อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง มีสภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเนินสูงสลับต่ำ และที่ราบสูง สลับด้วยภูเขา มีป่าไม้ ลำธาร ลำคลอง และห้วยสั้น ไหลสู่ทะเลอันดามัน ด้านตะวันตก มีสภาพเป็นป่าชายเลน สภาพดินทั่วไปเป็นดินร่วนปนทราย ความสมบูรณ์ต่ำ อาชีพส่วนใหญ่ของชาวสิเกา คือเกษตรกรรม ทั้ง กสิกรรม การประมงจับสัตว์น้ำ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้านการท่องเที่ยวทางทะเล ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร ร้อยละ 80 รับจ้าง ร้อยละ 15 อื่นๆ ร้อยละ 5 มีพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 232,633 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 66.23 และส่วนใหญ่จะเป็นสวนปาล์มน้ำมันและยางพารา ซึ่งเป็นพืชที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

แต่หากคิดถึงภาพการปลูกผักของเกษตรกรในอำเภอสิเกา เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกไว้ข้างบ้าน แค่พอมีพอกินในครัวเรือน และยิ่งหากเป็นผักเมืองหนาว เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก และ บร็อกโคลี่ แน่นอนว่าจะนึกถึงภาพบรรยากาศของพื้นที่ภูเขาในแถบภาคเหนือ ที่มีอากาศหนาวเย็น เอื้อต่อการปลูกพืชผักเมืองหนาว ซึ่งเป็นภาพที่เกษตรกรคุ้นชิน
คุณกันยารัตน์ หมุนเวียน ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ตำบลกะลาเส เกษตรกรที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการปลูกผักเมืองหนาวในพื้นที่ข้างบ้าน เนื้อที่ 2 ไร่ โดยเฉพาะกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก และบร็อกโคลี่ ซึ่งเป็นผักที่จะปลูกได้ในเขตหนาว

คุณกันยารัตน์ เล่าว่า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อกโคลี่ จะใช้พันธุ์เดียวกับที่ปลูกทางภาคเหนือ เพราะมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ การเตรียมดินสำหรับปลูกกะหล่ำปลี ไถพรวนดินลึก ประมาณ 30-40 เซนติเมตร ตากดินไว้ 7-14 วัน ย่อยดินให้ละเอียด หว่านปูนขาว ในอัตราส่วน 100-300 กิโลกรัม/ไร่ จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2,000 กิโลกรัม/ไร่ ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่ พรวนดินอีกครั้งให้เข้ากัน ก่อนปรับดินให้เรียบ พร้อมยกแปลงสูง 30 เซนติเมตร x กว้าง 1.20 เมตร x ความยาวตามพื้นที่ เพาะกล้าในถาดเพาะพลาสติก หลังจากต้นกล้างอกได้ 25-30 วัน ให้เลือกถอนต้นที่สมบูรณ์ย้ายไปปลูก หลังจากเตรียมแปลงปลูกแล้วให้เริ่มขุดหลุมปลูกระยะห่างระหว่างต้น 50-70 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว 100-120 เซนติเมตร จากนั้นนำต้นกล้าที่แข็งแรงย้ายจากแปลง เพาะลงปลูก โดยขณะย้ายควรใช้ดินติดรากมาด้วยและต้องระวังไม่ให้รากขาดแล้วรีบนำลงปลูก แล้วกดดินรอบโคนให้แน่นทันทีก่อนรดน้ำให้ชุ่ม ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ วันละ 1-2 ครั้ง
ในระยะแรกให้รดน้ำด้วยการฉีดเป็นฝอยในช่วงเช้าและเย็นทุกวัน จนกระทั่งหัวเริ่มเข้าปลีให้ลดปริมาณการรดน้ำลงเพื่อป้องกันไม่ให้หัวปลีแตกง่ายหลังจากปลูกได้ 15 วัน ควรใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ 1 กำมือ/ต้น รดน้ำผสมน้ำหมักชีวภาพให้ชุ่มเพื่อให้ใบสวยงาม ร่วมกับการใส่ปุ๋ย 46-0-0 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่ หลังจากย้ายปลูก 7-10 วัน จากนั้นเมื่ออายุครบ 20 วัน ให้ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ และหลังการปลูก 40 วัน (ก่อนกะหล่ำปลีเข้าหัว) ควรใส่ปุ๋ย 13-13-21 หรือ 14-14-21 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ อายุการเก็บเกี่ยว ประมาณ 55 วัน ผลผลิตที่ได้น้ำหนักเฉลี่ย 1.2 กิโลกรัม ต่อหัว และหมุนเวียนกันปลูกไปตามฤดูกาลเพื่อลดความเสียหายและได้คุณภาพมากที่สุด สามารถปลูกได้ทั้งปี

ผลผลิตผักกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก และบร็อกโคลี่ มีรสชาติหวานกรอบ อร่อย สด และสะอาด โดยผลผลิตเฉลี่ยของกะหล่ำปลี ประมาณ 300 กิโลกรัม/เดือน กะหล่ำดอก ประมาณ 180 กิโลกรัม/เดือน บร็อกโคลี่ ประมาณ 300 -500 กิโลกรัม/เดือน ส่วนราคาผลผลิต กำหล่ำปลี 60-70 บาท/กิโลกรัม กะหล่ำดอก 80 บาท/กิโลกรัม บร็อกโคลี่ 130-150 บาท/กิโลกรัม คุณกัลยารัตน์ บอกต่อไปว่า แปลงผักจะไม่ใช้สารเคมี แต่จะใช้กาวดักแมลง และสารชีวภาพอื่นๆ แทนการใช้สารเคมี เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคผักที่มีความปลอดภัย และตัวเกษตรกรเองก็จะลดความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช จนได้รับมาตรฐาน Q จากสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง เมื่อปี 2556 ทำให้ผู้บริโภคและเกษตรกรที่มีความสนใจต่างมาศึกษาดูงานและซื้อผักไปรับประทาน

ปัจจุบัน ยังสมาร์มฟาร์มเมอร์ ได้มีการทำข้อตกลงกับโรงพยาบาลวังวิเศษ อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง ในการผลิตผักปลอดภัย เพื่อส่งให้กับโรงพยาบาล นำไปประกอบอาหารให้กับผู้ป่วยที่มารักษาตัว ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงด้านการตลาด และสามารถวางแผนการผลิตได้อย่างดี
สามารถติดต่อสอบถามข้อมูล คุณกันยารัตน์ หมุนเวียน เบอร์โทรศัพท์ 085-022-3660
เมื่อวันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565