เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
Featured ประมง

เลี้ยง “ปลาช่อน” พร้อมแปรรูปขาย ทำให้ปลาช่อนที่เลี้ยงขายได้ทุกตัว

“การเลี้ยงปลาช่อน เดี๋ยวนี้แตกต่างกว่าสมัยก่อนมาก คือมีการใช้อาหารเม็ดมากขึ้น ทำให้การเลี้ยงเป็นแบบมาตรฐานจีเอพี (GAP) ซึ่งทำให้ปลาที่เลี้ยงมีความสะอาด เพราะน้ำที่เลี้ยงไม่เน่าเสีย เพราะฉะนั้นตัวปลาก็สามารถทำราคาเพิ่มได้ เพราะมีที่มาที่ไป โดยสามารถตรวจสอบกระบวนการผลิตได้หมด ว่าเป็นลูกปลารุ่นไหน มีการเพาะพันธุ์ และการเลี้ยงอย่างไร ซึ่งเป็นการช่วยทำตลาดให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น ทำให้วางห้างสรรพสินค้า และส่งออกยังต่างประเทศได้ เชื่อว่ายังมีโอกาสที่ดีในอนาคต” คุณวินัย จั่นทับทิม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กล่าว

ปลาช่อน นับได้ว่าเป็นปลาน้ำจืดที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน เรียกง่ายๆ ว่า ถ้าไปตามร้านอาหารแล้วเมนูที่เกี่ยวกับปลาช่อน จะต้องมีอยู่ในเมนูของร้านกันเลยทีเดียว เช่น ปลาช่อนเผา แกงส้มแปะซะปลาช่อน ตลอดไปจนถึงผัดฉ่า หรือแม้แต่ต้มยำก็อร่อย

เมื่อมองถึงเรื่องของการตลาดแล้ว นับได้ว่าอนาคตของปลาชนิดนี้ยังไปได้อีกไกล เพราะวิธีการเลี้ยงก็ไม่ยุ่งยากอย่างสมัยก่อน และที่สำคัญตลาดยังเป็นที่นิยม ผู้บริโภคที่ชื่นชอบกินเนื้อปลาช่อน สามารถกินได้บ่อยๆ ในราคาที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับสมัยก่อน

คุณขจร เชื้อขำ บ้านเลขที่ 51/3 หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยคันแหลน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เป็นเกษตรกรที่เลี้ยงปลาช่อนในชนิดที่ว่าตัวยงเลยก็ว่าได้ มีทั้งการเพาะพันธุ์ลูกปลาช่อน การเลี้ยงปลาช่อนส่งเนื้อขาย และที่สำคัญมีการแปรรูปสินค้าจากเนื้อปลาช่อนอีกด้วย

(กลาง) คุณขจร เชื้อขำ

เห็นปลาช่อน เป็นสัตว์น้ำที่น่าสนใจ

คุณขจร เล่าให้ฟังว่า สมัยเริ่มแรกของช่วงอายุวัยทำงาน ตนได้เลือกอาชีพเกษตรกรรม คือการเลี้ยงปลา เมื่อคิดว่าเหมาะสมกับทางสายงานด้านนี้แล้ว จึงจับเป็นอาชีพหลักเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งปลาที่เขาเลี้ยงในช่วงแรกเป็นปลาทับทิม ต่อมาเขาได้ไปศึกษาวิธีการเพาะพันธุ์ปลาช่อนจากสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้สนใจอยากเลี้ยงปลาช่อนแบบจริงจังในเวลาต่อมา

“ช่วงที่เราเลี้ยงปลาทับทิมอยู่ คนในย่านนี้เขาก็เลี้ยงปลาช่อนกันอยู่ เน้นไปหาช้อนลูกปลาจากธรรมชาติ มาเลี้ยงใส่บ่อกันส่วนมาก ซึ่งช่วงนั้นที่ฟาร์มเราก็ทำแต่ยังไม่มาก ต่อมาพอได้ไปเข้าร่วมอบรมหาความรู้ เรื่องการเพาะพันธุ์ปลาช่อนที่สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงฯ ก็เกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะทำปลาชนิดนี้ขึ้นมาอย่างจริงจัง เพราะเรามองดูแล้วมันไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเรื่องสายพันธุ์ที่เราจะเลี้ยงก็เบาใจได้ เพราะได้จากที่นั้นเลย จะไม่หาลูกพันธุ์ทั่วไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะมันไม่เชื่อง มีความดุอยู่ตามสัญชาตญาณ” คุณขจร เล่าถึงที่มา

