เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

มิติเศรษฐีกับเครื่องมือมหัศจรรย์ ช่วยธุรกิจชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สังกัดสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้กำหนดบทบาทเป็น change agent และ เป็นผู้ริเริ่มสร้างโครงการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises : LE) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ทั่วประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็งตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อย่างมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน และแบ่งปัน

วันที่ 23-24 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา บพท. ได้ร่วมมือกับภาคีวิจัยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนงานวิจัย จัดงาน Local Enterprises Social Expo: “คน-ของ-ตลาด” มิติที่แตกต่าง มั่งคั่งมั่นคงยั่งยืน เป็นครั้งแรกของประเทศไทย กับการรวมตัวผู้ประกอบการธุรกิจและธุรกิจชุมชนกว่า 130 ธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้ ต่างมีดวงตาแห่งความหวัง สัมผัสได้ถึงพลังแห่งการก้าวไปข้างหน้า และรับรู้ถึงความมุ่งมั่นที่จะก้าวฝ่าอุปสรรคอย่างเป็นรูปธรรม สู่ความเป็น “เศรษฐี” ที่เติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมแบ่งปัน สร้างประโยชน์และผลกำไรเชิงธุรกิจควบคู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกันต่อไป

ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย เช่น นิทรรศการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจสู่เส้นทางเศรษฐี มืออาชีพ โซนลานวงเดือน : กิจกรรมและเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกระบวนการสู่มืออาชีพ สร้างความสัมพันธ์ของผู้ประกอบการธุรกิจ และธุรกิจชุมชน โซน Wealth Village: นิทรรศการ “คน-ของ-ตลาด” มิติที่แตกต่าง และเส้นทางเศรษฐีฉบับปันกัน โซนตลาด LE : การจัดแสดงสินค้าของเหล่าผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนพร้อมด้วยบู๊ธอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น บู๊ธคาเฟ่ บู๊ธโชห่วย บู๊ธท่องเที่ยว เป็นต้น

“คน-ของ-ตลาด โมเดล”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ ผู้อำนวยการกรอบการวิจัย Local Enterprises กล่าวว่า  จากการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ LE ทั่วประเทศกว่าพันรายในช่วงปี 2564-2565 พบว่า ธุรกิจชุมชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ธุรกิจล้มเหลว เราจึงออกแบบโครงการยกระดับ LE ภายใต้การสร้างศักยภาพคน (ธุรกิจ) ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุดในการยกระดับธุรกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ผ่าน แนวคิด “คน-ของ-ตลาด โมเดล” องค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

สำหรับมิติการพัฒนา “คน” ในธุรกิจชุมชน ครอบคลุมตั้งแต่เจ้าของธุรกิจ ลูกจ้าง ไปจนถึงเกษตรกร ฯลฯ มุ่งเน้นการเสริมความรู้ความสามารถในการทำธุรกิจ ตลอดจนทักษะการบริหารจัดการด้านต่างๆ เช่น การเงิน การผลิต การตลาด และแบรนด์ ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ส่วน “ของ” ครอบคลุมทั้งวัตถุดิบ สินค้า และบริการ ที่ตอบโจทย์ความต้องการตลาด โดยมุ่งเน้นการพัฒนา ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่า-คุณค่าของ “ของ” ให้เหมาะสมกับต้นทุนทางธุรกิจและความสามารถการผลิตอย่างมีประสิทธิผล ด้าน “ตลาด” คือการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นโอกาสใหม่ๆ ของธุรกิจด้วยข้อมูลตลาดที่ผ่านการวินิจฉัยทั้งด้าน supply และ demand ทั้งเชิงลึกและรอบด้าน ซึ่งกระบวนการ “คน-ของ-ตลาด โมเดล” ได้รับการพัฒนายกระดับในด้านต่างๆ ไปพร้อมๆ กันผ่านเครื่องมือที่ได้รับการออกแบบเฉพาะเพื่อ LE อาทิ LE Financing, Value chain management เป็นต้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต กล่าวว่า ธุรกิจปันกัน ภายใต้โมเดล “คน ของ ตลาด” เป็นหลักคิด เพื่อพัฒนาคน โดยใช้ข้อมูลการตลาดมาสร้างคนก่อน เพราะพบว่า สัญญาณชีพที่อันตรายที่สุด คือ การเงิน  ในปีนี้เป็นปีแรก ที่แสดงให้เห็นว่า จะรักษาโรคธุรกิจชุมชนได้อย่างไร ผมเรียกว่า ธุรกิจปันกัน ตอน “ชวนออม” ปีที่ 2 จะเป็นธุรกิจปันกัน ตอน “ทำมาหากิน” หลังจากจัดการเงินและเข้าใจธุรกิจแล้ว จะพาผู้ประกอบการไปสู่ขบวนการเห็นตลาด และสร้างของให้ตรงกับ “ดีมานด์” ความต้องการของตลาด และผู้บริโภค

