ต่อจากฉบับที่แล้ว ที่ได้มาแชร์ถึงประสบการณ์การขออนุญาตปลูกกัญชงของไร่สาสุขกันไปแล้ว แบบพอหอมปากหอมคอ ในฉบับนี้ก็จะมาต่อกันในเรื่องของเทคนิคการปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ ปลูกอย่างไร ขายอย่างไร ลงทุนเท่าไหร่ หาตลาดอย่างไร มาฝากท่านผู้อ่านกันอีกครั้ง
สำหรับขั้นตอนเทคนิคการปลูกกัญชง ทนพ. ปิยะวิทย์ สาสุข หรือ พี่เนป อยู่ที่ 121 หมู่ที่ 3 บ้านลำภูพาน ตำบลผาตั้ง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย เกษตรกรเจ้าของไร่สาสุข อธิบายขั้นตอนเริ่มต้นว่า ต้องเริ่มจากการเลือกสายพันธุ์ที่ดี โดยที่ไร่เลือกปลูกสายพันธุ์รับรอง RPF3 จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จังหวัดเชียงใหม่ จุดประสงค์เพื่อต้องการเมล็ดไปแปรรูปใช้ทำอาหารโดยเฉพาะ ซึ่งสายพันธุ์ RPF3 ตอบโจทย์ความต้องการตรงที่จะมี THC ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ ตรงกับกฎข้อบังคับสำหรับสกัดแปรรูปนำไปทำอาหาร

ทีนี้มารู้จักประเภทของกัญชงเบื้องต้นจะมีหลักๆ อยู่ 2 ประเภท คือ 1. โฟโต้ พีเรียด (Photo–period) โฟโต้ ที่แปลว่า แสง แสดงว่าพวกนี้อ่อนไหวง่ายกับแสง จะออกดอกตามชั่วโมงแสง ถ้าแสงชั่วโมงเยอะก็จะเป็นใบอย่างเดียว ถ้าลดชั่วโมงแสงลงได้ ก็จะออกดอก สามารถชำกิ่งได้ อายุการเก็บเกี่ยวของสายพันธุ์นี้ ตั้งแต่ 5-9 เดือน ขึ้นอยู่กับชั่วโมงแสง 2. ออโต้ ฟลาวเวอร์ (Auto flowering) ก็คือ รูเดอราลิส ไปผสมกับ ซาติวา หรืออินดิกา จะได้สายพันธุ์ต้นที่เตี้ยลง ข้อดีของสายพันธุ์นี้ก็คือ ไม่จำเป็นต้องขึ้นกับชั่วโมงแสง จะให้แสง 20-24 ชั่วโมง ก็ได้ ดอกก็ยังคงออกเหมือนเดิม อายุการเก็บเกี่ยวประมาณเพียงแค่ 2 เดือนครึ่ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่สายพันธุ์นี้ต้องได้จากเมล็ดเท่านั้น

การเตรียมดิน ที่ไร่จะปลูกแบบกลางแจ้ง (Out door) ปลูกโดยการเพาะเมล็ดเป็นหลัก โดยขั้นตอนการเพาะก็จะมีการบ่มแช่น้ำผสมไตรโคเดอร์มาไว้ 1 คืน หลังจากแช่น้ำเสร็จแล้ว ให้นำเมล็ดมาบ่มไว้ในทิชชูต่ออีก 1 คืน เมื่อรากเริ่มงอก จะนำเมล็ดที่มีรากลงไปเพาะในถาดไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยมีวัสดุเพาะคือแกลบเผาผสมกับปุ๋ยมูลไส้เดือน จากนั้นย้ายมาขยายลงถุงดำ เลี้ยงไปอีก 1 เดือน หรือได้คู่ใบสัก 4-5 คู่ ก็ให้นำลงดินปลูกได้เลย

การปลูก ยกร่องปลูก ในระยะห่างระหว่างต้น 1×1 เมตร แต่เนื่องด้วยที่สวนปลูกโดยการเพาะเมล็ด จะไม่สามารถควบคุม หรือแยกเพศได้ จึงจำเป็นต้องปลูกในระยะที่ห่าง แต่พอหลังจากที่ต้นตัวผู้แสดงเพศแล้วจึงค่อยเด็ดออก ให้เหลือตัวผู้ไว้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อตัวเมีย เพราะว่าถ้าปลูกในระยะที่แน่นไปจะได้ผลผลิตน้อยลง

