เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

เกษตรกรบ้านท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต ชื่นชมโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ สร้างรายได้ที่มั่นคง.

กลุ่มวิสาหกิจชุมขนและเกษตรกรบ้านท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ชื่นชม “โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 300 ไร่” แก้ขาดแคลนน้ำ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกร

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 67 นายวิจิตร สดสะอาด ผอ.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 9(ระยอง) ลงพื้นที่โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่พื้นที่ 300 ไร่ บ้านท่ากระดาน หมู่ 1 ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทราเพื่อติดตามการใช้น้ำของเกษตรกร ซึ่งอยู่นอกเขตชลประทาน โดยมีนายบุญชิน ทศนักข์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่ากระดานพร้อมเกษตรกรร่วมลงพื้นที่พา นายวิจิตร ไปชมการทำการเกษตรหมุนเวียนซึ่งใช้เวลาปลูกค่อนข้างสั้น เช่น มะละกอ แตงกวา พริกขี้หนู ปลูกไผ่ตงเขียวหรือไผ่หวาน และสวนมะม่วง จำหน่ายสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชนไม่น้อย

นายบุญชิน กล่าวว่า พื้นที่บ้านท่ากระดานประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก พื้นที่ทำการเกษตรอยู่นอกเขตชลประทาน ในช่วงฤดูแล้งมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่แน่นอน เกิดภาวะหนี้สินและเสี่ยงต่อการลงทุน ขาดความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม เพราะปลูกได้เฉพาะยูคาลิปตัส กับมันสำปะหลัง จึงได้ประสานกับสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 9(ระยอง) ขอน้ำบาดาลมาใช้สำหรับทำการเกษตร จนได้รับการอนุมัติโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 300 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 1 ซี่งมีประชากรกว่า 290 หลังคาเรือน ในปี 2566 ทำให้มีผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้น มีความหลากหลายขึ้น เพราะมีน้ำบาดาลใช้ตลอดทั้งปี

ด้านนายวิจิตร กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้จัดทำ โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 300 ไร่ ให้กับกลุ่มเกษตรกรบ้านท่ากระดาน หมู่ 1 ต.ท่ากระดาน ด้วยการเจาะและพัฒนาบ่อน้ำบาดาล ขนาด 6 นิ้ว จำนวน 3 บ่อ สูบน้ำขึ้นหอถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาดความจุ 130 ลูกบาศก์เมตร ด้วยระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง และวางท่อระบบกระจายน้ำสู่แปลงเกษตรระยะทางรวม 1,800 เมตร เกษตรกรปลูกหน่อไม้ไผ่ตง มันสำปะหลัง ปาล์ม มะม่วง ไม้ยืนต้น และพืชผักสวนครัว มีปริมาณน้ำรวมไม่น้อยกว่า 175,200 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ช่วยแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถเลี้ยงดูครอบครัว และมีน้ำบาดาลใช้ในการเกษตรอย่างเพียงพอ

Related Posts