คุณบลู หรือ คุณธามปริญ แจ้งวิจิตร์ เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เรียนจบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยพระเจ้าจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ทำงานที่กรุงเทพฯ 3 เดือน รู้สึกว่าไม่ชอบไม่ถูกจริต จึงย้ายกลับบ้านเพื่ออยู่ใกล้ชิดกับ คุณปู่วรรณ ที่มีอายุมากถึง 107 ปีแล้ว และทำสวนเกษตรภายใต้ชื่อ “ สวนผักปู่วรรณ”
คุณบลูทำเกษตร ชื่นชอบการทำเกษตร เพราะมองว่า เป็นอาชีพที่ยั่งยืน สามารถขยายไปได้เรื่อยๆอย่างไม่มีสิ้นสุด เช่น มะขามเทศที่มีอยู่ต้นเดียว แต่ก็สามารถขยายออกได้เป็น 10 เป็น 100 เป็น 1000 ได้ คุณบลูแบ่งพื้นที่ทำ “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” โดยกลุ่มไม้ใช้สอย เช่น ขี้เหล็ก ประดู่ แค กระถินยักษ์ สะเดา ไม้กินได้ เช่น พืชผักสวนครัว สมุนไพร ไม้ผล ส่วนไม้เศรษฐกิจ เช่น สัก พะยูง ยางนา ฯลฯ

คุณบลูใช้พื้นที่บ้าน 144 ตารางวา สำหรับเลี้ยงสัตว์ปีกและปลูกผักสลัด ประเภทกรีนโอ๊ค เรดคอรอล บัตเตอร์เฮด เรดคอส ฯลฯและผักสวนครัวไว้รอบบ้าน ทั้ง ผักกาดขาว กระเพรา โหระพา พริก ตะไคร้ คะน้า ผักบุ้ง เพื่อเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน เมื่อการปลูกผักได้ปริมาณมาก จึงโพสต์ขายผ่านสื่อออนไลน์
ที่เหลืออีก 9 ไร่ ปลูกขยายพันธุ์ไม้ผลนานาชนิดไม่ว่าจะเป็น มะม่วง มะพร้าว กล้วย และฝรั่งพันธุ์ต่างๆ เช่น ฝรั่งพันธุ์กิมจู พันธุ์แตงโมหรือซีกัวปาล่า หงเป่าสือ และอโยธยา 3 สวนปู่วรรณเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งแปลงเพราะใช้มูลวัวและปุ๋ยมูลไส้เดือนในการบำรุงต้นไม้

เลี้ยงไส้เดือนเป็นปุ๋ย
คุณบลูได้เรียนรู้ว่าการปลูกพืชอินทรีย์จะต้องเริ่มต้นที่ดิน จึงศึกษาการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อเอามูลมาทำปุ๋ยด้วย โดยซื้อไส้เดือนแอฟริกัน จำนวน 1 ชุด มาทดลองเลี้ยงดูก็สามารถขยายพันธุ์ไปได้เรื่อยๆ ไส้เดือนแอฟริกันเติบโตดีในสภาพอากาศร้อน เมื่อเจอปัญหาอากาศหนาวมากทำให้ไส้เดือนตายหมด ประกอบกับคนที่บ้านไม่ชอบจับไส้เดือน จึงหยุดขยาย ทำเฉพาะที่จะใช้เท่านั้น ไส้เดือนที่มากเกินไปก็จะปล่อยลงโคนต้นไม้เพื่อให้เป็นไส้เดือนธรรมชาติไป
ทุกวันนี้ คุณบลูเลี้ยงไส้เดือนสายพันธุ์ แอฟริกัน ไนท์ ครอเลอร์( AF ) และ ไส้เดือนสีน้ำเงิน Blue worm เป็นไส้เดือนที่มีความสามารถในการขยายพันธุ์เร็ว สามารถกำจัดขยะอินทรีย์ ผลิตปุ๋ยหมักได้นุ่ม ละเอียดมาก คุณบลู เลี้ยงไส้เดือนด้วย มูลวัวนม 100% มีโมเลกุลขนาดเล็ก ต้นไม้สามารถดูดซึมอาหารไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว และในลำไส้ของไส้เดือนมีจุลินทรีย์อยู่มาก ดังนั้นมูลไส้เดือนที่ถูกถ่ายออกมาก็ยังคงมีจุลินทรีย์สูงถึง 200-300 ชนิด ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืช


เลี้ยงแมลง BSFกำจัดขยะ
ใช้เป็นอาหารสัตว์ต้นทุนต่ำ
คุณบลูสมัครเข้าร่วมโครงการ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ และได้รับคัดเลือกให้ไปเรียนต่อในหลักสูตรวิทยาลัยบูรณาการศาสตร์ สาขาวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลักสูตร 2 ปี ได้รับปริญญาตรีเกษตรศาสตร์ ในช่วงเวลาการศึกษาได้เข้าร่วมโครงการกำจัดขยะครัวเรือนโดยใช้แมลงวันลาย หรือ แมลงBSF
ทุกวันนี้ คุณบลูหมักผลไม้รสเปรี้ยวเรียกแมลง BSF มาวางไข่ เพื่อใช้ในการกำจัดเศษอาหารในครัวเรือน และยังสามารถใช้เป็นอาหารเสริมให้กับไก่ไข่ได้ คุณบลูนำไข่แมลงวันลายมาไว้ในกล่องและตาข่ายที่กั้นไว้ ไข่ของแมลง BSF คล้ายกับไข่แมลงวันทั่วไป เมื่อไข่เปลี่ยนเป็นตัวหนอนจะกินเศษอาหาร มีข้อควรระวังคือ อย่าเทเศษอาหารมากเกินไป สังเกตได้จากกลิ่น ถ้ามีกลิ่นเน่าแสดงว่าเศษอาหารมากเกินไป