ระบบน้ำ เป็นระบบน้ำหยด โดยการให้น้ำสังเกตจากดินเป็นหลัก ซึ่งโดยทั่วไปที่ไร่จะรดน้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งในช่วงเช้า ดินแต่ละดินมีความอุ้มน้ำต่างกัน พื้นที่ไร่เป็นดินทรายก็จะให้น้ำบ่อยกว่าสภาพพื้นดินอย่างอื่นหน่อย
ปุ๋ย แบ่งใส่เป็น 2 ช่วงหลักๆ คือในช่วงทำใบ จะเน้นใส่ปุ๋ยไนโตรเจน (N) เป็นหลัก คือ ขี้วัว และปุ๋ยมูลไส้เดือน ส่วนในช่วงติดดอก จะเริ่มให้ฟอสฟอรัส (P) และ โพแทสเซียม (K) คือปุ๋ยขี้ไก่ มูลค้างคาว ฮอร์โมนไข่ รวมถึงน้ำหมักปลาทะเลด้วย
ระยะเลี้ยงใบ 4-12 สัปดาห์ (กัญชง) ระยะนี้มีศัตรูที่ต้องระวังอะไรบ้าง?

ช่วงทำใบเริ่มต้นจะเจอ 1. เพลี้ยกระโดด จะกำจัดง่ายหน่อย เพียงใช้น้ำส้มควันไม้ 2. แมลงหวี่ขาว จะเจอบริเวณใต้ใบ เมื่อเปิดที่ใต้ใบจะเจอแมลงหวี่จับอยู่ใต้ใบ ตอนฉีดยาก็ต้องฉีดใต้ใบ 3. ไรแดง เจอหนักในช่วงทำดอก วิธีดูคือถ้าบนใบมีจุดขาวๆ ให้พลิกใบดูข้างล่าง จะเจอตัวเล็กๆ เหมือนแมงมุม ไรแดงจะกำจัดยากต้องเอาต้นที่มีไรแดงออกไปกำจัดที่อื่น กัญชงเป็นพืชที่ปลูกไม่ยาก แต่ดูแลยากสักหน่อย

ระยะทำดอก (Flowering) กัญชงสายพันธุ์ที่ปลูกเป็นสายพันธุ์ โฟโต้ พีเรียด (Photo–period) เมื่อมีแสงน้อยกว่า 12 ชั่วโมง ต่อวัน (ฤดูหนาว) ต้นจะเริ่มทำดอกไม่ว่าต้นกัญชงจะต้นเล็กต้นใหญ่ก็จะออกดอก เราจึงควรคำนวณเวลาปลูกของกัญชงให้โตก่อนเข้าฤดูหนาว (3-4 เดือนก่อนเข้าฤดูหนาว)
“ในช่วงระยะทำดอกกัญชง ต้องการคนดูแลเอาใจใส่ หากเจอตัวผู้เมื่อไรให้ตัดออกเมื่อนั้น ถ้าหากปลูกเพื่อเอาดอกอย่าไปเก็บดอกตัวผู้ไว้ แต่ถ้าปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวเมล็ด แบบของที่ไร่ต้องเหลือดอกตัวผู้ไว้บางส่วนเพื่อผสมกับดอกตัวเมียให้ติดเมล็ด โดยระยะนี้จะต้องให้ปุ๋ยที่เป็นโพแทสเซียม ฟอสฟอรัส มากขึ้น (ขี้ไก่, ขี้ค้างคาว) แนะนำให้มีการพ่นฮอร์โมนไข่ ให้สาหร่ายแดง สาหร่ายสกัดทะเลลงไป แต่อย่าฉีดพ่นที่ดอก เพราะมันจะมีความชื้น ทำให้เกิดราเทา”

เทคนิคให้ได้ผลผลิตดี
Topping & Fimming
หากต้องการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น พี่เนปเผยเคล็ดลับว่าอยู่ที่การเทรนด์นิ่ง Topping เป็นเทคนิคเพิ่มผลผลิตให้กับกัญชา และกัญชง โดยจะเป็นการตัดยอดด้านบนออก เทคนิคนี้จะทำให้เราได้รับผลผลิตมากขึ้น ถือว่าเป็นการช่วยให้เกิดการแตกยอด และแบ่งสารอาหารไปเลี้ยงลำต้นได้มากขึ้นแทนการที่จะปล่อยให้ลำต้นโตขึ้นโดยมีการเจริญเติบโตอยู่ที่ยอดเดียว
“สำหรับการ Topping ห้าม Top ในต้นที่ยังเล็กเพราะจะทำให้ต้นกัญชานั้นเครียด และการเจริญเติบโตช้าลงอย่างมาก ทางที่ดีคือ รอจนกว่าต้นจะมีอย่างน้อย 5 Node (คู่ใบของยอด) หรือต้นอายุ 1 เดือน โดยสามารถทำ Topping ได้ในช่วงทำใบ (Vegetative stage) หลังจากนั้นต้องให้เวลากัญชงหรือกัญชาของเราฟื้นตัว 1-2 สัปดาห์ ถึงจะสามารถทำ Topping ครั้งต่อไปได้ และอย่าทำการ Topping ในช่วงทำดอก (Flowering stage) เพราะมันไม่เกิดประโยชน์แล้ว”