สายพันธุ์ปลาช่อนที่ดีที่เหมาะสมกับการเลี้ยงเป็นการค้านั้น คุณขจร บอกว่า ควรเป็นสายพันธุ์ที่เชื่อง โดยสังเกตได้จากปลาไม่กลัวคนเวลาที่นำอาหารมาให้ จะทำให้ปลากินอาหารได้ดี การเจริญเติบโตก็จะดีตามไปด้วย

ปลาช่อนกำลังกินอาหาร

ถ้าลูกพันธุ์ปลาช่อนดี การเลี้ยงก็สำเร็จตามไปด้วย

นำพ่อแม่พันธุ์ปลาช่อนที่ดีมีความสมบูรณ์มาคัด เมื่อได้พ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะสมแล้ว จึงนำมาฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ จากนั้นนำพ่อแม่พันธุ์ใส่ลงในถังดำที่เตรียมไว้ ทิ้งไว้ประมาณ 36 ชั่วโมง แม่พันธุ์ปลาช่อนจะเริ่มวางไข่เพื่อฟักเป็นตัว

“พอครบเวลาที่กำหนด เราก็จะช้อนไข่ปลาช่อนทั้งหมด เอามาแยกใส่บ่อเพาะฟัก ขนาด 3×6 เมตร ใส่น้ำให้มีความลึกประมาณ 30 เซนติเมตร พร้อมทั้งมีการเติมอากาศทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง ลูกปลาช่อนก็จะเริ่มออกจากไข่ เราก็เตรียมให้กินลูกไรเพื่อเป็นการฝึกให้กินอาหารเป็น พอลูกปลาเข้าสู่อายุ 7 วัน ก็จะให้ไข่แดงสลับกับปลาป่นพร้อมกับผสมจุลินทรีย์ เสร็จแล้วก็เอาไปอนุบาลในบ่อดินต่อ รวมทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนเป็นปลาไซซ์นิ้ว ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน” คุณขจร บอกถึงวิธีการอนุบาลลูกปลาช่อน

ลูกปลาช่อนไซซ์นิ้ว

จากนั้นนำลูกปลาช่อนที่เป็นไซซ์นิ้วมาเลี้ยงต่อในบ่อดิน ขนาด 1 ไร่ ที่เตรียมไว้ โดยปล่อยลูกปลาลงบ่อ 25,000 ตัว ใช้เวลาเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 4-5 เดือน ลูกปลาช่อนทั้งหมดจะเติบโต มีขนาดไซซ์ใหญ่ประมาณ 500-600 กรัม ต่อตัว

ในระยะแรกที่ปล่อยเลี้ยงจะให้กินอาหารเม็ดที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีน 40 ให้กินวันละ 3 มื้อ คือ เช้า กลาง และเย็น ซึ่งก่อนที่จะครบกำหนดจับปลาช่อนขาย 1 เดือน จะเปลี่ยนให้อาหารที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 30

“เรื่องการให้อาหาร ถ้าสภาพอากาศมีความแปรปรวน อย่างช่วงฤดูหนาว ระบบย่อยปลาจะไม่ค่อยดี ก็จะเปลี่ยนมาให้กิน วันละ 2 มื้อ ซึ่งการเลี้ยงของที่ฟาร์ม จะเป็นแบบตามมาตรฐาน GAP (จีเอพี) เรื่องความสะอาดถูกหลักอนามัยเราจะเน้นเสมอ เพราะฉะนั้นเรื่องโรคจึงไม่มีให้เห็นมากนัก” คุณขจร บอก

