ผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวเหนียวสู่ข้าวเม่าของเกษตรกร ก่อเกิดความน่าสนใจทางด้านของผลกำไรที่เพิ่มพูน จากการให้สัมภาษณ์ของ คุณอุดม พรมลี และ คุณพิกุล โนน้อย อยู่บ้านเลขที่ 130/5 บ้านโนนม่วง ตำบลราษฎร์เจริญ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ทั้งสองให้ข้อมูลว่า ได้นำความรู้จากบรรพบุรุษมาประยุกต์ใช้ในการแปรรูปข้าวเหนียวเป็นข้าวเม่า ก่อเกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นการต่อยอดจนเกิดประโยชน์สูงสุดจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต

เดิมอาชีพของคุณพิกุล และคุณอุดม คือเป็นเกษตรกรปลูกข้าวโดยทั่วไป ในพื้นที่ทำกิน 30 ไร่
ภายหลังได้มีการแปรรูปเพื่อก่อเกิดรายได้อีกช่องทางหนึ่ง…เป็นการนำเอาข้าวเหนียวที่เก็บเกี่ยวได้มาแปรรูปเป็นข้าวเม่า ซึ่งทั้ง 2 ท่าน ได้แปรรูปผลผลิตและนำมาจัดจำหน่ายเป็นระยะเวลา กว่า 2 ปี โดยให้เหตุผลในการทำข้าวเม่าครั้งนี้ว่า
“รายได้ดี สามารถนำมาแปรรูปได้ ถ้าขายเป็นข้าวสารหรือข้าวเปลือกในตอนนี้ก็จะได้ในราคาที่ถูก ก็เลยแปรรูปมาเป็นข้าวเม่า โดยความรู้นำมาจากปู่ย่าตายายตั้งแต่สมัยใช้สากตำ เหยียบครกกระเดื่อง แต่เดี๋ยวนี้ใช้เป็นสายพานมอเตอร์ ทุกอย่างผ่านมอเตอร์หมด” คุณอุดม บอก
มีการนำข้าวเหนียว กข6 มาใช้ในการทำข้าวเม่า ทั้งแบบแห้งและแบบเปียก ระยะข้าวที่นำมาทำ ประมาณ 80% ของอายุข้าว

ขั้นตอนการทำข้าวเม่าแห้ง ก็จะนำข้าวเหนียวที่ได้ไปตาก 2 แดด จากนั้นนำไปอบ เก็บไว้เป็นสต๊อก เมื่อต้องแปรรูปก็นำเอาข้าวเปลือกไปแช่น้ำ ประมาณ 2 วัน และนำไปผึ่งแดดให้แห้งเป็นเวลา 7 วัน นำข้าวเปลือกที่ได้มาคั่วในกระทะ สังเกตจากการที่เมล็ดข้าวเริ่มแตก นำข้าวที่คั่วแล้วมาตำ จะได้เมล็ดข้าวที่มีลักษณะแบน ใช้เวลาในการตำจนกว่าเปลือกจะออกจากเมล็ด ต่อด้วยการนำไปสี สีให้กากและใยออก จากนั้นคลุกให้กลายเป็นข้าวเม่าสด โดยการนำไปผสมน้ำสะอาดอุณหภูมิห้อง จนได้ข้าวเม่าเปียกแล้วนำไปคลุกเคล้ากับมะพร้าวทึนทึก น้ำตาลทราย และเกลือตามสูตร ประมาณ 30 นาที เพื่อให้ได้ข้าวเม่าเปียกลักษณะที่นิ่มก่อเกิดรสชาติความกลมกล่อมแก่การรับประทาน
“ที่บ้านมีญาติ มีคนแก่ แม่ยาย ทำไว้ให้ ทำข้าวไว้ให้ ถึงเวลากลับไปถ้ามีงานก็ลงไปเอาของแล้วก็ขึ้นมาขาย ปัจจุบัน ผมมีลูก 2 คนแล้ว คนเล็ก 10 ขวบ คนโตเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ปี 2 แล้วครับ ในส่วนของตังค์เวลาช็อร์ตก็ช็อร์ต เวลาได้ก็ได้อยู่ ก็ถ้าออกงานอย่างนี้ก็โอเคอยู่ ก็มีตลาดอยู่เรื่อย ส่วนมากก็ไปกับหน่วยงานนี่แหละ ขายข้าวอย่างเดียวกำไรไม่ดี เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันไม่ได้ทานได้เลยทันที แต่อันนี้ (ข้าวเม่า) คือพร้อมทานเป็นของขบเคี้ยวของไทย คือถ้าข้าวสารราคาไม่ดี แต่พอมาทำเป็นข้าวเม่ามูลค่าก็เพิ่มขึ้น” คุณอุดม บอก

