เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
พืชทำเงิน

ผักกวางตุ้งอินทรีย์ ปลูกง่าย 45 วัน ตัดเก็บขายรายได้ดี วิถีเกษตรพอเพียง

ผักกวางตุ้ง…หรือผักกาดเขียวกวางตุ้ง เมื่อนำมานึ่งหรือลวกกินกับน้ำพริก ผัดกับหมู ผัดใส่ปลากระป๋อง หรือแกงส้มผักกวางตุ้งกับเนื้อปลานิล จะได้รสแซบอร่อยและให้คุณค่าทางโภชนาการสูง การปลูกผักกวางตุ้งหมุนเวียนกับผักชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด แต่ใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกแห้ง หรือสารสมุนไพร มีน้ำสะอาดใช้พอเพียง ควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี หรือแหล่งปลูกผักใกล้เคียงไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น หลังจากปลูก 45 วัน ก็มีผักกวางตุ้งอินทรีย์คุณภาพให้เกษตรกรได้ตัดเก็บไปขาย ทำให้มีรายได้และมีความมั่นคงในการยังชีพ

ผักกวางตุ้งอินทรีย์ต้นงาม ผักเพื่อสุขภาพ

คุณกวิลยุทธ รากทอง เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน เล่าให้ฟังว่า ผักกวางตุ้ง หรือผักกาดเขียวกวางตุ้ง และผักอื่นๆ เป็นผักอินทรีย์ที่ตลาดมีความต้องการปริมาณมาก จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผักแบบเกษตรอินทรีย์ที่ทำให้ทั้งผู้ปลูก ผู้บริโภค หรือสภาพแวดล้อมปลอดภัย และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพื่อก้าวสู่วิถีที่มั่นคง

การเกษตรอินทรีย์เป็นกระบวนการปลูกพืชผักที่ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด ทั้งปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช แต่ได้ทดแทนด้วยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกแห้ง ปุ๋ยอินทรีย์ หรือใช้สารสมุนไพร พื้นที่ปลูกไม่ใกล้กับแปลงปลูกพืชผักที่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น หรือต้องไม่ใกล้แหล่งมลภาวะของโรงงานอุตสาหกรรม หรือน้ำใช้ต้องไม่ปนเปื้อนสารเคมี ก็จะทำให้ได้ผักอินทรีย์ปลอดภัย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เกษตรอินทรีย์เป็นระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งแวดล้อม หรือหัวใจของเกษตรอินทรีย์คือ ยึดหลักความสมดุลตามธรรมชาติ

คุณกวิลยุทธ รากทอง เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน ส่งเสริมปลูกผักอินทรีย์

คุณป้าจตุพร วงเวียน เกษตรกรปลูกผักกวางตุ้งอินทรีย์ เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนจะปลูกผักตามหัวไร่ปลายนาเพื่อเก็บมาทำเป็นอาหารกินในครัวเรือน เมื่อปี 2553 ได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอชัยบาดาล ให้ปลูกพืชผักอินทรีย์ด้วยการงดใช้สารเคมีทุกชนิด เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิต ตัดเก็บมากินเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ และตัดเก็บไปขายเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนมีความมั่นคงในการยังชีพ

เมื่อคิดพิจารณาร่วมกับสามีแล้ว จึงตัดสินใจปลูกพืชผักอินทรีย์ พื้นที่กว่า 2 งาน ปลูกเป็นพืชหมุนเวียน ด้วยการปลูกผักกวางตุ้งสลับกับการปลูกผักบุ้งจีน ผักชีลาว มะเขือเปราะ แมงลัก ชะอม หรือคะน้า การปลูกจะไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด แต่ทดแทนด้วยการใช้สารสมุนไพร ใช้ปุ๋ยคอกแห้ง หรือปุ๋ยชีวภาพ และเพื่อนเกษตรกรรอบๆ บริเวณพื้นที่แปลงปลูกก็ร่วมมือกันไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด จึงมั่นใจว่าพื้นที่แห่งนี้จะมีผักอินทรีย์คุณภาพแน่นอน

