ผักเป็นอาหารที่กินกันทุกบ้าน แต่คนไทยปลูกผักสวนครัวกันน้อยลง หันมาซื้อผักตลาดเป็นส่วนใหญ่ คุณสำรวย แตงขาว ชาวสวนมืออาชีพที่มีประสบการณ์ปลูกผักมานานกว่า 10 ปี ได้แบ่งปันประสบการณ์ว่า ควรปลูกผักชนิดไหนที่ได้เงินไว และตลาดมีความต้องการสูงตลอดทั้งปี
ปัจจุบัน คุณสำรวยวัย 57 ปี ปลูกผักบนเนื้อที่ 3 ไร่ อยู่บ้านเลขที่ 30 หมู่ที่ 3 ตำบลทวีวัฒนา อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี. เบอร์โทร. (091) 409-4337 คุณสำรวยเคยปลูกพืชมาหลายชนิด แต่ตัดสินใจปลูกผักเป็นตัวเลือกสุดท้าย เพราะปลูกดูแลง่าย อายุเก็บเกี่ยวสั้น ทำเงินไว อาศัยทักษะบริหารจัดการวิธีปลูกแบบหมุนเวียน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทำให้มีรายได้ ต่อเนื่องตลอดทั้งปี
“ อาชีพชาวสวนผมว่ายั่งยืนนะ ทุกวันนี้ ผมปลูกผักขายมีรายได้วันละพัน เดือนหนึ่งก็หลายหมื่นบาท รายได้ดีไม่แพ้อาชีพมนุษย์เงินเดือน ยิ่งช่วงหน้าแล้ง คนใช้ผักเยอะ แต่ผักมีน้อย ” คุณสำรวย กล่าว

ผักทำเงิน 6 ชนิดที่ขายดีตลอดทั้งปี
คุณสำรวยบอกว่า ผักสวนครัวที่ขายดี ตลาดมีความต้องการตลอดทั้งปี ได้แก่ โหระพา กะเพรา มะระจีน ถั่วฝักยาว แตงกวา มะละกอ สำหรับโหระพา ลงทุนครั้งแรกแพงสักหน่อยเพราะมีต้นทุนเฉลี่ยต้นละ 30 สตางค์ แต่ปลูกแล้วคุ้ม ลงทุนปลูกหนึ่งครั้ง เก็บเกี่ยวได้นาน 1ปี โหระพายิ่งตัดยิ่งแตก พักต้น 5-7 วันก็กลับมาตัดได้ใหม่ ทุกวันนี้ คุณสำรวยมีรายได้หลักจากการโหระพาไม่ต่ำกว่าวันละ 30- 40 กก. ขายได้กก.ละ 20 บาท ก็มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 600-800 บาท
ส่วนใบชะพลู ตลาดต้องการมากแต่คนปลูกน้อย ชะพลูปลูกง่าย ปลูกในดินชุ่มน้ำ แค่ 2เดือนก็ตัดขายได้แล้ว ยิ่งตัดก็ยิ่งแตก วันละ 5- 10 กก. ขายได้กก.ละ 15 – 20 บาท ก็จะมีรายได้เข้ากระเป๋า 200- 300 บาทต่อวัน
ตลาดสำคัญที่สุด การผลิตถือเป็นเรื่องรอง
คุณสำรวยบอกว่า มีคนสนใจมาขอความรู้เรื่องการปลูกผักที่สวนแห่งนี้ ก็ประสบความสำเร็จในอาชีพไปหลายรายแล้ว รายหนึ่งเป็นพ่อค้าขายของตลาดนัด ตอนนี้ก็มาทำผักอย่างเดียวก็มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ ใช้พื้นที่ไม่มาก แค่ 3 ไร่ ใช้แรงงานครอบครัวดูแล 2-3 คนก็พอ ปลูกผักผสมผสานสัก 5-10 อย่าง ก็มีผักให้เก็บผักขายได้ทุกวัน หากใครมีงานประจำทำอยู่แล้ว สามารถปลูกผักเป็นอาชีพเสริมได้

ใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า ปลูกผักผสมผสาน
สวนแห่งนี้ใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างคุ้มค่า100% โดยปลูกต้นฟักแซมใต้ต้นมะละกอ หลังปลูก 60 วัน คุณสำรวยสามารถเก็บแฟงออกขายได้ ปล่อยให้แก่ ก็จะกลายเป็นฟักให้เก็บขายได้ หลังจากนั้นก็จะเก็บมะละกอออกขาย หลังจากต้นฟักยุบลงดิน คุณสำรวจจะเอาต้นพริกขี้หนูสวนมาปลูกแทน การบริหารจัดการแปลงแบบนี้ ทำให้มีผลผลิตหมุนเวียนออกเก็บขายได้อย่างต่อเนื่องทั้งปี
แปลงถัดมา ใช้ปลูกมะระจีนแบบค้าง ส่วนบริเวณด้านล่าง ใช้ปลูกผักชี ประมาณ 1 เดือนก็เก็บขายได้แล้ว ถอนผักชีเสร็จ ก็เก็บมะระขายได้ นอกจากนี้ยังปลูกผักกวางตุ้ง ปลูกแค่ 28 วันก็เก็บขาย การปลูกผักผสมผสานร่วมแปลงเดียวกัน ให้ปุ๋ยให้น้ำครั้งเดียว สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้หลากหลายชนิดแล้วยังช่วยเพิ่มผลกำไรแบบเต็มๆ
ทุกวันนี้ คุณสำรวยสามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีได้ถึง 50% เพราะใส่ใจบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยคอกหมักร่วมกับจุลินทรีย์อีเอ็มตั้งแต่เริ่มเพาะปลูก วิธีการนี้ช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุย พืชงอกงาม เติบโตดี และใส่ปุ๋ยเคมีช่วงกลางหรือช่วงปลายของการเพาะปลูกเท่านั้น
“ สำหรับเกษตรกรมือใหม่ ผมแนะนำให้ยึดหลัก ตลาดนำการผลิต เพราะตลาดสำคัญที่สุด การผลิตถือเป็นเรื่องรอง ก่อนปลูกไปเดินสำรวจตลาด ว่าลูกค้าต้องการอะไรแล้วเราค่อยปลูก เริ่มจากปลูกจำนวนน้อยๆ ก่อน อย่าเพิ่งปลูกแปลงใหญ่ ปลูกน้อยๆ ไปก่อน ไม่พอขายก็ค่อยเพิ่มพื้นที่ปลูก ปลูกให้ผักดีมีคุณภาพ ตลาดก็วิ่งหาเราเอง ”คุณสำรวยกล่าวในที่สุด