เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
แปรรูปสินค้าเกษตร

เพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยดตกเกรด ในรูปแบบสารตั้งต้นสำหรับผลิตเครื่องสำอาง สามารถเพิ่มมูลค่าได้สูงถึง 100 เท่า ขายได้ลิตรละ 2,000 บาท

“ข้าวสังข์หยด” เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพัทลุงที่ปลูกกันมาไม่น้อยกว่า 100 ปี ข้าวพันธุ์นี้ได้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้บริสุทธิ์ โดยนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวแห่งศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ข้าวเจ้าเมื่อหุงสุกในรูปแบบข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ รสชาติอร่อย ข้าวสังข์หยดนับเป็นความภาคภูมิใจของชาวนาเมืองพัทลุง เพราะเป็นข้าวพันธุ์แรกของไทยและของโลก ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา วันที่ 23 มิถุนายน 2549  

แปลงปลูกข้าวสังข์หยดแบบเกษตรอินทรีย์

การปลูกข้าวสังข์หยด

ข้าวสังข์หยดพัทลุงผลิตจากแหล่งปลูกธรรมชาติ ที่ได้ชื่อว่า “อู่ข้าว” ของภาคใต้ เป็นแผ่นดินที่ราบระหว่างทิวเขาบรรทัดกับทะเลสาบสงขลา-พัทลุง ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งกำเนิดผลผลิตทางการเกษตรหลากหลายชนิด ชาวนาพัทลุงปลูกข้าวสังข์หยดในฤดูนาปี เดือนสิงหาคม-กันยายน เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ของปีถัดไป

การปลูกข้าวสังข์หยด ครอบคลุม 11 อำเภอ เนื้อที่เพาะปลูกรวม 19,655 ไร่ ผลผลิตรวม 7,976 ตันต่อปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 402 กิโลกรัมต่อไร่ โดยแหล่งปลูกสำคัญ ได้แก่ อำเภอควนขนุน อำเภอปากพะยูน และอำเภอป่าบอน   มีเกษตรกรที่ได้รับ GI ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงกว่า 102 ราย พื้นที่กว่า 632 ไร่

สินค้าข้าวสังข์หยดที่ผ่านกระบวนการขัดสี 3 ระดับ ของวิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการตลาด ชาวนาพัทลุงมุ่งลดต้นทุนการทำนา เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปรับตัวสู่การทำนาแบบอินทรีย์ ปลูกพืชบำรุงดิน ใช้ปุ๋ยชีวภาพ ลดค่าใช้จ่ายเรื่องเมล็ดพันธุ์ โดยเก็บพันธุ์ข้าวปลูกไว้ใช้เองเพิ่มมากขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) สำรวจพบว่า ชาวนาพัทลุงหลายรายใช้เทคโนโลยีเครื่องพ่นเมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 11 เพราะทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ยกระจายทั่วถึงพื้นที่เพาะปลูก สามารถควบคุมปริมาณการใช้และประหยัดเวลา ที่สำคัญทำให้เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นเป็น 389 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี เมื่อเทียบกับการปลูกโดยวิธีปกติที่มีผลผลิตเฉลี่ย 345 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี

ผู้บริหาร วช. กับทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

ขณะเดียวกัน ชาวนาพัทลุงมีการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการชาวนาเสริมการเรียนรู้ด้านการผลิตและการตลาด เช่น วิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง ที่เน้นการรักษาคุณภาพข้าวให้ได้มาตรฐานการปฏิบัติการทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพิ่มศักยภาพด้านการแปรรูปข้าวโดยสร้างโรงสีข้าว สร้างตราสินค้า เพิ่มมูลค่าข้าว สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เชื่อมโยงการตลาดกับภาคเอกชน เพิ่มการกระจายสินค้าที่หลากหลาย ทั้งงานแสดงสินค้าและตลาดออนไลน์ผ่านทางระบบไลน์และเฟซบุ๊ก

โชว์ข้าวสังข์หยดของวิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง

สารสกัดจากรำข้าว

ขายได้กิโลกรัมละ 2,000 บาท

แนวโน้มการเติบโตของตลาดเครื่องสำอางยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีมูลค่าทางการตลาดอยู่ที่ 1.35 แสนล้านบาท คาดว่ามียอดขายทะลุ 2 แสนล้านบาทในไม่ช้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (skincare) ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนถึง 46.8% ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี เช่น ช่วงต้มยำกุ้ง ทุกธุรกิจชะลอตัวหมด ยกเว้นตลาดเครื่องสำอาง เพราะไม่ว่าจะอย่างไรผู้หญิงก็ต้องใช้เครื่องสำอางเพราะถือเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิต

