นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ จะหารือกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ตามที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการใช้ยางมากขึ้นในหน่วยงานรัฐ ซึ่งในเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้มีการสำรวจความต้องการและพิจารณาว่าการจัดทำโครงการ กิจกรรมของหน่วยงานท้องถิ่นใดบ้างที่สามารถใช้ส่วนผสมของยางพาราได้ ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นๆ ได้ทำหนังสือเวียนแจ้งจังหวัด และขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดทำโครงการกิจกรรมดังกล่าว
ทั้งนี้ โครงการกิจกรรมใดๆ ที่เข้าข่ายให้ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมนั้น จะได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการปฏิบัติพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 32 การจัดซื้อจัดจ้างเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีวงเงินเกิน 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการสอบราคาเป็นกรณีเฉพาะราย โดยให้ก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือน ระหว่างวันที่ 21 ธ.ค. 2560 – 20 เม.ย. 2561
“การใช้ยางพาราในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น สนามฟุตบอล ในโรงเรียน ถนนในชุมชน เป็นต้น ซึ่งหากมีการใช้อย่างจริงจังก็จะดูดซัพยางในตลาดหาย และผลักดันราคาให้สูงขึ้นได้ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยเหลือชาวสวนยางได้ นอกเหนือจากมาตรการอื่นๆ ที่กระทรวงเกษตรฯ ทำอยู่ ทั้งการชะลอการส่งออก การลดการกรีดยางในพื้นที่รัฐบาลช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. และจะขอความร่วมมือกับสวนยางให้ชะลอการกรีดยางในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค.นี้ อีก ทั้งหมดนี้ผมหวังว่าจะกระตุ้นให้ราคายางสูงขึ้นได้”นายกฤษฎา กล่าว
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า การหยุดกรีดยางในพื้นที่สวนยางของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการควบคุมปริมาณผลผลิต ภายใต้มาตรการการรักษาเสถียรภาพราคายางที่กระทรวงเกษตรฯ นำมาใช้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางควบคู่ไปกับมาตรการต่างๆ โดยเน้นเฉพาะในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 2561 และกระทรวงเกษตรฯ มีแนวคิดขยายการหยุดกรีดยางเพิ่มเติมออกไปในพื้นที่ของประชาชนทั่วไปที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง จำนวน 2 ล้านไร่ ในช่วงเวลา 3 เดือน อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปริมาณผลผลิตในตลาดลดลง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้นตามกลไกตลาด
ในส่วนของโครงการหยุดการกรีดยาง ดังกล่าวยังคงเป็นเพียงแนวคิดเพื่อให้ทุกภาคส่วน วิเคราะห์ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ผลดีผลเสียเช่นไรต่อสถานการณ์ยางพาราในประเทศไทย รวมทั้งควรมีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไรในการชะลอหรือหยุดกรีดยางเพื่อให้มีประสิทธิภาพโดยไม่เสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้น การหยุดกรีดยางจำนวน 2 ล้านไร่ ต้องพิจารณาอีกครั้ง โดยปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ ยังมีมาตรการอื่นๆ ในการผลักดันให้สถานการณ์ของยางพาราไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงิน 20,000 ล้านบาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นต้น
“สำหรับประเด็นการขโมยกรีดยางในสวนยางของภาครัฐ โครงการควบคุมปริมาณผลผลิตโดยให้หยุดกรีดยางในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. นั้น หากมีการตรวจสอบพบว่ามีลูกจ้างกรีดยาง กยท. รายใดที่กระทำความผิด จะต้องถูกลงโทษ เป็นไปตามการดำเนินการความผิดทางวินัยตามข้อบังคับคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยวินัยและการลงโทษพนักงานและลูกจ้างประจำ และอาจถูกดำเนินคดีอาญาฐานลักทรัพย์นายจ้างด้วย ในกรณีที่มีการลักลอบกรีดยางและรับซื้อยางพาราอันเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก ให้หัวหน้าส่วนงานที่รับผิดชอบดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในพื้นที่ที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป” นายธีธัช กล่าว
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์