“น้ำคือ ชีวิต” ขาดน้ำก็เหมือนขาดใจ ในอดีตเมืองไทยเคยมีแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งคู คลอง หนอง บึงต่างๆ มากมาย เปรียบเสมือนเส้นเลือดน้อยใหญ่ คอยหล่อเลี้ยงแผ่นดินให้อุดมสมบูรณ์ แต่ในวันนี้ แหล่งน้ำตามธรรมชาตินับวันจะเหลือน้อยลงเต็มที เมื่อปริมาณน้ำลดลง ส่งผลกระทบทำให้พืชขาดน้ำ ชะงักการเจริญเติบโต ปริมาณผลผลิตลดลงและมีคุณภาพต่ำ ดังนั้น เกษตรกรจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างดิน น้ำและพืช เพื่อคำนวณปริมาณการใช้น้ำให้เหมาะสมกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีป้อนเข้าสู่ตลาดในอนาคต
ระบบน้ำในแปลงปลูกมันเทศ
การปลูกมันเทศที่ผ่านมา เกษตรกรไทยมักจะไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของระบบการให้น้ำในแปลงปลูก ถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนจะพึ่งเพียงน้ำฝนจากธรรมชาติเท่านั้น หากปลูกในช่วงฤดูแล้งจะมีการให้น้ำแบบท่วมแปลง หากต้องการปลูกมันหวานญี่ปุ่น ควรติดตั้งระบบการให้น้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ เพื่อให้ต้นมันเทศตั้งตัวได้เร็วและได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ เทคนิคในการให้น้ำ แก่แปลงปลูกมันญี่ปุ่นนั้น ช่วง 3 วันแรกหลังจากที่ปลูกยอดพันธุ์ลงไป จำเป็นต้องให้น้ำทุกวัน 2 เวลา เช้า-เย็น ในกรณีที่ให้น้ำแบบระบบมินิสปริงเกลอร์จะให้ครั้งละนานประมาณ 1-2 ชั่วโมง
การปลูกแตงโมระบบน้ำหยด
คุณคล่อง พรหมวี ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมบ้านไสโก อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้ระบบน้ำหยด ใช้พลาสติกคลุมแปลง และนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการให้ปุ๋ยให้น้ำทางท่อ โดยการดัดแปลงจากเครื่องสูบน้ำธรรมดาเพียงแค่ลงทุนเพิ่ม 200 บาท สามารถให้ปุ๋ยให้น้ำทางท่อได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้ของนอก
ก่อนหน้านี้ คุณคล่องมีโอกาสไปเยี่ยมชมการปลูกแตงโมระบบน้ำหยด ที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งระบบ น้ำหยด ที่ให้น้ำพร้อมปุ๋ยทางท่อ มีราคาชุดละหลายหมื่นบาท คุณคล่องได้จดจำหลักการทำงานและนำมาดัดแปลงอุปกรณ์ดังกล่าว โดยใช้เครื่องสูบน้ำ (ปั๊มไฟฟ้า) ขนาดท่อ 2 นิ้ว และ ท่อซีเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร จำนวน 1 ท่อ มาทำเป็นถังผสมปุ๋ยกับน้ำ ก่อนใช้ปั๊มน้ำดูดปุ๋ยไปใช้ในแปลง วิธีนี้ ประสบผลสำเร็จ ให้ปุ๋ยและน้ำไปพร้อม ๆ กัน ช่วยประหยัดเวลาและแรงงาน
วิธีวางระบบน้ำและคลุมแปลง เมื่อกำหนดระยะปลูกแล้ววางท่อน้ำหยดให้รูน้ำหยดตรงกับหลุมปลูก หลังจากต่อท่อเสร็จทดลองเดินน้ำ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วคลุมแปลงด้วยพลาสติกตามความยาวของแปลง เจาะพลาสติกบริเวณที่ตรงหลุมปลูกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6-8 นิ้ว ก่อนนำต้นกล้าลงปลูก 2 วัน ปล่อยน้ำหยดในแปลงจนชุ่ม
