จังหวัดแพร่ มีพื้นที่เกษตรกรรม 821,162 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าว ที่เหลือปลูกพืชไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้น พืชผัก แต่มีหลายพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมสำหรับเพาะปลูกพืช เกษตรกรบางส่วนจึงปรับลดพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกพืชและหันมาเลี้ยงแพะเนื้อแทน
แพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เลี้ยงง่าย ทนทานต่อทุกสภาพภูมิอากาศ ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย ขยายพันธุ์ไว ลงทุนน้อยและให้ผลตอบแทนเร็ว ขณะเดียวกันสามารถนำมูลแพะไปใช้แทนปุ๋ยเคมีในเรือกสวนไร่นาได้ซึ่งส่งเสริมเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารเคมีได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากการเลี้ยงแพะเนื้อของภาคเหนือมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ด้วยภูมิสังคมของจังหวัดแพร่ที่มีปัจจัยเอื้อต่ออาชีพการเลี้ยงแพะ ทั้งเรื่องพืชอาหารสัตว์ ช่องทางการตลาดเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีนที่มีความต้องการบริโภคเนื้อแพะ

รวมพลังกลุ่มผู้เลี้ยงแพะ
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะ – แกะ จังหวัดแพร่ นับเป็นแหล่งเรียนรู้การเลี้ยงแพะเนื้อตั้งแต่เรื่องเทคนิคการบริหารจัดการฟาร์ม การคัดเลือกสายพันธุ์ การรักษาความสะอาดโรงเรือน และการดูแลสุขภาพของแพะ การพัฒนาสายพันธุ์แพะเนื้ออย่างยั่งยืน รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายผู้เลี้ยงแพะในระดับจังหวัดและประเทศ
ในอดีต จังหวัดแพร่นิยมเลี้ยงแพะแบบไล่ทุ่งทำให้ประสบปัญหาด้านคุณภาพและด้านการตลาด กลุ่มผู้เลี้ยงแพะได้รวมตัวกันจัดตั้ง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะ – แกะ จังหวัดแพร่ เมื่อปี 2562 ภายใต้การนำของ นายชิตษณุพงษ์ เม้าเขียว ( เจ้าของเลิศสิริฟาร์มแพะ ) ประธานกลุ่มฯ โดยมีเป้าหมายใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการเลี้ยงแพะให้มีความมั่นคง
ยกระดับการผลิตให้ได้คุณภาพ
ทางกลุ่มได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ใน 4 กิจกรรม คือ กิจกรรมการเลี้ยงแพะ การผลิตหญ้าอาหารสัตว์ และอาหารสัตว์ลดต้นทุน การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และเชื่อมโยงการตลาด การทำปุ๋ยอินทรีย์จากมูลแพะ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงแพะ เนื่องจากสมาชิกทุกคนมีที่ตั้งฟาร์มของตนเอง ทำให้เกิดกิจกรรมในวิถีการเลี้ยงแพะที่เกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเลี้ยงแพะ การบริหาร สายพันธุ์ การจัดการฟาร์ม การจัดการอาหารสัตว์ ที่ร่วมกันคิดร่วมกันทำอย่างสม่ำเสมอ

ใส่ใจพัฒนาสายพันธุ์ดี
ด้านสายพันธุ์ มีการนำเข้าพันธุ์แพะจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้โดยสายพันธุ์แพะที่เลี้ยงในกลุ่ม คือ พันธุ์บอร์เลือด100% เพื่อรองรับความต้องการของสมาชิก โดยนำเข้าพ่อพันธุ์แพะจากแอฟริกาและสหรัฐอเมริกา ที่มีลักษณะเด่น ในด้านการให้กล้ามเนื้อที่ดี โครงสร้างดี อัตราการเจริญเติบโตสูง เข้ามาปรับปรุงแม่พันธุ์พื้นฐานให้ได้รุ่นลูกที่มีกล้ามเนื้อและโครงสร้างดีขึ้น
การจัดการฟาร์มและโรงเรือน
อันดับแรก คอกโรงเรือนต้องแข็งแรง กันแดดกันฝน มีอากาศถ่ายเทสะดวก มีการบันทึกประวัติประจำตัวสัตว์ จดบันทึกการจัดการฟาร์มและการเข้าออกของแพะในฟาร์มให้เป็นปัจจุบัน เน้นให้สมาชิกทุกฟาร์มมีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงที่เหมาะสม (GFM) ตามหลักเกณฑ์ของกรมปศุสัตว์ เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ ป้องกันโรค สะดวกในการจำหน่าย และการขออนุญาตขนย้ายสัตว์

