กุ้งฝอยเป็นสัตว์น้ำที่รสชาติดีและมีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งโปรตีน แคลเซียม และแร่ธาตุอื่นๆ จึงทำให้มีความนิยมบริโภคกันมาก สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย ที่นิยมมากที่สุดคือ “กุ้งเต้น” รองลงมาคือกุ้งชุบแป้งทอด ตำกุ้ง เป็นต้น และนอกจากเป็นอาหารมนุษย์แล้ว กุ้งฝอยยังมีความสำคัญในระบบนิเวศ ห่วงโซ่อาหารธรรมชาติ เนื่องจากกุ้งฝอยเป็นอาหารของปลากินเนื้อทุกชนิด
กุ้งฝอยยังสามารถผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 60 วัน และแม่พันธุ์กุ้งฝอยสามารถให้ไข่ได้มากถึง 200-250 ฟองต่อตัว จึงเป็นสัตว์น้ำอีกชนิดหนึ่งที่มีความน่าใจ เพราะนอกจากจะบริโภคในครัวเรือนแล้ว ยังสามารถจับจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 200-350 บาท หากเป็นกุ้งพ่อ-แม่พันธุ์ ก็มีราคาสูงถึงตัวละ 2 บาท
สำหรับผู้สนใจเลี้ยงกุ้งฝอย สำนักงานประมงจังหวัดอุบลราชธานีมีคำแนะการเลี้ยงกุ้งฝอย โดยจับรวบรวมกุ้งฝอยตามธรรมชาติ ซึ่งวิธีที่นิยมใช้มี 2 รูปแบบ ได้แก่
1. การใช้ไซดักกุ้ง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ดักจับกุ้งโดยเฉพาะ วิธีนี้จะดักได้เฉพาะกุ้งอย่างเดียว และเป็นกุ้งที่มีขนาดตัวเต็มวัยแล้ว ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการคัดแยกกุ้ง
2. การใช้ผ้าช้อนกุ้ง
ผ้าช้อนกุ้ง เป็นอุปกรณ์จับกุ้งหรือปลาขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นผ้าตาข่ายคล้ายมุ้งแต่มีรูใหญ่กว่ามุ้งเล็กน้อย
การเลี้ยงกุ้งฝอย
กุ้งฝอยตัวเต็มวัยจะสามารถแยกเพศได้ง่าย โดยกุ้งฝอยเพศเมียจะมีส่วนอวัยวะเพศใต้ท้องมีสีเขียว ส่วนกุ้งฝอยเพศผู้เปลือกที่หัวจะมีสีขุ่นออกเหลือง โดยแม่กุ้งฝอย 1 ตัวจะออกไข่ประมาณ 200-250 ฟอง
การเลี้ยงกุ้งฝอยในปัจจุบันมี 3 ลักษณะ คือ
1. การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์
เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นที่น้อย ด้วยการสร้างบ่อก่ออิฐในขนาดต่างๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น บ่อสูง 0.7 เมตร กว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร หรือบ่อสูง 1 เมตร กว้าง 2 เมตร ยาว 5-10 เมตร เป็นต้น อัตราการปล่อยแม่กุ้งฝอย ที่มีไข่ 50 ตัวต่อน้ำ 200 ลิตร เมื่อแม่กุ้งเขี่ยไข่ออกแล้วให้รีบจับแม่กุ้งออกทันที เพราะแม่กุ้งจะกินตัวอ่อนของตัวเองหรืออาจใช้วิธีปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงเลี้ยงร่วมกัน อัตราการปล่อยที่เพศผู้ 1 ส่วน เพศเมีย 2 ส่วน
