เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

ก.วิทย์ฯ โดย สวทช. ขนงานวิจัยและเทคโนโลยี ต้นทุนต่ำที่ทุกคนเข้าถึงได้ กระจายสู่ภูมิภาคอีสาน

ก.วิทย์ฯ โดย สวทช. ขนงานวิจัยและเทคโนโลยี ต้นทุนต่ำที่ทุกคนเข้าถึงได้ กระจายสู่ภูมิภาคอีสานตอนล่าง ด้านผู้ว่าอุบลฯ เห็นประโยชน์ “โรงเรือนพลาสติกผลิตผักคุณภาพ” นวัตกรรมวิจัยจาก สวทช. หนุน ขยายอีก 50 โรง หวังขยายพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เมืองอุบลฯ ให้ครบ 2 แสนไร่ ใน 4 ปี (ปี 61-64)

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการและแสดงผลงานวิจัย “สวทช.-วิทย์สัญจร” ครั้งที่ 1 จังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้แนวคิด “วิจัยเข้มแข็ง เสริมแกร่งภูมิภาค” เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรออกสู่สังคม ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณประโยชน์ โดยมี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดร. ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรม หอการค้า ผู้ประกอบการ นักวิจัย เกษตรกร คณาจารย์ นักเรียน และประชาชนในภาคอีสานตอนล่าง เข้าร่วมงานกว่า 600 คน

ดร. ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีบทบาทในการวิจัย พัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกลขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในปี 2561 นี้ สวทช. เดินหน้าเชิงรุกเพื่อตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยแนวคิด NSTDA Beyond Limits หรือ “นวัตกรรมเหนือคาดหมาย พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย 4.0” มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเสริมแกร่งสร้างผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และภูมิภาคทั่วประเทศ รวมถึงการลงนามความร่วมมือการใช้ วทน. ในการส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาคกับจังหวัดในภาคอีสานตอนบน จำนวน 8 จังหวัด (อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ) และการรับมอบ Technology for Better Society

  • ขยายผลงานวิจัยสู่ทุกภาคส่วน

โดยในรอบปีที่ผ่านมาที่ได้ดำเนินการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคม และภาคส่วนต่างๆ ได้แก่

ด้านชุมชน สวทช. มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยสู่เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสาน เช่น เทคโนโลยีโรงเรือนพลาสติกคัดเลือกแสงและการบริหารจัดการแบบครบวงจรให้กับกลุ่มวิสาหกิจ เกษตรอินทรีย์โนนกลาง บ้านหนองมัง จ.อุบลราชธานี โดยขยายผลทั่วพื้นที่อีสานจำนวน 102 หลัง ให้กับเกษตรกรแล้วกว่า 300 ครัวเรือน และในปี 2561 จังหวัดอุบลราชธานี ได้เตรียมใช้งบจังหวัดเพื่อขยายผลโรงเรือนฯ ให้กับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดอุบลราชธานี อีก 50 หลัง รวมทั้งได้คัดเลือกชุมชนต้นแบบเพื่อเป็นจุดสาธิตใน 4 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ยโสธร มหาสารคาม และนครพนม ทั้งนี้จังหวัดอุบลราชธานี มีเป้าหมายในการพัฒนาผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์และสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่นๆ ที่ได้มาตรฐานเป้าหมาย 4 ปี (ตั้งแต่ปี 2561-2564) จำนวน 200,000 ไร่ และมีเป้าหมายให้ได้ 1,000,000 ไร่ ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ร่วมกับจังหวัดศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ ด้วย

ด้านผู้ประกอบการ ในปีนี้ สวทช. สนับสนุน SMEs ผ่านโปรแกรมสนับสนุน การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP จำนวน 129 โครงการ ซึ่งดำเนินการโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 23 โครงการ และเป็นโครงการในจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 6 โครงการ โดยปีนี้เกิดผลกระทบจากโครงการที่ผ่านมาในภาคอีสานแล้วกว่า 780 ล้านบาท

ด้านการพัฒนากำลังคน สวทช. ได้มอบทุนการศึกษาวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาให้แก่นักศึกษาในสถาบันการศึกษาในภาคอีสานทั้งสิ้น 47 ทุน คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ ของทุนทั้งหมดทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นทุนที่มอบให้แก่นักศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานีจำนวน 12 ทุน นอกจากนั้นแล้ว สวทช. ได้ช่วยพัฒนาการเรียนการสอนด้านสะเต็มศึกษาให้กับครูผู้สอนในโรงเรียน 31 แห่ง ของภาคอีสาน โดยมีหลักสูตรที่นำไปใช้ 5 หลักสูตร ตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับประถมศึกษา เพื่อให้นักเรียนมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สูงขึ้น ในส่วนของโครงการตามพระราชดำริสมเด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีการจัดค่ายให้แก่โรงเรียนในโครงงานค่ายสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวและสร้างชิ้นงาน 3 มิติ (3D Printer) จำนวน 6 ครั้ง รวม 720 คน

นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย และโครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน (Coding at School Powered by KidBright) ตามนโยบายรัฐบาลกับการสร้างคนให้พร้อมในยุค Thailand 4.0 ที่ สวทช. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในโรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 283 แห่ง คิดเป็น 36.5% ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ โดยมีโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์ประสานงานมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวนรวม 250 แห่ง และเป็นโรงเรียนที่อยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี 23 แห่ง

