นวัตกรรม เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งวันนี้นักวิจัยมีความสุขมากขึ้น เมื่อภาคเอกชนและภาครัฐร่วมกันทำงานภายใต้นโยบาย “ประชารัฐรักสามัคคีฯ” นำไอเดียของนักวิจัยมาต่อยอด โดยล่าสุดให้สนับสนุนและเปิดตัวเครื่องสีข้าว 2 แบบ คือ เครื่องสีข้าวสำหรับครัวเรือน หรือแบบพกพา และเครื่องสีข้าวสำหรับครัวเรือนระดับชุมชน อันเป็นผลงานของ รศ.ดร. ศักดา อินทรวิชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมงาน ที่สามารถนำไปใช้กับร้านในชุมชนเพื่อหารายได้อีกต่อหนึ่ง นับเป็นวิธีคิดของภาครัฐและภาคเอกชนอันจะนำมาซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านนวัตกรรมของนักวิจัย
รศ.ดร. ศักดา อินทรวิชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าให้ฟังถึงแนวคิดนวัตกรรมเครื่องสีข้าวทั้ง 2 แบบ ที่นำมาสู่การต่อยอดในนโยบาย “ประชารัฐรักสามัคคีฯ” ว่า มาจาก 3 แนวคิด คือ หนึ่ง ต้องการให้เกษตรกรมีเครื่องสีข้าวไว้ใช้เอง สอง เป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพให้เกษตรกร และ สาม ให้แต่ละครัวเรือนสามารถมีเครื่องสีข้าวไว้ใช้
จากแนวคิดดังกล่าวจึงนำมาสู่การพัฒนาและสร้างสรรค์เครื่องสีข้าวออกมา 2 แบบ คือ แบบที่ 1 เครื่องสีข้าวสำหรับครัวเรือน เหมาะสำหรับครัวเรือนทั่วไป มีกำลังความสามารถในการสีข้าวเปลือกได้ครั้งละ 500 กรัม ถึง 1 กิโลกรัม ซึ่งจะได้ปริมาณข้าวสวย 2 มื้อ โดยตั้งราคาขายเครื่องละ 20,000 บาท เท่านั้น และ แบบที่ 2 เป็นเครื่องสีข้าวสำหรับครัวเรือนระดับชุมชน สามารถสีข้าวเปลือกได้ถึง 20 กิโลกรัม ราคาขายเครื่องละ 30,000 บาท
“เครื่องสีข้าวทั้ง 2 ตัว แปลงร่างมาจากเครื่องสีข้าวครัวเรือน แต่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น โดยมีจุดเด่นเน้นให้รองรับสายพันธุ์ข้าวทุกสายพันธุ์ มีตะแกรง 3 ตะแกรง รองรับข้าวสายพันธุ์หลักในไทย ได้แก่ ข้าวก่ำ หรือข้าวลืมผัว ซึ่งมีขนาดเม็ดข้าวใหญ่ ป้อม และเปลือกแข็ง, ข้าวขนาดมาตรฐาน อย่างข้าวหอมมะลิ จากทางภาคอีสาน และข้าวเม็ดเล็ก เปลือกบาง อย่างข้าวสังหยด โดยรูปลักษณ์ของเครื่องสีข้าวที่ได้รับการต่อยอดครั้งนี้ ได้รับทุนวิจัยจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มาดูแลเรื่องงบฯ ในการดีไซน์หน้าตาเครื่องสีข้าวให้ทันสมัย และดูแลเรื่องต้นทุนการผลิตเครื่องสีข้าวให้สามารถทำราคาได้ไม่แพง และสามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าระดับ (Premium) เพราะรูปลักษณ์เครื่องสีข้าวเหมาะไว้ประจำในครัวเรือน หรือใช้ในชุมชนก็ได้” รศ.ดร. ศักดา เล่าให้ฟังถึงนวัตกรรมเครื่องสีข้าว
ดร. ศักดา ยังเล่าอีกว่า การทำงานพัฒนานวัตกรรม “เครื่องสีข้าว” เป็นความร่วมมือจาก 3 ส่วนใหญ่ๆ เรียกว่า 3 ประสาน คือ ในฝั่งของ บมจ. ไทยเบฟฯ, ฝั่งประชารัฐรักสามัคคีฯ และฝั่งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่นโยบายของภาครัฐจับนวัตกรรมของนักวิจัยมาเชื่อมโยงกับเกษตรกรในระดับรายบุคคล ผ่านนวัตรกรรม “เครื่องสีข้าว” ครัวเรือนทั้ง 2 รูปแบบ
รศ.ดร. ศักดา อธิบายว่า นวัตกรรมเครื่องสีข้าวมีทั้งแบบขนาดที่เหมาะกับครัวเรือน และเหมาะกับขนาดของคอนวิเนียนสโตร์ หรือร้านค้าในชุมชน นับเป็นนวัตกรรมที่ส่งผ่านข้าวเปลือกไปยังผู้บริโภค และผู้บริโภคสามารถรับประทานข้าวสดได้ตามปริมาณที่ต้องการจากเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก
กว่าเครื่องสีข้าวสำหรับครัวเรือน หรือแบบพกพา และเครื่องสีข้าวสำหรับครัวเรือนระดับชุมชน จะมีหน้าตากะทัดรัดอย่างที่เห็นนี้ ใช้เวลาการพัฒนาและต่อยอดมาครบ 10 ปี โดยนับถอยหลังก่อนหน้านี้เพียง 1 ปี ในช่วงกลางปี 2558 รศ.ดร. ศักดา ได้เปิดตัวผลงานวิจัยนวัตกรรมเครื่องสีข้าวชุมชน-120 รุ่นที่ 3 มีราคาเพียง 80,000 บาท ประหยัดกว่าเครื่องสีข้าวที่ขายตามท้องตลาดทั่วไปถึง 100,000 บาท โดยเป็นเครื่องสีข้าว 3 in 1 สีได้ทั้งข้าวกล้อง ข้าวสารขาว และข้าวซ้อมมือ มีตัวเครื่องหนัก 350 กิโลกรัม ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1.5 เมตร สูง 2 เมตร ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 2.2 กิโลวัตต์ 220 โวลต์ 15 แอมแปร์ สีข้าวเปลือกได้ 100 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง มีประสิทธิภาพกะเทาะข้าวเปลือก 80% ทำให้ได้ปริมาณข้าวรวม 60-65%