ส่วน Fimming คือการตัดตรงยอดเลยสองวิธี ทำเพื่อไม่ให้ต้นสูง แต่จะทำให้ต้นออกข้างๆ ยอดไปเสียบชำได้ โดยการ Fimming 1 ครั้ง จะได้ยอดใหม่ 4-8 ยอด แต่การ Fimming จะทำให้พืชเจ็บเยอะกว่า และใช้เวลาฟื้นตัวที่ยาวนานกว่าการ Topping ทำให้ระยะเวลาการปลูกอาจจะช้ากว่าปกติ ฉะนั้นส่วนใหญ่จึงนิยมการ Topping มากกว่า
ซึ่งถ้าปลูกกัญชง หรือกัญชาสายพันธุ์ไทย (sativa) ให้เติบโตตามธรรมชาติ จะมีลักษณะต้นคล้าย “ต้นคริสต์มาส” ซึ่งจะมีแค่ 1-2 Colas ช่อดอกส่วนยอดถูกสร้างขึ้นในส่วนที่สูงที่สุดของต้น หรือช่อดอกที่ใหญ่ที่สุดของต้น แต่กัญชงหรือกัญชา ที่ได้ทำการ Topping มาจะทำให้ได้ผลผลิต Colas เยอะขึ้นมากตามที่เราต้องการได้ไม่ใช่แค่ 1-2 Colas ต่อต้น สำหรับระยะเวลาในการปลูกถึงเก็บเกี่ยวของที่ไร่ ณ ตอนนี้ปลูกมาแล้วกว่า 5 เดือน ซึ่งได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าอีกประมาณ 15 วันข้างหน้า จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในรอบแรก โดยตามข้อมูลของพันธุ์ผลผลิตจะได้ปริมาณอยู่ที่ 300-600 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่ของที่ไร่ในปีแรกคาดการณ์ผลผลิตไว้จะได้ประมาณ 300 กิโลกรัม ต่อไร่

โดยที่สวนจะเก็บใบขายทั้งสดและแห้ง ในราคาใบสด กิโลกรัมละ 5,000 บาท ใบแห้ง กิโลกรัมละ 7,000 บาท แต่เป็นเพียงจุดประสงค์รองเท่านั้น ซึ่งจุดประสงค์หลักจริงๆ คือการปลูกเพื่อเอาเมล็ดโดยเฉพาะ ซึ่งราคาของเมล็ดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 2,500 บาท และมีการคาดการณ์ไว้เล่นๆ ว่าถ้าหากวันข้างหน้าที่ไร่สามารถทำผลผลิตได้สูงสุดของสายพันธุ์ RPF คือ 600 กิโลกรัม ต่อไร่ ก็เท่ากับว่าจะสามารถทำรายได้ถึงหลักล้านบาทต่อไร่
ต้นทุนปลูกกัญชงไม่แพงอย่างที่คิด
มีเงิน 20,000 บาท ก็ปลูกได้
พี่เนป บอกว่า ที่ผ่านมามีหลายคนมาปรึกษาที่ไร่สาสุขเกี่ยวกับเรื่องการปลูกกัญชง และมักจะพูดว่าไม่มีเงินลงทุน การปลูกกัญชงคงต้องใช้เงินลงทุนสูงมากๆ แน่เลย ซึ่งความเป็นจริงการปลูกกัญชงใช้เงินลงทุนไม่ต่างจากการปลูกพืชทั่วไป สำหรับไร่ของตนนั้นใช้เงินลงทุนไม่เกิน 20,000 บาท ต่อไร่ แล้วถ้าปลูกน้อยกว่า 1 ไร่ ต้นทุนก็จะถูกลงไปอีก