การจัดการในบ่อซีเมนต์ หากเป็นบ่อก่อใหม่หรือซื้อมาใหม่ให้ใส่น้ำขังไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้วถ่ายออกเพื่อลดความเป็นด่างจากปูน หลังจากปล่อยกุ้งควรนำพืชน้ำ เช่น จอกหรือผักตบชวาใส่ในบ่อพอประมาณเพื่อเป็นที่หลบแดดให้แก่กุ้ง และควรมีการถ่ายเทน้ำเป็นระยะ อาหารของกุ้งวัยอ่อน อายุ 1-20 วัน อาหารที่ให้ควรเป็นไข่แดงต้มบดผ่านผ้าขาวและไรแดง ร่วมกับการสร้างอาหารให้เกิดเองตามธรรมชาติ ด้วยการหว่านปุ๋ยคอก เช่น มูลโคหรือมูลไก่ อัตรา 1 กำมือต่อน้ำ 200 ลิตร ซึ่งจะทำให้เกิดแพลงตอนพืชขึ้นมา ส่วนอาหารสำหรับกุ้งช่วงวัยรุ่น-ตัวเต็มวัย จะเริ่มให้ตั้งแต่อายุ 20 วัน โดยให้พวกเนื้อปลาสับและรำละเอียด ร่วมด้วยกับอาหารเม็ดสำเร็จรูป
2. การเลี้ยงกุ้งฝอยในกระชังผ้ามุ้ง
ขั้นตอนเริ่มจากรวบรวมกุ้งเพศเมียจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวน 80-100 ตัว แม่กุ้ง 1 ตัว มีไข่ได้ 200-250 ตัว นำมาพักใว้ในกระชังผ้าขนาด 1x1x1 เมตร อย่างน้อย 1 คืน คัดเลือกเฉพาะกุ้งเพศเมียที่มีไข่แก่ ให้อาหารสำเร็จรูปที่มีโปรตีน 33% ประมาณ 5% ของน้ำหนักตัว แบ่งให้ 2 ครั้งเช้าและเย็น ราว 3-4 วัน ไข่ก็จะฟักออกมาเป็นตัว แยกแม่กุ้งออกจากกระชังแล้วคัดลูกกุ้งที่มีขนาดเดียวกัน เพื่อสะดวกในการจัดการเพาะเลี้ยง
นำลูกกุ้งที่ได้ไปอนุบาลในกระชังผ้าไนลอนแก้ว ลูกกุ้งจะได้ 5 หมื่นตัว อาทิตย์แรกไห้ไข่แดงต้มสุกเป็นอาหาร อาทิตย์ที่ 2-4 ใช้ไรน้ำจืดขนาดเล็กเป็นอาหาร จากนั้นให้อาหารสำเร็จรูปชนิดผง เป็นอาหารที่มีโปรตีน 40% ให้อาหารในปริมาณ 10% ของน้ำหนักตัว ใช้เวลาอนุบาลเป็นเวลา 1 เดือน จึงนำไปเลี้ยงในกระชังในบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์ได้ 3-5 หมื่นตัว เลี้ยงอีก 2 เดือนสามารถขายได้

3. การเลี้ยงกุ้งฝอยในบ่อพลาสติก
เริ่มจาก เตรียมบ่อลึก 70 เซนติเมตร กว้าง 2 เมตร ยาว 8 เมตร ปูก้นบ่อด้วยพลาสติกสีดำนำดินมาเทถมให้ทั่วบ่อพลาสติกประมาณ 7-8 เซนติเมตร เติมน้ำลงไปให้เต็มบ่อพอดี ทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน นำสาหร่าย ผักตบชวา หญ้าขน มาทิ้งไว้ให้เป็นฟ่อนๆ ประมาณ 4-5 ฟ่อน ปล่อยกุ้งที่รวบรวมได้จากธรรมชาติลงไปในบ่อประมาณ 5 ขีด โดยงดให้อาหารประมาณ 7 วัน เพื่อให้กุ้งปรับสภาพ การให้อาหาร ใช้วิธีต้มไข่ให้สุก เอาเฉพาะไข่แดง 2 ฟอง รำอ่อน 3 ขีด ผสมให้เข้ากัน ปั้นเท่ากำมือโยนลงไปใช้บ่อประมาณ 3 ก้อน เลี้ยงประมาณ 2 เดือน ก็สามารถจับขายได้
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัดอุบลราชธานี เบอร์โทร. 045-243-033 หรือสำนักงานประมงใกล้บ้าน


ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก FB : สำนักงานประมงจังหวัดอุบลราชธานี
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2567