ยุคนี้ ต้นทุนค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นแทบทุกอย่าง สวนทางกับตัวเลขรายได้ที่ปรับตัวลดลง เพื่อความอยู่รอด อะไรที่ประหยัดได้ก็ต้องช่วยกันประหยัด โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า การปิดไฟที่ไม่ใช้งาน อาจช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ไม่มากเมื่อเทียบกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า นี่คือเหตุผลสำคัญที่หลายคนเลือกติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ “โซลาร์รูฟท็อป” (Solar rooftop) บนหลังคาอาคารบ้านเรือนกันมากขึ้น เพราะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลงได้เดือนละ 2-3 พันบาททีเดียว

จังหวัดลพบุรีเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและความเข้มข้นของพลังงานแสงอาทิตย์สูงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย จากข้อมูลการรับซื้อไฟฟ้าของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พบว่า จังหวัดลพบุรีมีการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด 24 โครงการ กำลังการผลิตรวมกว่า 205 เมกะวัตต์ หลังคาบ้านเรือน อาคารสถาบันการศึกษา หน่วยงาน และสถานประกอบการต่างๆ มีศักยภาพในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล สอดคล้องกับเทรนด์การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) ที่ไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาองค์กร แต่ต้องมีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย

กองทุนแสงอาทิตย์
กองทุนแสงอาทิตย์เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลาย ทั้งด้านผู้บริโภค การพัฒนาเด็ก สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อระดมทรัพยากรติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ทำงานรณรงค์ผลักดันให้เกิดการขยายตัวของระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในระดับครัวเรือน หน่วยงาน และสถาบันทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงาน โดยการลงมือทำจริงในพื้นที่เป้าหมายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานหมุนเวียน
เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก เช่น คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มูลนิธิสุขภาพไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กรีนพีซ ประเทศไทย ฯลฯ ช่วงปี 2562-2563 กองทุนแสงอาทิตย์ประสบความสำเร็จในการระดมเงินบริจาคจากประชาชนจนสามารถติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปกำลังการผลิต รวม 240.63 กิโลวัตต์ ให้กับโรงพยาบาลภาครัฐทั่วประเทศ จำนวน 7 แห่ง สามารถลดค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลรวมกัน 1.4 ล้านบาทต่อปี

ข้อมูลบ่งชี้ชัดเจนว่า แสงอาทิตย์ใช้ได้ทุกภาคและเกิดผลดีกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยโรงพยาบาลประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก จากนั้นกลุ่มเป้าหมายถัดมาคือ วิทยาลัย ทั้งการอาชีพ เทคนิค และอาชีวะ เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้จากการติดตั้งและการติดตามผลงาน การเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับผู้คนที่สนใจ รวมทั้งการจ้างงานและก้าวสู่ผู้ประกอบการพลังงานแสงอาทิตย์
ปี 2563-2564 กองทุนแสงอาทิตย์ระดมเงินบริจาคเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้วิทยาลัยการอาชีพ 7 แห่งทั่วประเทศ แห่งละ 10 กิโลวัตต์ ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี, วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง, วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร จังหวัดสกลนคร, วิทยาลัยการอาชีพกระบุรี จังหวัดระนอง, วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี

นายธีรพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ ผู้ประสานงานการปฏิวัติเมืองยั่งยืน กรีนพีซ ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรเครือข่ายของกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า “โลกเและประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนผ่านพลังงาน รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการต้องมีเจตจำนงที่จะเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยการผลักดันให้เกิดการลงทุนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงเรียนและวิทยาลัย กว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งหมดนี้จะทำให้กําลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นกว่า 700 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 22,000 ล้านบาท การลงทุนนี้จะช่วยให้สถาบันการศึกษาประหยัดงบประมาณ และมีรายได้เพิ่มทั้งหมดราวกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี คือสามารถคืนทุนได้ภายในเวลาเพียง 4.48 ปี และประหยัดเงินจำนวนเดียวกันนี้ไปได้ทุกปีตลอดอายุขัย 20 ปีของแผงโซลาร์เซลล์ พร้อมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้และทำความคุ้นเคยกับพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดที่จะกลายเป็นอนาคต และเตรียมพร้อมอาชีวะสร้างชาติในอนาคตยุคต่อไป
หากใครต้องการสนับสนุนการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในสถาบันศึกษาร่วมกับกองทุนแสงอาทิตย์ สามารถร่วมบริจาคเงินได้ที่ บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เลขที่บัญชี 429-017697-4 โดยมีช่องทางการรับบริจาคและรับหลักฐานการบริจาคเงินทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ www.thailandsolarfund.org ทั้งนี้ การบริจาคเงิน สามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ด้วยมูลนิธิฯ เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง

“เทคนิคโคกสำโรง” วิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งแรกของลพบุรี
ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ได้ร่วมกันเปิดตัว “โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์ (SOLAR GENERATION)” เพื่อสร้างการเรียนรู้และการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นปีที่ 2 ของกองทุนแสงอาทิตย์ที่เปิดรับเงินบริจาคผ่านกองทุนฯ เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้วิทยาลัยสายอาชีพ 7 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ ทั่วประเทศ โดยใช้เงินในการติดตั้งแห่งละ 400,000 บาท
นายเริงศักดิ์ เข็มทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง ถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของจังหวัดลพบุรีและภาคกลาง และเป็นวิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งที่ 4 ของประเทศจากกองทุนแสงอาทิตย์ การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์ เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อปี หรือในระยะเวลามากกว่า 25 ปี ทางวิทยาลัยคาดว่า สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ราว 1,500,000 บาท ตลอดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์

ทางวิทยาลัยขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมบริจาคเงิน ทำให้เราสามารถติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปได้ ซึ่งนอกจากจะลดภาระค่าไฟฟ้าของทางวิทยาลัย และยังสามารถใช้หลังคาโซลาร์เซลล์เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนสู่การประกอบอาชีพหลังจากจบการศึกษา และผู้ประกอบการโซลาร์เซลล์ ซึ่งธุรกิจโซลาร์เซลล์เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดลพบุรีและระดับประเทศ
วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง สังกัดสถาบันอาชีวศึกษาภาคกลาง ตั้งอยู่ในอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เป็นสถานศึกษาที่มีนักเรียนด้านวิชาชีพ จำนวน 998 คน ตั้งแต่ระดับ ปวช. ปวส. ที่มุ่งเน้นพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาชีพด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและสังคม และหลักสูตรพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในการเรียนการสอนที่ทางวิทยาลัยให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ
มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาชีพ
ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี
วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง เป็นสถานศึกษาที่มุ่งเน้นการบริการชุมชน โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ มีวินัยและใส่ใจสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาครู รวมทั้งให้โอกาสในการศึกษาต่อให้กับนักเรียน นักศึกษา และครูให้มีการศึกษาที่สูงขึ้น เพื่อกลับมาพัฒนาอาชีวศึกษาและประเทศชาติต่อไป
นายเริงศักดิ์ เข็มทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง พร้อมคณะผู้บริหาร คณะครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน นักศึกษา ได้เข้าร่วม “การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษา” ครั้งที่ 24 รอบคัดเลือก ประจำปี 2565 ณ วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี เพื่อชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 จากจำนวน 72 ทีม ในรอบคัดเลือก หาทีมเข้าร่วมการแข่งขันในระดับชาติ จำนวน 32 ทีม วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง ได้ผ่านการคัดเลือกแข่งขันในระดับชาติต่อไป

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามกิจกรรมการเรียนการสอนและผลงานทางวิชาการของวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง ได้ทางเฟซบุ๊ก วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 036-708-093 ในวันและเวลาราชการ
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), กองทุนแสงอาทิตย์ และเฟซบุ๊ก วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง