ประเทศไทยในยุคโลกรวน เสี่ยงเจอภาวะอาการแปรปรวนได้ตลอดเวลา หากในช่วงเช้าฟ้าครึ้มผิดปกติ เมฆหนา ไม่มีแดด แม้จะเป็นช่วงเวลา 06.00-09.00 น. ซึ่งตามปกติต้องมีแสงแดดที่เป็นตัวกลางสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์แสง จะพบว่า ปลาว่ายน้ำรวมตัวเป็นฝูง ลอยหัวเหนือผิวน้ำ ซึ่งเป็นลักษณะอาการปลาขาดอากาศ ส่งผลให้สุขภาพปลาอ่อนแอ กินอาหารน้อยลง การเจริญเติบโตช้า หากปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำเกินค่ามาตรฐาน ปลาที่เลี้ยงในบ่อ อาจลอยตายได้
หากเกิดกรณีดังกล่าว สำนักงานประมงจังหวัดอุบลราชธานี ให้คำแนะนำว่า เกษตรกรควรเพิ่มออกซิเจนในน้ำ เช่น ใช้เครื่องตีน้ำหรือเครื่องมือที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำ ให้ออกซิเจนในชั้นบรรยากาศละลายผสมกับน้ำ เพื่อให้ออกซิเจนละลายในน้ำเพียงพอต่อการดำรงชีวิตและการเจริญเติบโตของปลา
ทั้งนี้ อุณหภูมิของสภาพแวดล้อมมีผลต่ออุณหภูมิภายในร่างกายของปลา เนื่องจากปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันโรคจะเป็นปกติเมื่ออุณหภูมิน้ำอยู่ในช่วงเดียวกับอุณหภูมิทางสรีระ (physiological range) ปลาจะมีอัตราการเผาผลาญของร่างกาย (metabolic rates) เพิ่มขึ้นถ้าน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น
ปลาส่วนใหญ่ถ้าอุณหภูมิของน้ำเพิ่มขึ้น 10 องศาเซลเซียส จะมีผลให้อัตราการเผาผลาญของร่างกายเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของปกติ ซึ่งสัตว์น้ำแต่ละชนิดจะมีความสามารถในการปรับตัวต่ออุณหภูมิและอัตราการเผาผลาญของร่างกายที่เพิ่มขึ้นแตกต่างกันไป
เมื่ออุณหภูมิน้ำสูงขึ้นจะพบว่าปลามีการว่ายน้ำมากขึ้น การทำงานของระบบย่อยอาหารเพิ่มขึ้นและมีอัตราการหายใจที่เร็วขึ้น สังเกตได้จากความในการเปิดปิดของแผ่นปิดเหงือกการเพิ่มอัตราการหายใจทำให้ปริมาณการใช้ออกซิเจนเพิ่มขึ้นซึ่งอาจเป็นอันตรายหากสภาวะนี้คงอยู่หรือเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลานาน ซึ่งมีผลต่อปริมาณออกซิเจนที่ละลายในบ่อเลี้ยงถูกใช้ไปเรื่อยๆ ทั้งจากปลาพืชน้ำและแพลงตอนพืช เมื่อถึงสภาวะที่ปลาทนร้อนไม่ได้หรือมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิฉับพลันปลาจะปรับสภาพไม่ทัน รวมทั้งอาจขาดออกซิเจนและตายได้
อุณหภูมิน้ำจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพอากาศแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่มีผลต่ออุณหภูมิของน้ำ เช่น ความแรงลม ความลึกของแหล่งน้ำ ความเข้มของแสงอาทิตย์ และความโปร่งของน้ำด้วยเช่นกัน และนอกจากอุณหภูมิจะมีผลต่อสัตว์น้ำแล้วยังมีผลต่อคุณภาพน้ำด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ ความหนืดของน้ำ การแบ่งชั้นของน้ำ จึงควรเฝ้าระวังตรวจสอบอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอและควรมีมาตรการในการควบคุมอุณหภูมิในบ่อเลี้ยง เช่น การติดตั้งตาข่ายกรองแสงเพื่อลดความเข้มแสงของดวงอาทิตย์ที่ส่องลงในบ่อเลี้ยง เพื่อให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงหรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพปลาให้น้อยที่สุด
………………
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จาก Facebook : สำนักงานประมงจังหวัดอุบลราชธานี
………
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อ24 มิถุนายน 2567..