เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

‘HATCH’ มจธ.โชว์นวัตกรรมดิจิทัลสุดล้ำ มุ่งคว้าชัยต่อต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่อาคารเคเอกซ์ ศูนย์ HATCH มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดงาน “pathway to digital innovation” เปิดตัวนักศึกษา มจธ.ที่ผ่านเข้ารอบและได้รับรางวัลต่างๆ จากศูนย์ HATCH รวมถึงกิจกรรมเสวนาย่อย ในหัวข้อ “ภาคอุตสาหกรรมให้การสนับสนุนนวัตกรรมระดับนักศึกษาอย่างไร”

โดยมี รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล รองคณบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์, นายอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ ดิจิทัล เวนเจอร์ส, นางสาวศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด, นางสาวชลธิชา นิลตระการกุล Marketing Communication Manager จาก G-ABLE, นพ.พีรุทย์ เชียรวิชัย อาจารย์คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และนายสัญญา จินดาประเสริฐ Digital Manager บริษัท เอสซีจี เคมิคอลล์ จำกัด ร่วมเสวนา

งานนี้มีนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดงานครั้งนี้ เพื่อเปิดตัวนักศึกษาจาก มจธ.ที่ผ่านเข้ารอบและได้รับรางวัลต่างๆ จากศูนย์ HATCH และแลกเปลี่ยนเพื่อการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ แบ่งทีมเป็น 2 หมวด คือ หมวด “สตาร์ตอัพดาวเด่น” มีทีมดังต่อไปนี้

1.B connex จัดทำรังผึ้งอัจฉริยะ เนื่องจากปัญหาในปัจจุบันที่ “ผึ้ง” สัตว์สำคัญกับการเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติได้ตายลงจำนวนมาก จึงเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างรังผึ้งอัจฉริยะ สามารถแจ้งเตือนความผิดปกติในรังผึ้งผ่านเซ็นเซอร์ติดตั้งในกล่องเลี้ยงผึ้งโดยจะนำข้อมูลเสียงของผึ้งไปวิเคราะห์แล้วส่งข้อความผ่านไลน์ เพื่อทำให้การเลี้ยงผึ้งง่ายขึ้น

2.HPChat ระบบสนทนาอัตโนมัติที่ช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่ในการตอบคำถามและให้ข้อมูลผู้ใช้บริการโรงพยาบาล ในเรื่องเวลาทำการ เบอร์โทรศัพท์ สิทธิการรักษา ราคาค่าใช้บริการ วิเคราะห์คิวการใช้บริการ และการนำทางภายในโรงพยาบาล

3.D’GUARDIAN ระบบตรวจจับการล้มของผู้พิการและผู้สูงอายุ โดยใช้เทคโนโลยี Machine Learning และ Deep Learning เพื่อแจ้งเตือนผู้ดูแลทันทีผ่านทางโทรศัพท์และข้อความ

4.BOTTHERAPIST Bliss เพื่อนหุ่นยนต์ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ให้เด็กออทิสติก ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างเด็กและผู้สอน พร้อมทั้งเกมสำหรับส่งเสริมพัฒนาการเด็ก

5.INSPECTRA ระบบตรวจจับสสารด้วยวิธีการหลอมรวมภาพถ่ายเชิงสเปกตรัม เพื่อหาความน่าจะเป็นที่จะเกิดความรั่วไหลของแก๊สหรือสารเคมีที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า พร้อมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่ผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นให้แก้ไขได้ทันท่วงที

ส่วนหมวด “สตาร์ตอัพดาวรุ่ง” ประกอบด้วยทีม 1.Plantopia จัดทำสื่อการเรียนรู้การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ผ่านแอพพลิเคชั่นเกมปลูกผักที่เชื่อมต่อกับกระถางที่ผู้เล่นจะได้สนุกพร้อมกับการลงมือทำจริง

2.ที-ทู-เอ นำเสนอแพลตฟอร์มสำหรับตรวจสอบสถานะพิกัดและสภาพแวดล้อมของสินค้าระหว่างการขนส่ง วิเคราะห์เมื่อสินค้าเกิดความเสียหายด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล และแจ้งเตือนเมื่อมีปัญหา

