ถั่วเหลืองนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในประเทศและมีความต้องการทางตลาดสูง ดังนั้นถั่วเหลือง จึงเป็นพืชที่มีอนาคตสำหรับเกษตรกร นอกจากเป็นพืชทำเงินสร้างรายได้ให้แล้ว ยังช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เกิดความสมดุลของธาตุอาหาร ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น
ถั่วเหลืองเป็นพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย เกษตรกรสามารถปลูกถั่วเหลืองได้ปีละ 2 ครั้งคือ ช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน และการผลิตถั่วเหลืองฤดูแล้ง ในเดือนธันวาคม-กลางเดือนมกราคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ของปีถัดไป

การผลิตถั่วเหลืองของประเทศไทยมีผลผลิตโดยเฉลี่ย 267 กก./ไร่ ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกถั่วเหลืองแบบคาร์บอนต่ำ ( low carbon ) ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถยกระดับผลผลิตถั่วเหลืองได้มากกว่า410 กก./ไร่ นอกจากช่วยเพิ่มรายได้แล้ว ยังช่วยเกษตรกรเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคตอีกด้วย
8 เทคนิคปลูกถั่วเหลืองแบบคาร์บอนต่ำ
ให้ได้คุณภาพดี ผลผลิตสูง
1. ใช้เมล็ดพันธุ์ดี เนื่องจากมีอัตราการงอกและรอดตายสูง จะทำให้ได้จำนวนต้นถั่วเหลืองมากขึ้นลูกสูง ใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมคลุกเมล็ดถั่วเหลือง ในอัตรา 200 กรัม ต่อเมล็ด 10-12 กิโลกรัม ก่อนปลูก
2. ใช้ปุ๋ยแก่ต้นถั่วเหลืองตามค่าวิเคราะห์ดิน ในปริมาณที่เหมาะสมตามความต้องการของถั่วเหลือง ซึ่งวิธีการนี้ สามารถลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้ 50-100 เปอร์เซ็นต์ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองได้ 25 เปอร์เซ็นต์
3. การใช้เครื่องปลูกและเครื่องเกี่ยวนวด จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประหยัดเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วเหลือง ช่วยลดต้นทุนแรงงานไม่น้อยกว่า 67 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่มีความแม่นยำจะลดความซับซ้อนของกระบวนการผลิตและทำงานได้เร็วยิ่งขึ้นแล้ว ยังลดการใช้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

4. ให้ปุ๋ยร่วมกับระบบน้ำหยดแบบอัตโนมัติ เป็นการให้น้ำตามความต้องการใช้น้ำของถั่วเหลืองอย่างมีประสิทธิภาพ ลดแรงงานในการให้ปุ๋ย ลดการชะล้างปุ๋ยนอกเขตรากพืช การแพร่กระจายปุ๋ยสม่ำเสมอบริเวณที่รากพืช สามารถเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ ลดการใช้เชื้อเพลิงจากการใช้เครื่องพ่นยาแบบสะพายหลัง ส่งผลให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
5. การใช้โดรนพ่นสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูถั่วเหลือง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้สารเคมีให้กับถั่วเหลืองแล้ว โดรนยังมีความสามารถจดจำตำแหน่งที่ฉีดพ่นครั้งก่อนได้ สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้สะดวกทั่วถึง ทำให้เกษตรกรมีความปลอดภัยจากการลดการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรโดยตรง ลดการใช้เชื้อเพลิงจากการใช้เครื่องพ่นสารเคมี ประหยัดแรงงานและเวลาสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว
6. ใช้โดรนประมินสุขภาพถั่วเหลือง โดยใช้โดรนติดกล้องถ่ายภาพแบบมัลติสเปกตรัม บินทั่วแปลงถั่วเหลืองฝักสดจำนวน 4 ครั้ง ที่ระยะต่าง ๆ คือ 7-10 วันหลังงอก 15-20 วันหลังงอก 30-35 วันหลังงอก และ 60-65 วันหลังงอก เพื่อเก็บบันทึกภาพ วิธีนี้ ใช้ระยะเวลาสั้น สามารถวิเคราะห์สภาพของดินปลูก สุขภาพความสมบูรณ์ของผลผลิตถั่วเหลืองรวมทั้งสะดวกต่อการวางแผนป้องกันศัตรูพืชได้ สามารถคาดการณ์ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมและผลผลิตที่ได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วเหลืองและการกักเก็บคาร์บอนโดยทางอ้อม
7. ใช้ชีวภัณฑ์หรือจุลินทรีย์ในการควบคุมศัตรูถั่วเหลือง ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา แอสเปอเรลลัม และเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทีลิส หรือ บีเอส สามารถทำลายเชื้อโรคพืชได้หลายชนิดทั้งเชื้อราและ แบคทีเรีย เกษตรกรสามารถผลิตขยายใช้เอง ในราคาถูก สามารถใช้ร่วมกับโดรนได้ ลดการใช้เชื้อเพลิงจากการใช้เครื่องพ่นสารเคมี เป็นการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

8. การจัดทำคู่มือการผลิตถั่วเหลืองโดยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การจัดการแปลงปลูก การปลูก ให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต พร้องทั้งมีการบันทึกช่วงเวลาการปฏิบัติงาน ประวัติการระบาดของศัตรูพืชและการใช้สารเคมีและเทคโนโลยีต่างๆ จะเป็นปฏิทินที่บันทึกข้อมูลที่เป็นสถิติ เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผนการผลิตถั่วเหลืองให้มีประสิทธิภาพต่อไป
การผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพแบบคาร์บอนต่ำ เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมในพื้นที่ของตนเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วเหลืองแบบคาร์บอนต่ำ เป็นประโยชน์ในการยกระดับผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศให้สูงขึ้น ยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ เพื่อรองรับการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้พร้อมกัน