อาหารสัตว์
สมาชิกใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์ มีแปลงหญ้าอาหารสัตว์ ของตนเอง ซึ่งเพียงพอต่อการเลี้ยงแพะในแต่ละปี แนะนำให้สมาชิกนำผลพลอยได้ทางการเกษตรและวัสดุเหลือใช้มาประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนด้านอาหารสัตว์หรือใช้ TMR รวมถึงการทำอาหารหมักเพื่อใช้ในฤดูแล้ง และในยามฉุกเฉิน โดยกลุ่มได้จัดทำคลังเสบียงอาหารสัตว์เพื่อให้บริการสมาชิกในกรณีฉุกเฉิน
การจัดการด้านสุขภาพสัตว์
กลุ่มมีการดูแลสุขภาพแพะ โดยการทำวัคซีนพื้นฐานเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ โดยการป้องกันโรคพยาธิจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ในช่วงอายุ 4 เดือน เข็มที่ 2 ช่วงอายุ 5 เดือน และฉีดซ้ำทุกๆ 6 เดือน และให้แพะถ่ายพยาธิทุก 3 เดือน ทั้งแบบกรอก (กำจัดพยาธิภายนอก) และแบบฉีด (กำจัดพยาธิภายใน)
กรณีโรคแท้งติดต่อ เนื่องจากแพะมักเกิดจากเชื้อ Brucella melitensis คนก็สามารถติดโรคนี้ได้จากการบริโภคน้ำนม เช่น ครีม เนย ที่ได้จากแพะที่เป็นโรคและไม่ได้ผ่านขบวนการฆ่าเชื้อโรคก่อน แพะที่เกิดจากการแท้งลูกหรืออาการ แพะเกิดจากแท้งลูกหรือคลอดลูกที่ไม่ค่อยจะแข็งแรงออกมาและมักจะมีน้ำเมือกไหลมาจากช่องคลอดนานเป็นเวลา 2- 3 สัปดาห์ เดินกะโผลกกะเผลก เต้านมอักเสบ น้ำหนักลด ขนแห้งและเป็นหมัน

เนื่องจากโรคแท้งติดต่อสามารถติดต่อไปยังแพะตัวอื่นได้ หากมีการสืบพันธุ์ การกินอาหารและน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคปนอยู่ เชื้อนี้จะมีในน้ำเมือกสัตว์ ปัสสาวะ และซากลูกสัตว์ที่แท้งออกมา จึงควรกำจัดทำลายหากตรวจจพบตัวที่เป็นโรคในฟาร์ม
โรคมงคล่อเทียม หรือโรคเมลิออยโดซีส โรคนี้พบในทุกภาคของประเทศไทยและพบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถติดต่อถึงคนได้ด้วย สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซูโดโมนาส ซูโดมอลิไอ สัตว์ที่ป่วยให้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หรือซัลฟา เช่น เทอราไมซิน หรือ ซัลฟาไดอะซิน แต่การรักษามักไม่ค่อยได้ผล หากเจอแพะแสดงอาการป่วย ต้องแยกออกจากฝูง ทำความสะอาดพื้นคอกและปล่อยให้พื้นแห้งเพราะถ้าคอกสกปรก มีการเปียกแฉะเสมอจะทำให้เป็นที่อยู่ของเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ได้ดี
ศักยภาพการผลิตและการตลาดแพะ
มีการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายของกลุ่มเลี้ยงแพะในแต่ละอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และฝึกอบรมหลักสูตรแปรรูปผลิตภัณฑ์จากแพะเพื่อใช้ในการพัฒนาต่อยอดในกิจกรรมกลุ่มการตลาด การประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ และการเชื่อมโยงเครือข่าย – การรวมกลุ่มขายแพะ กลุ่มจะใช้หลักเกณฑ์ในการซื้อขายแพะร่วมกัน เพื่อเป็นอำนาจในการต่อรองกับพ่อค้าที่มารับซื้อ ผลิตแพะตามน้ำหนักที่พ่อค้าต้องการ และรวบรวมแพะที่สามารถขายได้แล้ว ติดต่อกับพ่อค้าเพื่อเข้ามารับซื้อที่จุดเดียว – นำแพะเข้าประกวดในงานแพะแห่งชาติ และสนามอื่นๆ เพื่อสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงการตลาดกับกลุ่มผู้เลี้ยงแพะในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ

ผสมเทียมแพะ
สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแพร่ สนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ หันมาใช้บริการการผสมเทียมแพะเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพ่อพันธุ์ที่ดีและป้องกันโรคติดต่อในการผสมตามธรรมชาติ สำหรับการผสมเทียมจะใช้วิธีสังเกตอาการติดสัด เนื่องจากแพะมีวงจรติดสัดที่ไม่แน่นอนไม่คงที่ แม้ในแพะตัวเดียวกัน ปกติแล้ววงจรสัดมีรอบ 20 -21 วัน ช่วงติดสัดโดยเฉลี่ยราว 24 – 36 ชั่วโมง หรืออาจถึง 48 ชั่วโมง แต่ระยะเวลาไข่ตกจะเกิดขึ้นเมื่อใกล้หมดอาการติดสัด จึงไม่สามารถประมาณเวลาที่ใช้ผสมจากเวลาเริ่มเป็นสัดดังเช่นในโคได้ จึงให้ผสมเมื่อแม่แพะยืนนิ่งพร้อมรับการผสม และผสมซ้ำทุก 12 ชั่วโมง หากแม่แพะยังยืนนิ่งพร้อมรับการผสมอีก และการผสมเทียมจะใช้ฮอร์โมนเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่เพื่อการผสมเทียม