ตัวเลขชี้ชะตาชีวิตธุรกิจ

“ปัญหาการเงินที่ทุกคนรู้จัก ดูเหมือนว่า ไม่ใช่ปัญหา แต่จริงๆ แล้วมันคือรากต้นตอของปัญหาทุกเรื่อง ปัญหาธุรกิจชุมชนต้องแก้ที่รากก่อน ธุรกิจชุมชนจึงประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่แค่ใส่เงินลงไป แต่ต้องบริหารจัดการการเงินที่ดีให้ได้ก่อน การผลิตและการตลาดก็จะตามมา ความเสี่ยงทางธุรกิจจะลดน้อยลง เพราะหากรากไม่รอด ต่อยอดไม่ได้ครับ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต กล่าว

สถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ผู้ประกอบกรส่วนใหญ่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินมากที่สุด อย่างที่รู้กันว่า กำไรคือ อาหาร สภาพคล่องคือ อากาศ หากธุรกิจขาดสภาพคล่องเดินไม่ได้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิตจึงพัฒนาแอปพลิเคชั่น “ประตูเศรษฐี” ขึ้นมาด้วยเหตุผลนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินให้คล่องสมชื่อ

ทั้งนี้ แอปพลิเคชั่น “ประตูเศรษฐี” เช็กสภาพคล่องทางการเงินของผู้ประกอบการจาก 4 ด้าน คือ รายได้ กำไร สภาพคล่อง และหนี้สิน ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ โครงการ “ประตูเศรษฐีบานที่ 1” ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 500 คน และ “ประตูเศรษฐีบานที่ 2” มีผู้เข้าร่วม 350 คน หลังจากนั้นผู้ประกอบการผ่านหลักสูตร “เศรษฐีเรือนใน” เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการเงินภายในครัวเรือน เพื่อให้สามารถยกกระเป๋าเงินส่วนตัวออกจากกระเป๋าเงินธุรกิจได้ ทำให้สามารถเห็นสถานะการเงินภาคธุรกิจได้อย่างแท้จริง ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ หว่าน (บริหารรายรับรายจ่าย, วิธีเพิ่มสินทรัพย์) พรวน (วีธีออมเงิน, หลักการลงทุน/เก็บเกี่ยว (บริหารหนี้, เตรียมพร้อมสู่การเงินภาคธุรกิจ) ผ่านเครื่องมือต่างๆ อาทิ แอปพลิเคชัน “เศรษฐีเรือนใน” , บอร์ดเกม (ภาพแสดงให้เห็นถึงงบดุล และงบรายรับ รายจ่าย-บำรุงชีพ, บำเรอชีพ, ดำรงชีพ, บรรลัยชีพ), เป็นต้น

หลังจากนั้นผ่านไปสู่หลักสูตร “เศรษฐีเรือนนอก” เป็นการเรียนรู้บริหารจัดการการเงินภาคธุรกิจ เพื่อนำไปวางแผนต่อยอดในการเพิ่มมูลค่าธุรกิจของตนเองและชุมชนอย่างยั่งยืนร่วมกัน ผ่านเครื่องมือที่ใช้ อาทิ บอร์ดเกม (ภาพแสดงให้เห็นถึงงบดุล และ งบกำไรขาดทุน-งบการตลาด, ค่าวิจัยและพัฒนา, ค่าโสหุ้ย, ค่าเสื่อมราคา) โดยใช้กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าธุรกิจอย่างยั่งยืน 6+1 เป็นตัวกำกับในการวางแผน

ภาวริน น้อยใจบุญ

LE ผู้ประสบความสำเร็จ

เพราะวิกฤตโควิด-19 แท้ๆ ที่ทำให้ คุณภาวริน น้อยใจบุญ นักธุรกิจหญิงเมืองแปดริ้ว เจ้าของร้านขนมหวานชื่อดัง “ริน ขนมไทย” ได้ก้าวข้ามกรอบความคิดเดิมๆ  ผ่านความท้าทายทุกข้อจำกัด เป็น LE ที่ประสบความสำเร็จในที่สุด