ยกแปลงปลูกให้สูง กว้าง 1-1.5 เมตร ส่วนความยาวแปลงเป็นไปตามแนวพื้นที่

การเตรียมดิน… ผักกวางตุ้งอินทรีย์ปลูกได้ตลอดปี เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด หรือดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี การเตรียมดินได้ไถดะพลิกดินบนลงล่าง แล้วตากแดด 7-10 วัน จะช่วยกำจัดศัตรูพืชที่ฝังตัวอยู่ในดินออกไป แล้วไถแปรทำให้ดินร่วนซุยพร้อมกับกำจัดวัชพืช จากนั้นหว่านปุ๋ยคอกแห้งหรือปุ๋ยหมักให้กระจายทั่วแปลงสม่ำเสมอกัน แล้วไถคราดคลุกเคล้ากัน ยกแปลงปลูกให้สูง กว้าง 1-1.5 เมตร ส่วนความยาวแปลงเป็นไปตามแนวพื้นที่ ระหว่างแปลงปลูกได้เว้นระยะห่าง 60 เซนติเมตร เพื่อจัดให้เป็นทางเดินหรือทางระบายน้ำ

การปลูก… ทำได้ด้วยการหว่านและการหยอดเมล็ดพันธุ์ผักปลูก การหว่านเมล็ดพันธุ์ผักปลูก เมื่อเตรียมดินแปลงปลูกเสร็จได้หว่านเมล็ดพันธุ์ผักกวางตุ้งให้กระจายทั่วแปลงสม่ำเสมอกัน คลุมด้วยฟางข้าวแห้งบางๆ เพื่อช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นในดิน แล้วให้น้ำแต่พอชุ่ม จากนั้น 15-20 วัน ต้นกล้าจะมี 4-5 ใบ ได้ถอนแยกออกเพื่อให้ต้นผักมีระยะห่างกันเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต การหยอดเมล็ดพันธุ์ผักปลูก เมื่อเตรียมดินแปลงปลูกเสร็จแล้ว

คุณป้าจตุพร วงเวียน เกษตรกรปลูกผักกวางตุ้งอินทรีย์

บนแปลงปลูกได้ทำเป็นร่องลึก 1.5-2 เซนติเมตร ยาวตามแนวพื้นที่ จัดให้แต่ละร่องห่างกัน 20-25 เซนติเมตร จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์กวางตุ้งหยอดหรือโรยลงไปในร่อง ให้ระยะห่างกันสม่ำเสมอ คลุมด้วยฟางข้าวแห้งบางๆ ให้น้ำแต่พอชุ่ม จากนั้น 15-20 วัน ต้นกล้าจะมี 4-5 ใบ ได้ถอนแยกไปปลูกในแปลงพร้อมกับจัดให้ต้นผักแต่ละต้นห่างกัน 20-25 เซนติเมตร แล้วคอยปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาให้เจริญเติบโตไปกระทั่งถึงวันตัดเก็บ

การใส่ปุ๋ย… ตลอดฤดูปลูกผักกวางตุ้งได้ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกแห้ง 2 ครั้ง ในอัตรา 1.5-2 ตัน ครั้งแรก ได้ใส่ปุ๋ยในช่วงการเตรียมดินแปลงปลูกไปแล้ว ครั้งที่ 2 ใส่หลังจากปลูกหรือเมื่อต้นผักกวางตุ้งอายุ 15-20 วัน ด้วยการโรยปุ๋ยใส่ระหว่างแถวต้นผัก พร้อมกับพรวนดินและถอนแยกกำจัดวัชพืชออกไปด้วย จากนั้นให้น้ำแต่พอชุ่ม ก็จะช่วยทำให้พืชผักเจริญเติบโตได้ดี