การวิจัยพัฒนาเครื่องสีข้าวชุมชน-120 ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เลือกให้เป็นเครื่องจักรกลเกษตรในโครงการเกษตรศาสตร์ เทิดพระเกียรติ 84 พรรษามหาราชา โดยผลิตเครื่องสีข้าวดังกล่าวจำนวน 120 เครื่อง มอบให้กับมูลนิธิพระดาบสและชุมชนเกษตรกรนำไปใช้สีข้าวเปลือกให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน โดยได้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากมูลนิธิสวิตา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทั้งนี้ ทีมวิจัยของ รศ.ดร. ศักดา นั้น เริ่มต้นวิจัยเครื่องสีข้าวเป็นก้าวแรกอย่างเงียบๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2546 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อ “โครงการวิจัยพัฒนาเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก” ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จัดตั้งโครงการวิจัยเชิงประยุกต์ (Applied Research) เพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องสีข้าวที่เหมาะสม (Appropriate Rice Mill) ต่อสภาพพื้นที่และการเพาะปลูกข้าวของเกษตรกรไทย โดยผลงานชิ้นแรกของโครงการ คือ “ตุ๊ก ตุ๊ก สีข้าว” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“ตุ๊ก ตุ๊ก สีข้าว” มีราคาจำหน่ายเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 300,000 บาท เป็นเครื่องสีข้าวขนาดเล็กแบบเคลื่อนย้ายได้ ตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้ทั้งในเขตเมืองและชนบทห่างไกล โดยใช้ได้ทั้งเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 3 กำลังม้า กระแสไฟฟ้า 220 โวลต์ 15 แอมแปร์ หรือกับเครื่องยนต์ขนาด 5 กำลังม้า สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีกระแสไฟฟ้า
สำหรับการส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์นั้น เมื่อเร็วๆ นี้ คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) ได้ประชุมงานเป็นครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยใช้พื้นที่ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดประชุมความคืบหน้าบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ครอบคลุมพื้นที่ระยะที่ 1 จำนวน 5 จังหวัด รวมทั้งหมด 6 วาระ ซึ่งมี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั่งหัวโต๊ะการประชุม ในตำแหน่ง หัวหน้าทีมภาครัฐ และหัวหน้าโต๊ะจากทีมภาคเอกชน คือ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ในตำแหน่งหัวหน้าทีมภาคเอกชน โดยเรื่องเครื่องสีข้าวเป็นองค์ประกอบสำคัญในวาระที่ 5 เรื่องเพื่อพิจารณา “การเชื่อมโยงผู้บริโภคกับเกษตรกร ในโครงการสีข้าว มี คุณประวิช สุขุม เลขานุการร่วมภาคเอกชน เป็นผู้ดูแลหัวข้อการพิจารณา
ในการประชุมมีเนื้อหา วัตถุประสงค์โครงการสีข้าว ในการเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคกับเกษตรกร คือ 1. เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในระยะยาวผ่านการพัฒนาเครื่องสีข้าวสำหรับผู้บริโภค (Food Service และครัวเรือน) ให้สามารถขัดสีข้าวได้ในเวลาและปริมาณที่ต้องการ 2. สร้าง supply chain ข้าวเปลือกอบแห้งเพื่อรองรับเครื่องสีข้าว 3. สร้างช่องทางการขายใหม่ให้กับชาวนา สามารถขายข้าวได้ตรงกับผู้บริโภคในราคาที่สูงขึ้น และ 4. เป้าหมายในการนำออกตลาดภายในปีนี้
ทั้ง คุณมีชัย วีระไวทยะ กรรมการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด และผู้อาวุโสในที่ประชุมดังกล่าว ได้อุดหนุนเครื่องสีข้าวสำหรับครัวเรือน จำนวน 60 เครื่อง เพื่อบริจาคให้โรงเรียนต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นการจุดประกายให้กับการเชื่อมโยงเรื่องการสีข้าวไปยังผู้บริโภคที่เป็นเยาวชน ให้เกิดการเรียนรู้และซึมซับจากนวัตกรรมของนักวิจัยไทยที่มุ่งมั่นคิดค้นมาถึง 1 ทศวรรษ
เพราะฉะนั้น จากจุดเล็กๆ ของนักวิจัยไทย นำมาสู่การพัฒนาต่อยอดให้กับนโยบายระดับประเทศ โดยเฉพาะ “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯ” ที่ภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันนำนวัตกรรม “เครื่องสีข้าว” พัฒนาชาวนา ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังอันสำคัญของประเทศไทยมาช้านาน ให้มีชีวิตที่อยู่ดี กินดี อย่างมีความสุข ทัดเทียมกับอาชีพอื่นๆ ในสังคมไทย และสิ่งที่ได้กลับคืนมาเป็นอานิสงส์ในทางอ้อม คือเยาวชนไทยจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ในการเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคและชาวนา ผ่านนวัตกรรม “เครื่องสีข้าว”