  • ชวนชาวอีสานใช้ผลงานวิจัยตอบโจทย์

ดร. ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมที่น่าสนใจของการประชุมครั้งนี้ ไฮไลต์ที่น่าสนใจ ได้แก่ การบรรยายพิเศษและการสัมมนา เพื่อให้เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีว่าเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและมีต้นทุนที่ต่ำ (Accessible) ที่ประชาชนต้องนำไปใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสมของตนเอง อาทิ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อชุมชน” “สวทช. กับการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0” “SME ไทยเข้มแข็งด้วยบริการจากภาครัฐ” เทคนิคสู้ชีวิต ทำธุรกิจให้ติดปีก พร้อมด้วยเสวนา “เกษตรกรรุ่นใหม่ ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”, “วิทย์เพื่อธุรกิจ” รวมถึงการบูรณาการ STEM Education สู่การปฏิบัติจริง กิจกรรมเรียนรู้การสื่อสารระหว่างคนกับเครื่องจักรกลแบบง่าย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

การจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย และบริการภาคเอกชนในรูปแบบต่างๆ ของ สวทช. เครือข่ายพันธมิตร ชุมชน และการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการ ชุมชนที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิต อาทิ สารยืดอายุน้ำยางสดสำหรับทำยางแผ่น ชุดตรวจเชื้อก่อโรคในพืชตระกูลแตง 3 ชนิด ในคราวเดียวกัน นวัตกรรมลูกอมเจลลี่หญ้าดอกขาวช่วยเลิกบุหรี่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากงาแบบครบวงจร เป็นต้น

  • เชิดชูเกียรติบุคคลใช้ วทน. พัฒนาชุมชน-ธุรกิจ

รองอำนวยการ สวทช. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สวทช. ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) พร้อมทั้งมีการบูรณาการนำไปใช้ประโยชน์จากทุนทางสังคมในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจคุณงามความดีแก่บุคคลต้นแบบในภาคตะวันออกเฉียงหนือ จึงได้มอบโล่เชิดชูเกียรติรางวัล “วิทย์แปงบ้าน อีสานแปงเมือง” ให้กับบุคคลที่นำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม สร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ใน 2 สาขา ได้แก่

สาขาพัฒนาสังคม ได้แก่ นายปิยะทัศน์ ทัศนิยม ประธานกลุ่มวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์บ้านหนองมัง ผู้เป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติเป็นนักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการที่ไม่เคยหยุดเรียนรู้บนเส้นทางอาชีพเกษตรกร ยกระดับการทำเกษตรอินทรีย์ด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาชาวบ้าน เติมเต็มด้วยเทคโนโลยี ผลักดันแนวคิดส่งต่อความรู้สู่สมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านหนองมัง และร่วมกันกระจายความรู้สู่สังคมเกษตรผ่าน “ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจเกษตรอินทรีย์ตำบลโนนกลาง” เกิดเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในหลายพื้นที่ทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สำหรับ สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ ได้แก่ นายพฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท แดรี่โฮม จำกัด เป็นผู้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์ลำน้ำมวกเหล็กขึ้น เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของชาวมวกเหล็ก ให้ร่วมกันรักษาลำน้ำให้สะอาดสมกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำป่าสัก และเป็นผู้ผลักดันและจัดตั้งกลุ่มโคนมอินทรีย์ขึ้น ให้เกษตรกรในบริเวณโดยรอบบริษัทฯ ดำเนินกิจการโคนมแบบเกษตรอินทรีย์คือ ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้นในทุกกระบวนการเลี้ยงโคนม

ในส่วนของบริษัทแดรี่โฮม เป็นผู้ริเริ่มการส่งเสริมให้เกษตรกรโคนมปรับเปลี่ยนการเลี้ยงโคนมเป็น แบบเกษตรอินทรียและนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มจำหน่ายทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิชาการที่ได้ทำงานร่วมกับ ITAP และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผลิตนมก่อนนอนซึ่งมี เมลาโตนินสูง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้มีปัญหา เรื่องนอนไม่หลับ รวมถึงโครงการโรงงานสีเขียว โดยมีผลงานวิจัยร่วมกับ ITAP และ มทส. เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนความร้อน นำมาความร้อนเหลือทิ้งจากการทำความเย็นในห้องเย็นมาใช้กระบวนการผลิตนมพร้อมดื่ม และทำกระบวนการบำบัดขยะตลอดจนน้ำเสีย ให้สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์

อย่างไรก็ตาม สวทช. คาดหวังว่าการจัดงาน “สวทช.-วิทย์สัญจร” ภายใต้แนวคิด “วิจัยเข้มแข็ง เสริมแกร่งภูมิภาค” จะเป็นการช่วยขยายผลการถ่ายทอดผลงานวิจัยออกไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล นำไปสู่โจทย์วิจัยที่ต้องพัฒนาต่อยอดในทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย เกษตรกร หรือแม้กระทั่งนักเรียนและสถานศึกษาต่างๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกับ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในด้านต่างๆ ให้สามารถทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายส่งเสริมเศรษฐกิจจากฐานรากให้เข้มแข็งสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจระดับมหาภาคของประเทศต่อไป

///////////////////////////

ข้อมูลเพิ่มเติม

ชื่อรางวัล “วิทย์แปงบ้าน อีสานแปงเมือง”

– วิทย์แปงบ้าน ความหมายคือ การนำ (สร้าง/ปรับปรุง) วิทยาศาสตร์มาใช้ในชุมชน หรือพัฒนาชุมชน

– อีสานแปงเมือง ความหมายคือ เมื่อชุมชนมีความรู้แล้วนำมาต่อยอดในพื้นที่ ที่ใหญ่กว่าชุมชนนั่น หมายถึง เมืองหรือประเทศ

– คำว่า “แปง” ภาษาอีสาน หมายถึง สร้าง หรือ ทำให้ดีขึ้น

Related Posts