เนื่องจากสารสกัดจากข้าวสังข์หยดมีคุณสมบัติด้านต้านสารอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันและยับยั้งการเกิดโรค ช่วยลดหรือชะลอความแก่ได้ จึงตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพ ความงามและผิวพรรณได้อย่างดี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้ดำเนินงานโครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูป-เพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยดด้วยนวัตกรรมให้แก่กลุ่มผู้ปลูกข้าว ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง วิสาหกิจข้าวอินทรีย์โตนดด้วน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาบ้านกล้วยเภา กลุ่มทำนาอินทรีย์ตะโหมด และกลุ่มข้าวสังข์หยดอินทรีย์บ้านพังดาน

ผลิตภัณฑ์โจ๊กข้าวสังข์หยดกึ่งสำเร็จรูป

ปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายสามารถแปรรูปข้าวสังข์หยด (ข้าวหักท่อน รำข้าว) สู่ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอาง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โจ๊กข้าวกล้องสังข์หยดสำเร็จรูปปรุงรส ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางคลีนซิ่งออยล์จากสารสกัดรำข้าวสังข์หยด จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มโอกาสอาชีพและรายได้ให้แก่ชาวนาผู้ปลูกข้าวสังข์หยด ขยายระดับการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ในระดับที่สูงขึ้น

ดร.พรวิชัย เต็มบุตร คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ข้าวตกเกรดมักขายได้ราคาถูก โดยปลายข้าวหรือข้าวหักท่อนราคากิโลกรัมละ 15 บาท รำข้าวกิโลกรัมละ 8 บาท เมื่อนำมาแปรรูปเป็นสารสกัดจากข้าวสังข์หยด สามารถเพิ่มมูลค่าได้สูงถึง 100 เท่า คือ ลิตรละ 2,000 บาท

ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรที่ผ่านการอบรมความรู้ สามารถทำสารสกัดจากข้าวสังข์หยดอย่างง่ายๆ ด้วยวิธีการสกัดด้วยไมโครเวฟ โดยอาศัยคลื่นไมโครเวฟช่วยในการสกัด ร่วมกับตัวทำละลาย ข้อดีคือ ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน ลดค่าใช้จ่าย รวดเร็ว ได้สารสำคัญสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สารสกัดข้าวสังข์หยดจากข้าว-รำข้าว ด้วยไมโครเวฟ

ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก เริ่มจากเตรียมอุปกรณ์คือ เครื่องไมโครเวฟแบบครัวเรือน กำลังไฟ 800 วัตต์ บีกเกอร์หรือภาชนะแก้วสำหรับใส่ตัวอย่าง รำข้าวหยาบ 50 กรัม ตัวทำละลาย (ใช้โพรพิลีนไกลคอล หรือน้ำ) แท่งแก้วคน กรวยกรอง และกระดาษกรอง ทั้งนี้ ใช้อัตราส่วนระหว่างตัวรำข้าวกับตัวทำละลายเป็น 1 ต่อ 4 ส่วน ระยะเวลาการสกัด เข้าไมโครเวฟตั้งเวลาทำงาน 10 วินาที เมื่อครบเวลาให้นำออกมาคนเป็นเวลา 30 วินาที

นำวัตถุดิบเข้าไปไมโครเวฟและออกมาคนครบจะนับเป็น 1 รอบ ทำการสกัดเป็นจำนวน 10 รอบ นำไปผ่านกรวยกรอง และกระดาษกรองในขั้นตอนสุดท้าย ก็จะได้สารสกัดจากข้าวสังข์หยดตามที่ต้องการ ข้อควรระวังคือ อย่าให้ร้อนเกินไปจนเดือดหรือปะทุ

เกษตรกรผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์จากสารสกัดข้าวสังข์หยด

สารสกัดจากข้าวสังข์หยดเป็นสารตั้งต้นสำคัญในการผลิตเครื่องสำอางที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ชุมชนนาขยาด อำเภอควนขนุน ที่นำสารสกัดข้าวสังข์หยดไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดพัทลุงยังได้นำสารสกัดจากข้าวสังข์หยดไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Essence แบรนด์ “ABI HASU” และ Makeup Remover ขายใน ชื่อแบรนด์ “คัดสรร”

คุณบดินทร์ภัทร วิบูลย์พันธุ์ (คนกลาง)

ด้าน คุณบดินทร์ภัทร วิบูลย์พันธุ์ กรรมการผู้จัดการ วิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง ซึ่งดูแลด้านการตลาด ได้ศึกษาวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคพบว่า คนไทยวัย 40-50 ปีซึ่งเป็นประชากรร้อยละ 40 ของประเทศ นิยมบริโภคข้าวสังข์หยดเพราะมีสารอาหารมากมายที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และเหมาะสำหรับผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องการอาหารดี มีประโยชน์ จึงเปิดตัวสินค้าใหม่คือ ผลิตภัณฑ์โจ๊กข้าวสังข์หยด ซึ่งกินง่าย แค่ชงน้ำร้อนพร้อมกินได้เลย และมีรสชาติอร่อย ที่สำคัญสินค้าตัวนี้ สร้างมูลค่าเพิ่มสูงกว่าขายข้าวสารถึง 19 เท่า ช่วยเพิ่มรายได้และสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพชาวนาได้อย่างดี

…….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566

Related Posts