เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News เทคนิคเกษตร

กรมประมงแนะวิธีทำ “ปลาหยอง” จากปลาหมอคางดำ พัฒนาต่อยอดเป็น “ผงโรยข้าว” และ “น้ำพริกปลาคั่วสมุนไพร” ทำกินได้ ทำขายรวย

วิกฤตการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ลูกสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลาที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ถูกกินไปจำนวนมาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง และนำปลาที่จับมาไปใช้ประโยชน์ทั้งในภาคครัวเรือน เช่น การทำน้ำหมักชีวภาพ การทำน้ำปลาร้า การทำปลาป่น ฯลฯ

ล่าสุด กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ (กอส.) กรมประมงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากเนื้อของปลาหมอคางดำ ได้แก่ ปลาหยอง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนสูงและสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน รวมถึงยังสามารถพัฒนาต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ได้ เช่น น้ำพริกปลาคั่วสมุนไพร และผงโรยข้าว

ขั้นตอนการทำปลาหยอง

การทำปลาหยอง เริ่มต้นจากนำปลาหมอคางดำมาลอกหนังออก และล้างเนื้อปลาด้วยน้ำเกลือ เพื่อกำจัดไขมัน เลือด และกลิ่นคาว และนำไปนึ่งให้สุก ยีเนื้อปลาให้แยกเป็นฝอย ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ และน้ำตาลทราย คั่วด้วยไฟอ่อนจนแห้ง และนำไปอบให้แห้งด้วยตู้อบ ที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 1 ชั่วโมง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีกลิ่นหอมของเนื้อปลาและซีอิ๊ว ทิ้งไว้ให้เย็นบรรจุลงภาชนะแบบมีฝาปิด

เนื้อปลาหมอคางดำ
ปลาหยอง

นอกจากนั้น ยังสามารถนำผลิตภัณฑ์ปลาหยองไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ “น้ำพริกปลาคั่วสมุนไพร” โดยเติมวัตถุดิบ กระเทียม หอมแดง ใบมะกรูดหั่นฝอย คั่วจนมีกลิ่นหอม พร้อมรับประทาน และยังมีเมนูยอดนิยมสไตล์ญี่ปุ่น เช่น “ผงโรยข้าว” โดยใช้ปลาหยองหมอคางดำแทนเนื้อปลาแห้ง ผสมกับสาหร่าย งาขาว งาดำ ปรุงรส ตามต้องการ ซึ่งทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์แปรรูปข้างต้น สามารถทำเพื่อบริโภคได้ในครัวเรือน หรือเพื่อจำหน่าย สร้างรายได้เสริมให้แก่ครัวเรือนและชุมชนต่อไป

ผงโรยข้าว

ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจ สามารถเข้าถึงวิธีการแปรรูปและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากปลาหมอคางดำของกรมประมงได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ https://www4.fisheries.go.th/industry และ Facebook Page : กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง ในรูปแบบ E-book และ Infographic รวมทั้งสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมผ่านช่องทางโทรศัพท์ โทร. 02-940-6130-45 ต่อ 4320 และ 4321

Related Posts