แมลงBSF จะกินอาหารประมาณ 20 วัน จะหยุดกินอาหาร เมื่อหนอนเข้าสู่ระยะดักแด้ ตัวหนอนสีขาวจะเปลี่ยนเป็นสีดำและคลานเข้าหาพื้นที่แห้งซึ่งจัดไว้ หากไม่เตรียมพื้นที่แห้งไว้ ดักแด้จะตายเนื่องจากไม่ชอบพื้นแฉะ เมื่อเข้าระยะดักแด้เต็มที่ก็จะหยุดเคลื่อนไหวประมาณ 7-10 วันก็จะกลายเป็นตัวบิน
แมลงBSF มีระยะเวลาวางไข่แค่ 7 วันก็จะตาย ในช่วงนี้แมลงBSF สามารถไข่ 400-700 ฟองต่อตัว พอวางไข่เสร็จมันจะตาย วัยที่เหมาะสำหรับนำมาเป็นอาหารสัตว์ คือ ระยะที่เป็นหนอน ระยะเป็นดักแด้ และตัวแมลงตายแล้ว แมลงBSF ใน 3 ระยะสามารถนำมาผสมอาหารให้สัตว์กินได้หมด ส่วนมูลแมลงBSF หรือซากของตัวดักแด้ที่มีไคโตซานคล้ายเปลือกกุ้ง นำใช้เป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้ได้ หรืออาจผสมดินปลูกเพื่อเพาะกล้าก็ได้เช่นกัน


เลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี ด้วยอาหารสัตว์โปรตีนสูงต้นทุนต่ำ
คุณบลูสนใจเลี้ยงสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ไข่ ไก่บ้าน ไก่ป่า ไก่แจ้ และห่าน โดยใช้มูลสัตว์เหล่านี้เป็นปุ๋ยคอกบำรุงต้นไม้ได้ คุณบลูประหยัดต้นทุนอาหารสัตว์โดยผลิตอาหารสัตว์ขึ้นใช้เอง จากวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น คือ หยวกกล้วยหมักด้วย จุลินทรีย์ EM กากน้ำตาล เกลือ รำข้าว นอกจากนี้ยังมีข้าวเปลือก กากถั่วเหลือง และแหนแดงซึ่งมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์
ทุกวันนี้ สวนผักปู่วรรณ ได้ผลผลิตไข่ไก่ที่สด สะอาด ปลอดภัยเพราะเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี ใช้ลิ้นชักตู้เก่าที่ปลวกกิน เป็นที่วางไข่ เปิดพัดลม เปิดเพลงให้ไก่ไข่ฟัง ให้อาหารสัตว์วันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็น ให้ไก่กินหยวกกล้วยหมัก+รำข้าว+ปลายข้าว+กากถั่วเหลือง+หัวอาหารนิดหน่อย บางทีก็เพิ่มใบตำลึง คะน้าไชยา กล้วย แหนแดง ต้นอ่อนข้าวสาลี เศษอาหารจากครัวเรือน หญ้าหวานอิสราเอล และกินแมลงBSF(ช่วงตัวเต็มวัยที่ตายแล้ว)เป็นอาหารเสริมเพื่อได้ไคโตซานและเพิ่มแคลเซียม นอกจากนี้ยังให้ไก่ไข่กินผงฟ้าทะลายโจรสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อบำรุงสุขภาพไก่ไข่ให้แข็งแรง

สำหรับมือใหม่ที่สนใจทำเกษตร คุณบลูให้คำแนะว่า การทำเกษตรต้องทำเลย ไม่ต้องกลัวและไม่ต้องกังวล ทำได้หรือไม่ได้เราจะรู้เอง อะไรที่จะต้องปรับต้องแก้ ก็ต้องปรับแก้ไป ถ้าเราประสบความสำเร็จเราสามารถขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น หากมีพื้นที่น้อย เราต้องทำตามสภาพพื้นที่ อาจจะทำโต๊ะขึ้นมาเพื่อปลูกผัก ประสบการณ์จะสอนเราให้มีความรู้เพิ่มขึ้นจากการลองผิดลองถูก ซึ่งเราไม่สามารถปลูกผักได้ทุกชนิด แต่ก็ทำให้เราซื้อผักจากตลาดน้อยลงและเราจะมั่นใจในผักที่เราปลูกขึ้นเองว่าปลอดสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์
ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลการทำเกษตรของคุณบลูได้ที่ เฟซบุ๊ก : สวนผักปู่วรรณ ที่มักจะมีสิ่งดีๆ ทางการเกษตรมาบอกกล่าวให้อ่านเสมอ