เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

ศวพ. เพชรบุรี เร่งทดสอบ ใช้ “ชีวภัณฑ์” เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อหยุดการระบาด “หนอนหัวดำมะพร้าว”

ศวพ. เพชรบุรี งัดมาตรการเด็ดทดสอบใช้ชีวภัณฑ์ “แตนเบียนโกนิโอซัสและมวลพิฆาต” กำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว สยบปัญหาการระบาดในพื้นที่บ้านแหลม จ.เพชรบุรี มั่นใจมีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อคน แมลงศัตรูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายสมพร เหรียญรุ่งเรือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี (ศวพ. เพชรบุรี) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อลดปัญหาการระบาดหนอนหัวดำมะพร้าว ในพื้นที่ ต.บางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี กรณีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและเลี้ยงปลาไม่เห็นด้วยกับแนวทางลดปัญหาการระบาดหนอนหัวดำมะพร้าว โดยใช้สารเคมีกำจัดพ่นทางใบ ซึ่งจากการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า พื้นที่ดังกล่าวเกษตรกรมีอาชีพหลัก คือ เลี้ยงกุ้งและปลา

เกษตรกรมีความเชื่อว่า สารเคมีที่ใช้พ่นทางใบเหล่านี้หากเกิดการชะล้างลงแหล่งน้ำจะทำให้กุ้งและปลาตายเกิดความเสียหาย แม้เจ้าหน้าที่จะเข้าไปชี้แจงปัญหาดังกล่าว แต่เกษตรกรก็ยังไม่คลายข้อสงสัยและความกังวล ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงใช้ชีวภัณฑ์กำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกรในชุมชนแห่งนี้

ศวพ. เพชรบุรี ได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ทดสอบเทคโนโลยีการกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวด้วยแตนเบียนโกนิโอซัสและมวนพิฆาตในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ภายใต้โครงการวิจัยเทคโนโลยีการใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืช เพื่อการผลิตพืชปลอดภัยโดยเกษตรกรมีส่วนร่วมโครงการดังกล่าวหันมาเน้นใช้ชีวภัณฑ์ของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชเป็นหลัก คือ แตนเบียนโกนิโอซัส และมวนพิฆาต มาทดสอบในแปลงเกษตรกรแบบมีส่วนร่วม โดยชีวภัณฑ์ที่นำไปใช้ไม่เป็นอันตรายต่อคน แมลงศัตรูธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบผล เพื่อลดปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวในพื้นที่ดังกล่าว

ด้าน นางสาวนรีรัตน์ ชูช่วย นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวยังคงประสบปัญหาแมลงศัตรูพืชระบาด โดยเฉพาะ หนอนหัวดำมะพร้าว ซึ่งเป็นแมลงศัตรูมะพร้าวที่สำคัญ เมื่อปี 2560 พบหนอนหัวดำมะพร้าวระบาดในพื้นที่ 29 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรีนั้น มีต้นมะพร้าวถูกหนอนหัวดำทำลาย จำนวน 31,063 ต้น มีมะพร้าวต่ำกว่า 12 เมตร จำนวน 16,801 ต้น ซึ่งได้เข้าร่วม โครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานฯ โดยใช้วิธีพ่นสารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% ดับเบิ้ลยูจี ในมะพร้าวที่ต่ำกว่า 12 เมตร

ปัจจุบัน พบว่า เมื่อสภาพอากาศเหมาะสม หนอนหัวดำมะพร้าว ยังคงกลับมาระบาดอีกครั้ง หากเกษตรกรไม่มีการป้องกันกำจัดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ศวพ. เพชรบุรี ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการหนอนหัวดำมะพร้าวด้วยแตนเบียนโกยิโอซัสและมวนพิฆาตให้กับเกษตรกรที่ต้องการร่วมโครงการในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

จากนั้นประเมินความเสียหายจากการทำลายของหนอนหัวดำมะพร้าว และสุ่มตรวจนับจำนวนประชากรหนอนหัวดำมะพร้าวในแต่ละวัย โดยประเมินและติดตามผล จำนวน 10 ต้น/แปลง (พื้นที่สุ่ม 1 ไร่ เก็บใบจำนวน 10 ใบย่อย/ต้น) และประเมินประสิทธิภาพของศัตรูธรรมชาติในแปลง หลังเข้าไปดำเนินการทุกเดือน

“เพื่อลดปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ศวพ. เพชรบุรี หันมาเน้นการจัดการหนอนหัวดำมะพร้าวโดยชีววิธีในแปลงมะพร้าวที่ประสบปัญหาการระบาดในระดับน้อยถึงปานกลาง โดยใช้ชีวภัณฑ์ ได้แก่ แตนเบียนโกนิโอซัส และมวนพิฆาต ในแปลงเกษตรกร แบบมีส่วนร่วมของเกษตรกรในพื้นที่ที่มีปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว โดยเกษตรกรได้เรียนรู้ที่จะนำไปปฏิบัติ โดยวิธีการขยายผล ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อคน แมลงศัตรูธรรมชาติ สัตว์อื่นๆ และสิ่งแวดล้อม หลังผ่านการทดสอบวิจัยแล้ว สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาดำเนินการทดสอบในพื้นที่เพื่อลดปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวต่อไป” นางสาวนรีรัตน์ กล่าว

Related Posts