ร้าน ริน ขนมไทย เป็นธุรกิจครอบครัว ที่เริ่มต้นจากกิจการเล็กๆ หลังบ้าน เมื่อปี 2517 ก่อนจะพัฒนาเป็นร้านขนมของฝากที่มีชื่อเสียงของจังหวัดฉะเชิงเทราที่คัดสรรวัตถุดิบคุณภาพอย่างดีมาเพื่อผู้บริโภคโดยแท้จริง ปัจจุบันร้าน ริน ขนมไทย มีขนมให้เลือกชิมมากกว่า 80 ชนิด ใช้กรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม  ใช้เตาฟืน ใช้วัตถุดิบ สด ใหม่ สะอาด และใช้แรงงานคนในการผลิต สินค้าขายดี ได้แก่ กระยาสารทน้ำอ้อย ข้าวตังหน้ากุ้ง ฝอยทองคำ กลีบลำดวน ฯลฯ

คุณภาวริน กล่าวว่า ร้าน ริน ขนมไทย เน้นขายตลาดนักท่องเที่ยวเป็นหลัก พอเจอวิกฤตโควิด-19 ช่วงล็อกดาวน์ลูกค้าไม่มาเลย รายได้ลดฮวบไปเลย แต่เราต้องจ่ายค่าแรงงานตลอด ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก เพราะมีจำนวนแรงงาน 45 คน คิดเป็น 30% ของต้นทุนการผลิต ต้องขอบคุณทีมงาน ทุกคนน่ารักมากยอมปรับลดค่าจ้างเพื่อให้เรารอดไปด้วยกัน

คุณภาวรินเคยรู้จักกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิตมาก่อน ต่อมาได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมโครงการ Local Enterprises เพื่อแก้ปัญหาเสริมจุดแข็งให้ธุรกิจอย่างครบวงจร ในปี 2564 คุณภาวรินรู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้เพราะช่วยฝึกฝนความคิด วิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไขที่สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจได้จริงๆ สำหรับไอเดียที่เธอชอบมากๆ จะเขียนแปะไว้ข้างฝาใกล้ๆ โต๊ะทำงานกันเลยทีเดียว

“ประตูเศรษฐี” เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณภาวรินสามารถประเมินภาพรวมธุรกิจผ่านการจัดการสภาพคล่องทางการเงิน จากตัวเลขรายได้ ผลกำไร สภาพคล่อง และหนี้สิน หลักสูตร “เศรษฐีเรือนใน” ช่วยให้เธอแยกเงินส่วนตัวและกระเป๋าเงินธุรกิจได้ชัดเจนขึ้น “เศรษฐีเรือนนอก” นำสู่การวางแผนพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณภาวริน กล่าวว่า หลักสูตร “เศรษฐีเรือนนอก”สอนแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการปรับลดเรื่องโสหุ้ย เดิมเคยซื้อวัตถุดิบจากยี่ปั๊ว ก็เปลี่ยนไปซื้อวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์แทน ทำให้มีต้นทุนวัตถุดิบถูกลง ได้เครดิตจากคู่ค้า ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินแล้วยังได้ลดค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย บทเรียนที่ได้รับ ทำให้เรียนรู้การจัดการกับปัญหา ค่อยๆ แก้ไปทีละจุด วันหนึ่งปัญหาก็จะเล็กลง และเหลือน้อยลง ก่อนเกิดโควิด-19 ร้าน ริน ขนมไทย มีผลกำไรเฉลี่ย 15% หลังจากนำความรู้มาปรับปรุงระบบการทำงาน ตอนนี้ผลกำไรกลับมาได้ 8% แล้ว ถึงแม้ไม่ได้ผลกำไรมากสูงสุดเท่าเดิม แต่มีความสุขในการทำธุรกิจ ทำให้ผู้บริโภคได้กินของอร่อยและพนักงานมีงานทำ

“การเข้าโครงการนี้ เปรียบเสมือนเสริมอาวุธทางปัญญา ทำให้รู้และเข้าใจตัวเรา ธุรกิจของเรามากขึ้น เป็นสิ่งที่ติดตัวเราไป สำหรับคนที่ตกอยู่ในภาวะลำบากจากพิษวิกฤตโควิด หากคิดว่า อยากมีชีวิตต่อ อยากทำธุรกิจต่อ ก็เข้ามานะคะ คุณจะมองเห็นโอกาสที่ดี เข้ามาฝึกแล้วคุณจะรู้ว่า มันดีจริงๆ” คุณภาวริน กล่าวในที่สุด

อย่าปิดโอกาสตัวเองทุกกรณี…เพราะโอกาสดีๆ ไม่ได้จะมีมาบ่อยๆ…หากใครสนใจอยากเข้าร่วม โครงการ Local Enterprise กับ บพท. ติดต่อได้ที่ เบอร์โทร. 02-109-5432 ต่อ บพท. หรือเว็บไซต์  https://www.nxpo.or.th/A/

Related Posts