โดยต้นทุนของการปลูกกัญชง 1. การทำรั้วสามารถใช้เศษไม้ทำได้ที่ค่อนข้างแข็ง สามารถหาได้ทั่วแถวบ้าน โดยให้มีความสูงประมาณ 2 เมตร และมีลวดหนาม 5 เส้น ในส่วนของประตูไม่จำเป็นต้องเป็นเหล็กอย่างเดียว เพียงแค่ทำให้เปิดปิดป้องกันคนเข้าออกได้
- หลายท่านสงสัยและเข้าใจผิดคิดไปว่าการปลูกกัญชงจะต้องติดกล้องวงจรปิด ระบบความปลอดภัยที่อลังการแต่ในหลักความเป็นจริงแล้ว ต้นทุนการปลูกทั้งหมดอยู่ที่ค่าปุ๋ย ค่าระบบน้ำหยด (พื้นที่น้อยกว่า 1 ไร่ ไม่ต้องทำก็ได้) และค่ารั้ว
- เรื่องการขออนุญาต ใช้เงินไม่เกิน 500 บาท
- เมล็ดที่ใช้ในการเพาะปลูกก็ประมาณ 600 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งถ้าปลูกเพื่อเอาเมล็ด 1 กิโลกรัม ถือว่ามากเกินพอ สรุปแล้วการปลูกกัญชงใช้เงินลงทุนไม่เกิน 20,000 บาท ต่อไร่
“กัญชง” อนาคตพืชเศรษฐกิจ
หาตลาดได้ที่ไหน อย่างไร
สำหรับตลาดกัญชงของที่ไร่ สืบเนื่องมาจากขั้นตอนการขออนุญาตว่าจำเป็นต้องมีการทำสัญญาการซื้อขายกันก่อน หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่ายคือผู้ปลูกต้องมีแหล่งรับซื้อไว้รองรับก่อนปลูกแล้ว โดยในส่วนของที่ไร่ได้มีการทำสัญญาการซื้อขายไว้หลักๆ 3 ราย ส่วนการเริ่มต้นหาตลาดตนเริ่มต้นจากเล็กๆ เนื่องจากก่อนหน้านี้ลักษณะการทำงานจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพอยู่แล้ว ทำให้พอทราบถึงข้อมูลกัญชงมาพอสมควร ว่าสามารถนำไปทำประโยชน์อะไรได้บ้าง จึงได้มีการตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าในช่วงแรกคือนำไปทำเป็นครีม และน้ำดื่ม หลังจากนั้นก็ได้มีการทำสัญญาซื้อขายกันไว้ และอีกกลุ่มที่เป็นกลุ่มลูกค้าใหญ่ มาจากการทำการตลาดในเชิงให้ความรู้และสร้างตัวตนในแพลตฟอร์มออนไลน์ สร้างความน่าเชื่อถือส่งผลให้กลุ่มลูกค้าใหญ่ๆ เดินเข้ามาหาเอง ก็เท่ากับว่าตอนนี้ที่ลูกค้าที่เข้ามามีทั้งไทยและต่างประเทศ

โมเดลส่งเสริมการปลูก
เริ่มต้นจากคนที่มีรายได้น้อย
กว่า 4,500 ต่อเดือน
“หากใครที่สนใจอยากปลูกกัญชงสร้างรายได้ ตอนนี้ผมได้เริ่มมีการทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง โดยเบื้องต้นได้มีการตั้งกฎกติกาไว้ว่า สำหรับใครที่อยากปลูกกัญชงกับผม จะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 4,500 บาทต่อเดือน และจะต้องสมัครใจทำตามบททดสอบที่ผมให้ไว้คือ จะให้เริ่มต้นจากการเลี้ยงไส้เดือน เพราะถ้าหากเลี้ยงไส้เดือนที่เป็นงานไม่ยากมาก แต่ยังทำไม่ได้ ก็จะยังไม่ให้ผ่านไปถึงขั้นปลูกกัญชง โดยตอนนี้มีสมาชิกที่ดูแลกว่า 70 คน ซึ่งในอนาคตผมได้มีการวางแผนการปลูกว่าจะต้องผลิตเมล็ดกัญชงจำหน่ายให้ได้เดือนละ 100 กิโลกรัม” พี่เนป กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับท่านใดที่สนใจข้อมูลการปลูกกัญชงเพิ่มเติม สามารถโทร.ติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทร. 091-831-6248 หรือติดต่อได้ช่องทางเฟซบุ๊ก : ไร่ สาสุข Rai Sasuk