วิธีปลูกและการให้ปุ๋ยให้น้ำ นำต้นกล้าอายุ 7-8 วัน ลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ เมื่อแตงโมอายุ 8-30 วัน ให้น้ำทุกวัน หรือวันเว้นวัน ตามความเหมาะสม ให้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 เพื่อเร่งการเจริญเติบโต อัตราไร่ละ 50 กิโลกรัม แบ่งใส่เป็นช่วง ๆ โดยการละลายน้ำในถังซีเมนต์ที่เตรียมไว้ แล้วใช้เครื่องสูบน้ำสูบส่งไปตามท่อน้ำหยดจนกระทั่งแตงโมมีอายุ 31-50 วัน เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ย สูตร 13-13-21 เพื่อบำรุงผล อัตราไร่ละ 50 กิโลกรัม แบ่งใส่เป็นช่วง ๆ หรือใส่ทุกวัน โดยการละลายน้ำส่งทางท่อน้ำหยดเช่นเดียวกัน
เมื่อแตงโมเจริญเติบโตจะมีเถาประมาณ 3-4 เถา/หลุม และเริ่มมีดอก จะต้องคอยเด็ดทิ้งในช่วงแรก จะไว้ผลจากข้อใบที่ 15 เป็นต้นไป ไว้ผลเถาละ 1 ผล หรือหลุมละ 3-4 ผล จะได้ผลที่มีขนาดสม่ำเสมอ มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณผลละ 3-5 กิโลกรัม ก่อนเก็บเกี่ยว 5 วัน หรือเมื่อแตงโมอายุ 50-55 วัน หยุดให้น้ำ เพื่อเตรียมเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อไป ข้อดีของการปลูกแตงโมระบบน้ำหยด เช่น ไม่มีปัญหาเรื่องวัชพืช และศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ มีการใช้น้ำน้อย แต่ได้ผลผลิตสูง ที่สำคัญใช้แรงงานน้อย โดยแรงงาน 1 คน สามารถปลูกแตงโมได้ 5-7 ไร่
ปลูกแตง ด้วยระบบน้ำหยด
นักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตได้มีโอกาสเรียนรู้การปลูกแตง ด้วยระบบน้ำหยด จากภูมิปัญญาชาวบ้านในระหว่างการศึกษาภาคปฏิบัติ คือ ชาวบ้านได้ใช้ระบบน้ำหยดแบบใช้ท่อจิ๋วเป็นหัวน้ำหยด ในการปลูกแตงเริ่มจาก 1.วางท่อย่อย(ท่อ PE ขนาด 20 มม.) ตามแนวหลุมแตง 2.ตัดท่อจิ๋ว(ท่อพีอี ขนาดรู 1-1.5 มม.) ยาว เส้นละ 30-50 ซม. เป็นหัวน้ำหยด 3.เจาะรูที่ท่อย่อย ตามระยะหลุมแตงที่ปลูก ขนาดพอเสียบท่อจิ๋วลงไปได้ 4.เสียบท่อจิ๋วที่เตรียมไว้ ที่รูท่อย่อย 5.ใช้ฝาโค๊กเจาะรูเสียบปลายท่อจิ๋ว ใช้ลวดผูกฝาโค๊กเป็นขาปักลงดิน เพื่อบังคับให้ปลายหยดอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ 6.แหล่งน้ำ เพื่อให้มีน้ำรั่วจากท่อ ชาวบ้านได้ใช้ถังน้ำขนาด 100-200 ลิตร วางที่หัวแปลงสูงจากพื้นเพียง 1 ฟุต เพื่อใส่น้ำตามที่ต้องการ
เมื่อเปิดประตูน้ำ น้ำจะรั่วออกตามรูท่อย่อย ไหลไปตามท่อจิ๋วซึมลงดินที่โคนต้น น้ำจะไหลเป็นหยดจนหมดถัง ปรับให้น้ำหมดภายใน 4-6 ชั่วโมง ข้อสำคัญที่สุด คือ น้ำต้องไม่มีตะกอน มิฉะนั้นจะทำให้เกิดอุดตันที่ท่อจิ๋ว น้ำจะไม่ไหล วิธีนี้สามารถละลายปุ๋ยปนลงไปกัยน้ำได้เลย