ล้างผักกวางตุ้งด้วยน้ำให้สะอาด

การให้น้ำ… ผักกวางตุ้งต้องการน้ำค่อนข้างมาก หรือได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ พื้นที่แปลงปลูกต้องระบายน้ำได้ดี ที่นี่ให้น้ำอย่างน้อย 1 ครั้ง ต่อวัน ด้วยการฉีดพ่นน้ำให้เป็นฝอยกระจายทั่วแปลงผัก การให้น้ำได้สังเกตดูความชื้นในดินก่อน จึงตัดสินใจเพิ่มหรือลดการให้น้ำ วันที่มีฝนตกก็งดการให้น้ำ และต้องระวังอย่าให้น้ำท่วมขังแปลงผัก หรืออย่าให้ผักกวางตุ้งขาดน้ำ เพราะจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต

การป้องกันกำจัดศัตรูพืช…ในช่วงการเตรียมดินแปลงปลูกได้ปล่อยดินตากแดดไว้หลายวัน การพรวนดินหรือถอนแยกวัชพืชออกจากแปลงเป็นการกำจัดแหล่งที่อยู่อาศัยของศัตรูพืชผักหรือโรคแมลงศัตรูพืชให้ลดน้อยลงหรือหมดไป หรือการใช้สารสมุนไพรก็เป็นหนึ่งกระบวนการที่ทำให้ได้ผักกวางตุ้งอินทรีย์ปลอดภัยได้คุณภาพ

จัดผักกวางตุ้งอินทรีย์ใส่ถุงเตรียมส่งขาย

คุณป้าจตุพร เกษตรกรปลูกผักกวางตุ้งอินทรีย์ เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า หลังจากปลูกได้ 45 วัน ต้นผักกวางตุ้งจะเจริญเติบโตสมบูรณ์พร้อมเก็บเกี่ยว การตัดเก็บได้ใช้มีดคมๆ ตัดที่โคนต้น เลือกตัดต้นที่มีขนาดใหญ่แล้วนำขึ้นมาตัดแต่งใบแก่ที่อยู่รอบนอก หรือพบว่าใบมีร่องรอยการทำลายของโรคหรือแมลงทำลายออก จากนั้นนำไปล้างน้ำให้สะอาด จัดใส่ในถุงพลาสติก จัดวางในภาชนะและเก็บรักษาไว้ในร่มเพื่อเตรียมขายให้กับพ่อค้าแม่ค้า

ปลูกผักบุ้งจีนอินทรีย์หมุนเวียน

รายได้และความมั่นคง… ทุกครั้งได้ตัดเก็บผักกวางตุ้งอินทรีย์ตามจำนวนที่ตลาดหรือพ่อค้าสั่งซื้อ ตั้งแต่ 15-20 กิโลกรัมหรือมากกว่า ขายราคา 20 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้แต่ละครั้งจะมีรายได้มากกว่า 300 บาท นอกจากนี้ ก็จะมีรายได้จากการรับจ้างทำงานทั่วไปมากกว่า 300 บาท ต่อวัน การตัดสินใจปลูกผักกวางตุ้งอินทรีย์หมุนเวียนกับพืชผักชนิดอื่นเป็นระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งแวดล้อม หรือการเกษตรอินทรีย์ที่ยึดหลักความสมดุลในธรรมชาติ ที่ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้พอเพียงและยังชีพได้อย่างมั่นคง

ปลูกผักอินทรีย์อื่นๆ เพื่อช่วยให้ดินมีคุณภาพ

จากเรื่อง ผักกวางตุ้งอินทรีย์…ปลูกง่าย 45 วัน ตัดเก็บขายรายได้ดี วิถีเกษตรพอเพียง เป็นหนึ่งอาชีพทางเลือกที่น่าสนใจเมื่อต้องสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจ สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ คุณป้าจตุพร วงเวียน 78/2 หมู่ที่ 1 ตำบลท่ามะนาว อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี โทร. 061-379-9870 หรือ โทร. 086-127-0762 หรือ คุณกวิลยุทธ รากทอง สำนักงานเกษตรอำเภอชัยบาดาล โทร. 087-239-1780 หรือที่ คุณภูวิชญ์ ยิ่งเจริญ สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี โทร. 087-959-5433 ก็ได้ครับ

………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2563

Related Posts