทำให้มีพื้นที่ไว้เดินข้างละ 1 เมตร เดินทำงานได้สะดวกทั้งกรีดยางและดูแลปลาภายในบ่อได้สบาย
คุณศิววงศ์ เล่าให้ฟังอีกว่า ได้เลือกใช้เป็นบ่อผ้าใบแบบกลม เพราะสามารถรองรับแรงดันได้ดีกว่าบ่อผ้าใบแบบสี่เหลี่ยม ซึ่งบ่อมีความจุประมาณ 29 ตัน โดยขนาดความสูงอยู่ที่ 1 เมตร ใส่น้ำเลี้ยงปลาอยู่ประมาณ 70-80 เซนติเมตร ก่อนที่จะเอาปลาหมอลงเลี้ยงในบ่อ ก็จะล้างทำความสะอาดบ่อให้เรียบร้อย เพราะบ่อเป็นผ้าใบจึงสามารถทำความสะอาดได้ไวดูแลง่ายไม่มีปัญหาเรื่องการทำความสะอาด สามารถจัดการได้เป็นอย่างดี พอใส่น้ำเตรียมพร้อมก็พักน้ำในบ่อไว้ 2-3 วันแล้วนำปลาหมอมาใส่เลี้ยงได้ทันที

โดยพื้นที่สวนยางพาราของคุณศิววงศ์จะอยู่บริเวณต้นแม่น้ำตรังเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการสร้างโรงงานต่างๆ จึงทำให้แม่น้ำมีความสะอาด มีน้ำตลอดปี สามารถสูบน้ำจากแม่น้ำนำมาเลี้ยงปลาหมอในบ่อผ้าใบได้ จำนวนปลาหมอที่ใส่เลี้ยงภายในบ่อ จะปล่อยอยู่ที่ 1,000 ตัวต่อบ่อ โดยไปรับมาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง และฟาร์มเอกชนที่มีหนังสือรับรอง
โดยในช่วงแรกจะเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปโปรตีน 20 เปอร์เซ็นต์ ขนาดเล็ก ให้อาหารวันละ 3 มื้อ เป็นระยะเวลา 3 เดือน เมื่อปลาหมออายุมากกว่า 3 เดือนจะเปลี่ยนไปใช้อาหารสำเร็จรูปโปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์ ให้อาหารวันละ 2 มื้อ จากนั้นจึงเปลี่ยนเลี้ยงด้วยอาหารที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามความเหมาะสมกับขนาดของปลาหมอ ซึ่งระยะเวลาการเลี้ยงปลาหมอจับจำหน่ายได้ใช้เวลาอยู่ที่ 5 เดือน จะได้ขนาดอยู่ที่ 3-5 ตัวต่อกิโลกรัม เป็นไซซ์ที่ตลาดต้องการ

โรคที่เกิดขึ้นกับปลาหมอภายในบ่อนั้น คุณศิววงศ์ เล่าให้ฟังว่า เคยพบปัญหามีปรสิตไปเกาะตามเกล็ดปลา ทำให้ปลาไม่ค่อยเจริญเติบโต ขนาดไม่เป็นที่ต้องการของตลาด จึงได้ปรึกษากับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง โดยได้คำแนะนำให้มีการใส่สารฟอร์มาลินลงไปในบ่อแบบบางๆ และพักปลาไว้เป็นเวลา 1 เดือน ก่อนที่จะนำไปขาย

ปลาหมอไม่ล้นตลาด สร้างรายได้ตลอดปีให้ชุมชน
หลังจากที่คุณศิววงศ์บริหารจัดการแบบมีระบบมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย โดยเลี้ยงปลาในบ่อผ้าใบให้หลากหลายขึ้น และจะไม่เลี้ยงปลารุ่นเดียวกันทุกบ่อ จึงทำให้สามารถขายตลอดปี โดยจะขายเดือนละ 1-2 บ่อ ตามระยะเวลาที่เลี้ยงปลาในบ่อนั้นๆ ปัจจุบันการเลี้ยงได้รับรองมาตรฐาน GAP จากสำนักงานประมงจังหวัดอีกด้วย
“การเลี้ยงโดยการบริหารจัดการใหม่ พอเราจับปลาขายหมดแล้ว สามารถทำความสะอาดบ่อผ้าใบและเลี้ยงได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาเตรียมบ่อ และทำให้ปลาหมอที่เลี้ยงมีให้จับขายหมุนเวียนตลอดทั้งปี โดยปลาหมอขายราคาส่งหน้าบ่ออยู่ที่กิโลกรัมละ 85-90 บาท ส่วนราคาขายปลีก จะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 110 บาท ส่วนปลาดุกกิโลกรัมละ 60-70 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของตัว” คุณศิววงศ์ กล่าว

เพิ่มมูลค่าให้ปลาที่เลี้ยง โดยนำมาแปรรูป
นอกจากการขายเป็นปลาสดแล้ว คุณศิววงศ์ บอกว่า ได้มีการรวมกลุ่มกันแปรรูปปลาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนอีกด้วย โดยทางชุมชนจะให้สมาชิกที่สนใจแปรรูปเข้ามาแปรรูปสินค้าจากปลาหมอ นอกจากจะเพิ่มมูลค่าสินค้าแล้วยังสร้างชื่อเสียง และความเชื่อมั่นให้กับทางชุมชนไปในตัว โดยจะมีสินค้าแปรรูปที่มาแนะนำคือ น้ำพริกปลาหมอ ที่ทางชุมชนช่วยกันแปรรูปขึ้นมาขาย
“น้ำพริกปลาหมอของเรา จะไม่มีการทำสต๊อกขายเพราะเราไม่ได้ใส่สารกันบูด ดังนั้น เราจะรวบรวมคำสั่งซื้อได้จำนวนหนึ่งก็จะผลิต 1 ครั้ง เมื่อนำใส่กระปุกเรียบร้อยเราจะจัดส่งอย่างรวดเร็ว เพื่อความสดใหม่ของน้ำพริกเราด้วย นอกจากนี้ เราก็ยังทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามฤดูด้วย เช่น ปลาหมอแดดเดียว ปลาส้ม ข้าวเกรียบปลา” คุณศิววงศ์ กล่าว

หากท่านใดสนใจอยากเลี้ยงปลาหมอเป็นอาชีพสร้างรายได้เสริมในสวนยางพารา คุณศิววงศ์ แนะนำว่า การเลี้ยงปลาหมอในบ่อผ้าใบเป็นการสร้างรายได้เสริมที่ดี และยังเป็นการใช้เนื้อที่ให้มีคุณค่ามากขึ้นด้วย แต่ต้องทำด้วยใจ โดยในการเลี้ยงต้องใช้เวลาและเอาใจใส่ปลาในทุกขั้นตอน ไม่ควรเลี้ยงแบบทิ้งขว้าง ผลผลิตจะออกมาต่ำกว่าที่ตลาดต้องการ แต่ถ้าเลี้ยงด้วยใจ มีการดูแลระบบอย่างดี อาหารดี ลูกพันธุ์ปลาดี การเลี้ยงก็จะประสบความสำเร็จ เกิดเป็นอาชีพที่มั่นคง มั่งคั่งอย่างแน่นอน หากสนใจสินค้าสามารถสั่งซื้อและสอบถามราคาเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 061-982-6298