อาหารสำหรับลูกปลาช่อน
บ่อเพาะฟัก

ปลาช่อน ที่เลี้ยงทุกไซซ์ ต้องขายได้หมดทุกตัว

ในเรื่องของการทำตลาด คุณขจร เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เริ่มเลี้ยงปลาช่อนมา เรื่องตลาดยังไม่มีอุปสรรคสำหรับเขามากนัก เพราะเขาเองก็พอมีฐานลูกค้าเดิมอยู่บ้าง บวกกับเมื่อพ่อค้าแม่ค้ารายอื่นๆ ที่ทราบว่าฟาร์มของเขามีการเลี้ยงปลาช่อนก็จะมาติดต่อขอซื้อยกบ่อกันเลยทีเดียว

ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ต้องการปลาช่อนที่มีขนาดไซซ์ตั้งแต่ 500 กรัม ขึ้นไป โดยให้ราคาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 70 บาท นอกจากนี้ ลูกปลาไซซ์นิ้วก็เป็นที่ต้องการของตลาดไม่แพ้กัน คุณขจรก็ผลิตขายอยู่ที่ตัวละ 3 บาท ให้กับเกษตรกรทั่วไปที่ต้องการนำไปเลี้ยง

“เรียกว่าปลาที่นี่ไม่ว่าไซซ์ไหน ก็ต้องขายได้หมด ซึ่งการเลี้ยงบางทีมันเป็นไปไม่ได้ที่จะได้ตัวเท่าๆ กัน มันจะมีตัวที่แตกไซซ์บ้าง น้ำหนักที่ต่ำกว่า 400 กรัม เราก็เลยมาคิดสร้างมูลค่า คือการนำมาแปรรูปเป็นปลาช่อนแดดเดียว หรือปลาช่อนป๊อบที่เหมือนกับไก่ป๊อบ แต่จุดเด่นคือ ใช้เนื้อปลาช่อนล้วนๆ มาทำ เป็นเมนูที่กำลังเป็นที่นิยม เรียกว่าเราคนเลี้ยงต้องหาช่องทางการขายให้ได้มากที่สุด ตรงนั้นแหละจะเป็นผลต่อยอดกำไรให้เรา” คุณขจร เล่าถึงเทคนิคการทำตลาด

บ่อ ขนาด 1 ไร่

สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงปลาช่อนเป็นอาชีพ คุณขจร ให้คำแนะนำว่า ควรที่จะมองเรื่องทิศทางของตลาดเสียก่อนโดยเฉพาะเรื่องการแปรรูป เมื่อมั่นใจในเรื่องตลาดแล้ว ก็สามารถเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพได้เลย ซึ่งลูกพันธุ์ก็สามารถติดต่อหาจากฟาร์มที่เชื่อถือได้ หรือถ้าหากต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยง คุณขจรพร้อมให้คำแนะนำ สามารถมาศึกษาดูงานได้ที่ฟาร์ม

ส่วนในเรื่องของการที่จะเลี้ยงปลาช่อนให้ประสบผลสำเร็จนั้น คุณขจร ได้เน้นย้ำในเรื่องสายพันธุ์ว่าสำคัญมาก เป็นอันดับ 1 ถ้าได้สายพันธุ์ที่กินอาหารเก่ง การเจริญเติบโตของปลาช่อนก็ดีตามไปด้วย

“เรื่องการจัดการเป็นสิ่งที่สำคัญ น้ำที่เราใช้เลี้ยงต้องให้สะอาด ทุกขั้นตอนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน จีเอพี (GAP) ซึ่งเกษตรกรหลายๆ คน ไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งถ้าหากทำได้รับรองว่าปลาที่เลี้ยงจะมีตลาดที่กว้างขึ้น สามารถส่งขายได้หลากหลายช่องทาง ซึ่งเรื่องของการส่งออกต่างประเทศก็ไม่เป็นอะไรที่ยุ่งยาก อนาคตดีแน่นอน ซึ่งข้อมูลสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานประมงใกล้บ้านได้เลย” คุณขจร แนะนำ

สำหรับท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาช่อน ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ คุณขจร เชื้อขำ ที่หมายเลขโทรศัพท์ (062) 358-8818   

สินค้าแปรรูปจากปลาช่อน
ไซซ์พร้อมขาย
ปลาช่อนป๊อบ

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2562

 

Related Posts