3.Vcare แพลตฟอร์มดูแลเครื่องยนต์ที่นำเสนอข้อมูลในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถรู้สถานะรถยนต์ของตัวเอง จะได้รับแจ้งเตือนเมื่อรถยนต์มีโอกาสเกิดความเสียหาย

4.VC4U ระบบตรวจจับและแจ้งเตือนการหลับในของผู้ขับขี่และวัตถุบนท้องถนน โดยอาศัยกล้องวิดีโอ 2 ตัวบนรถติดในรถยนต์ โดยกล้องตัวแรกจะจับภาพดวงตาของผู้ขับและนำมาวิเคราะห์ ส่วนกล้องอีกตัวสำหรับจับภาพหน้ารถเพื่อตรวจจับภาพสิ่งของ สิ่งมีชีวิต เพื่อลดอัตราเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ

5.AZY แพลตฟอร์มช่วยหาแม่บ้านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ โดยมีจุเด่นที่การเปรียบเทียบค่าบริการและคุณภาพที่วัดผลได้

6.ชัชวาล ระบบวิเคราะห์สตรีมมิงวิดีโออัจฉริยะ ที่สามารถวิเคราะห์และเข้าใจสิ่งต่างๆ ภายในบ้าน

7.สดใส ระบบช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าผ่านแชตแพลตฟอร์ม โดยมี bot ชื่อน้องสดใส คอยช่วยเหลือเมื่อผู้ป่วยมีอาการเครียด

8.Cityboy Pcth Project ตอบโจทย์การพัฒนาวงการสตรีทแฟชั่นไทย โดยเริ่มจากปัญหาของช่องว่างการซื้อขายไอเท็มแฟชั่นผ่านการสั่งซื้อล่วงหน้า จึงพัฒนา Pcth Project เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายใช้แพลตฟอร์มในการหาไอเท็มและผู้ซื้อได้

และ 9.PLEARN.IO สังคมออนไลน์รูปแบบใหม่ เพื่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ผ่านแอพพ์เกมออนไลน์ ช่วยส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันได้

นายอรพงศ์กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น ทางธนาคารไทยพาณิชย์ต้องการจะส่งเสริมในการทำธุรกิจ ส่งเสริมสตาร์ตอัพไทย โดยเฉพาะปัจจุบันในทางเทคโนโลยี และการต่อยอดร่วมงาน

นางสาวศิริพรกล่าวว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยให้การสนับสนุนซอฟต์แวร์กับสถาบันการเรียน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ จัดการแข่งขันซอฟต์แวร์ระดับโลก สนับสนุนโปรแกรมเริ่มต้นสำหรับสตาร์ตอัพ และร่วมมือกับสตาร์ตอัพเพื่อเข้าโครงการ Go to market เพื่อขยายไปยังฐานลูกค้าของไมโครซอฟท์ต่อไป

นายสัญญากล่าวว่า ทางเอสซีจีเคมิคอลสนับสนุนความปลอดภัยและให้โอกาสในทางคิดค้น ให้คำปรึกษากับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

นพ.พีรุทย์กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาภรณ์รู้สึกดีใจที่ทาง มจธ.ได้ร่วมกับโรงพยาบาลในความร่วมมือทางสุขภาพหรือนวัตกรรมใหม่

นางสาวชลธิชากล่าวว่า ให้การสนับสนุนกับ มจธ.ในการสนับสนุนเงินทุน และการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญสำหรับธุรกิจสตาร์ตอัพของนักศึกษา จนได้ไปแข่งขันที่ต่างประเทศ ทั้งนี้ ผลงานนักศึกษาส่วนมากเป็นชิ้นงานที่ได้รับรางวัลในปีที่ผ่านมาจากหลายๆ เวที เช่น NSC (National Software Contest), Microsoft Imagine Cup, Startup Thailand League ตลอดจนนักศึกษาบางทีมจะนำผลงานนวัตกรรมไปแข่งขันต่อยังต่างประเทศด้วย

Related Posts