คุณอุดมและคุณพิกุล กำหนดราคาการขาย ดังนี้
- ข้าวเม่าแห้ง กิโลกรัมละ 200 บาท
- ข้าวเม่าเปียก กล่องเล็ก ราคา 25 บาท (น้ำหนัก ประมาณ 2 ขีด)
- ข้าวเม่าเปียก กล่องกลาง ราคา 35 บาท
- ข้าวเม่าเปียก กล่องใหญ่ ราคา 50 บาท
นอกจากนี้ ยังมีข้าวสารจำหน่าย
- ข้าวเหนียวขาว กิโลกรัมละ 50 บาท
- ข้าวกล้องหอมมะลิ กิโลกรัมละ 70 บาท
- ข้าวไรซ์เบอร์รี่ กิโลกรัมละ 70 บาท
- ข้าวกล้อง 3 สี กิโลกรัมละ 70 บาท
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ “ความเป็นไทย ความเป็นท้องถิ่นในตัวเอง ความเป็นกันเอง”
เจ้าของบอกว่า โดยทั่วไปจัดจำหน่ายอยู่ที่ ตลาด อ.ต.ก.จตุจักร (1 เดือน จำหน่าย 5 วัน มีช่วงปลายเดือน) ชื่อร้าน : วิสาหกิจชุมชนบ้านโนนม่วง
นอกจากนี้ ยังจำหน่ายงานระดับประเทศและท้องถิ่นอีกหลายแห่ง หมุนเวียนกันไป

“ข้าวเม่า” เป็นขนมที่ทำกินตามช่วงฤดูกาล คำว่า “เม่า” นี้ พระยาอนุมานราชธน อธิบายว่า น่าจะเป็นคำเดียวกับ คำว่า “มาง” ในภาษาอาหม ที่แปลว่า การทุบ หรือตำ ทำให้เป็นแผ่นบาง ความเข้าใจของผู้คนโดยทั่วไป ข้าวเม่า น่าจะหมายถึง ข้าวที่ทุบให้มีลักษณะแบน
ข้าวเม่า คือข้าวที่ทำมาจากข้าวเปลือกของข้าวเหนียวที่ไม่แก่จัด โดยนำมาคั่วแล้วตำเพื่อให้เปลือกหลุดออกไป มีลักษณะแบน เนื้อนุ่ม สีออกเขียว โดยทั่วไปข้าวเม่ามักถูกนำมารับประทานเป็นของหวานหรือของรับประทานเล่น ข้าวเม่าสามารถปรุงได้หลากหลายแบบ อาทิ การนำข้าวเม่าพรมน้ำเกลือคลุกเคล้าให้นุ่ม จากนั้นนำข้าวเม่ามาคลุกกับมะพร้าวขูดโรยด้วยน้ำตาลทราย เรียกว่า “ข้าวเม่าคลุก” เป็นต้น
ลักษณะเฉพาะข้าวเม่า มีความหอม สีเขียวธรรมชาติของเมล็ดข้าว คุณค่าทางอาหารกับข้าวกล้อง เป็นข้าวที่ยังไม่สีเอารำออกจึงมีคุณค่าทางด้านอาหารอย่างครบถ้วน
เป็นอาหารพื้นบ้าน ชนิดที่สามารถนำมาผสมนมสด รับประทานเช่นเดียวกับอาหารเช้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการที่สูง ข้าวเม่าอุดมไปด้วย เส้นใยอาหาร ไขมัน วิตามิน บี 1 วิตามิน บี 2 ไนอะซิน ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และโปรตีน ซึ่งสารอาหารเหล่านี้มีส่วนช่วยในเรื่องของการบำรุงร่างกายให้แข็งแรง อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในเรื่องของการปรับระดับกลูโคสและสารอาหารภายในสมองอีกด้วย
เสน่ห์ของข้าวเม่า คือการเลือกพันธุ์ข้าวที่จะนำมาทำโดยลักษณะพันธุ์ต้องดี ตรงต่อความเหมาะสมในขั้นตอนการทำ ตลอดจนความพึงพอใจในกลุ่มของผู้บริโภค
โดยข้าวเม่าส่วนใหญ่ผลิตอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ร้อยเอ็ด นครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย และมหาสารคาม เป็นต้น
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมหรือซื้อผลิตภัณฑ์ สอบถามได้ที่ 130/5 บ้านโนนม่วง ตำบลราษฎร์เจริญ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม 44110 โทรศัพท์ 065-104-1851


…………………….
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2562